วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2564 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษาและประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์และนโยบาย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมการเปิดเรียนอย่างปลอดภัยด้วยการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ พร้อมมอบนโยบายแก่ผู้บริหารและคณะครูโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย เชียงราย
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างมาก โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เด็กมีความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ดังจะเห็นได้จากที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ระยะเวลา 10 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2573) วงเงิน 9,619 ล้านบาท รวมไปถึงการสนับสนุนที่จะให้เพิ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยในเขตพื้นที่การศึกษา 6 แห่ง จากเดิมมีอยู่ 12 แห่ง รวมเป็นจำนวน 18 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งการดำเนินงานของกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยในช่วงที่ผ่านมานั้น พบว่าได้ผลดีเป็นอย่างยิ่ง มีเป้าหมายที่ชัดเจนและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะด้านการเตรียมความพร้อมกำลังคนระดับสูงทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์ (STEM) เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มผู้ลงทุนจากประเทศต่างๆ ที่จะเข้ามาลงทุนในโครงการ Eastern Economic Corridor (EEC) และโครงการอื่น ๆ ของประเทศ
โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีศักยภาพสูงทางด้านคณิศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จึงอยากให้ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปยังโรงเรียนต่าง ๆ โดยใช้โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยเป็นฐาน หรือศูนย์กลางในการพัฒนายกระดับคุณภาพการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนได้มีโอกาสในการเรียนรู้และใช้ชีวิตอย่างมี STI (Science Technology & Innovation) ต่อไป
สำหรับการจัดการศึกษาของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยเชียงรายนั้น ได้ดำเนินการเปิดการเรียนการสอนแบบ onsite ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 โดยมีการจัดการเรียนการสอนแบบ hybrid ทั้ง onsite สำหรับนักเรียนที่แจ้งความประสงค์และได้รับการอนุญาตจากผู้ปกครองในการเข้ามาเรียนที่โรงเรียน และ Online สำหรับนักเรียนที่แจ้งความประสงค์ในการเรียนที่บ้าน ในส่วนของการได้รับวัคซีนของครูและบุคลากรนั้น ก็ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว 99 % และนักเรียนได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว 100%
“ขอชื่นชมทางโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยเชียงรายเป็นอย่างมาก ที่ได้ดำเนินการเปิดโรงเรียนแบบ Onsite ตามมาตรการของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด สามารถจัดการเรียนการสอนอย่างปลอดภัย ขณะเดียวกันสามารถสอนเด็กให้มีความรู้ ความสามารถเทียบเท่าระดับนานาชาติได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งอยากจะฝากเพิ่มว่าเรามีเด็กเก่งแล้ว มีครูที่เก่งแล้ว เราจะต้องสอดแทรกเรื่อง Coding เรื่อง STI รวมถึงเรื่องคุณธรรมเข้าไปด้วย เพื่อให้เขานำไปต่อยอดใช้ในการดำเนินชีวิต เป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไปในอนาคต” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
ทั้งนี้ กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย การพัฒนานักเรียน ครู ผู้บริหารด้านการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ โดยการสนับสนุนทุนการศึกษาจากสถานเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทยในการไปศึกษาต่อในหลักสูตรพัฒนาภาษาอังกฤษในหลักสูตรระยะสั้น สำหรับนักเรียน การสนับสนุนความร่วมมือกับหน่วยงานทางการศึกษาและมหาวิทยาลัยของประเทศนิวซีแลนด์ รวมถึงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยโอตาโก ประเทศนิวซีแลนด์ นักเรียนและครูกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ได้รับการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้นักเรียนมีศักยภาพด้านภาษาอังกฤษเพื่อการศึกษาต่อและให้ครูมีศักยภาพด้านการสอนภาษาอังกฤษ
ต่อมา ในช่วงบ่าย รมช.ศึกษาธิการ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดเชียงราย
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวแสดงความขอบคุณโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ทั่วประเทศ ผู้บริหาร ครู บุคลากร ที่เสียสละและทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ดูแลเด็กพิการด้วยหัวใจที่ช่วยกันทำให้เด็กด้อยโอกาส กลายเป็นเด็กได้โอกาสพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การศึกษาไทยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ครูหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทุรกันดารทำงานยากลำบากเป็นพิเศษ ควรได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังได้ออกประกาศ สถานที่ตั้งศูนย์การศึกษาพิเศษเขตการศึกษา จำนวน 13 ศูนย์ และศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัด จำนวน 64 ศูนย์ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ถูกต้องเป็นปัจจุบัน เพื่อความสะดวกในการติดต่อสื่อสารและให้บริการการศึกษาพิเศษ และสามารถสนับสนุนด้านใดเพิ่มเติมได้ ศธ. พร้อมรับไว้พิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป
โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ ยังได้เดินทางไปเยี่ยมบ้านของนักเรียนศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดเชียงราย เพื่อมอบเครื่องใช้ประจำวัน และเป็นกำลังใจแก่นักเรียนและครอบครัวอีกด้วย
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: สรุป/ถ่ายภาพ
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.: รายงาน
27/11/2564