ครม.อนุมัติความร่วมมือกับเยอรมนี

จังหวัดฉะเชิงเทรา สรุปการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ ๒/๒๕๕๖ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๖ ที่อาคารราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ คือ อนุมัติบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการศึกษาทวิภาคีไทยเยอรมันสู่ความเป็นเลิศ



  • อนุมัติบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการศึกษาทวิภาคีไทยเยอรมันสู่ความเป็นเลิศ


ครม.มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ ดังนี้


. อนุมัติการจัดทำและลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการศึกษาทวิภาคีไทยเยอรมันสู่ความเป็นเลิศ ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ทั้งนี้ หากก่อนลงนามมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขบันทึกความเข้าใจฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญ ให้กระทรวงศึกษาธิการหารือกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อพิจารณาดำเนินการในเรื่องนั้นๆ แทน ครม.โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง


. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยการศึกษาทวิภาคีไทยเยอรมันสู่ความเป็นเลิศระหว่างกระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี


สาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยการศึกษาทวิภาคีไทยเยอรมันสู่ความเป็นเลิศระหว่างกระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเป็นกรอบความร่วมมือที่ประเทศไทยและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันในการพัฒนาการศึกษาทวิภาคีของไทย โดยใช้ระบบการศึกษาวิชาชีพของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีที่มีชื่อเสียงเข้ามาช่วยสร้างแรงกระตุ้นให้แก่ระบบการอาชีวศึกษาที่มีอยู่ของไทย โดยในระยะแรกบริษัทเอกชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทเยอรมนี อาทิ บริษัทบีเอ็มดับเบิลยู (BMW) บริษัทบ๊อช (Bosch) และบริษัท บีกริม (B.Grimm) จะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ในการจัดหลักสูตรการอาชีวศึกษาขึ้นภายในวิทยาลัยอาชีวศึกษาของไทยที่ได้รับคัดเลือก โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของกรอบหลักสูตรที่เกิดจากการประสานร่วมกันเป็นอย่างดีของทั้งสองฝ่าย โดยนักเรียนอาชีวศึกษาจะได้มีโอกาสในการศึกษาในวิทยาลัยและฝึกปฏิบัติในบริษัทอย่างสมดุล และมีการจัดทำรูปแบบ ของสัญญา (ค่าตอบแทนและทุนการศึกษา) ในระหว่างการฝึกปฏิบัติงานด้วย


ศธ.พิจารณาแล้ว เห็นว่าบันทึกความเข้าใจดังกล่าว เป็นกรอบความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการของไทยและกระทรวงการต่างประเทศของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และมีสาระสำคัญเป็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษา ไม่เป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือขอบเขตอำนาจอธิปไตยของไทย หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงหรือเศรษฐกิจของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น กรอบความร่วมมือดังกล่าว จึงไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา ๑๙๐ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ..๒๕๕๐ ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งบันทึกความเข้าใจดังกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ


บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
1/04/2556