เมื่อวันศุกร์ที่ 10 กันยายน 2564 10.30 น. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าวก้าวสู่ปีที่ 3 ครูกัลยา “เติม ต่อยอด ยั่งยืน”
ชูแนวทางเติมต่อยอดยั่งยืนพร้อมเร่งเดินหน้าและต่อยอด 7 นโยบายสำคัญเร่งด่วน (Quick Win 7+) โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัมนตรี, นายณรงค์ ดูดิง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์ ณ พิพิธภัณฑ์การศึกษาไทย กระทรวงศึกษาธิการ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้การปฏิรูปการศึกษาไทย ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ทั้งการปรับหลักสูตรการเรียนรู้ รูปแบบการเรียนการสอน และการวัดผล รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อให้การศึกษาเป็นไปตามรูปแบบที่เหมาะต่อสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะสถานการณ์การการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ที่ได้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อทุกภาคส่วน ไม่เว้นแม้แต่ภาคการศึกษา เพื่อให้เยาวชนไทยได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม และมีประสิทธิภาพสูงสุด
ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการได้ติดตามการทำงานของ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มาโดยตลอดได้เห็นถึงความตั้งใจและความมุ่งมั่นของคุณหญิง ที่จะขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาต่าง ๆ ให้สำเร็จลุล่วงจนมีผลงานปรากฏเด่นชัดอย่างเป็นรูปธรรม ต้องขอชื่นชมโดยเฉพาะนโยบาย Coding ที่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเรื่องนี้ท่านนายกรัฐมนตรีก็ได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนนโยบายนี้ เพราะเล็งเห็นว่าการเรียน Coding มีความสำคัญต่อเยาวชนเป็นอย่างมาก ตลอดจนการพลิกโฉมอาชีวะเกษตรด้วยโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำริ ซึ่งขับเคลื่อนผ่านวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) จนเกิดหลักสูตรนักบริหารจัดการน้ำฯ หรือ “ชลกร” รุ่นที่ 1 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกและหลักสูตรแรกในประเทศไทย ที่เปิดสอนเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ตั้งแต่ระดับ ปวส. จนทำให้มีจำนวนนักศึกษาสมัครเข้าเรียนอาชีวะเกษตรและเทคโนโลยีเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัวอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ไม่นับรวมนโยบายและโครงการอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษาอีกมากมายที่เกิดขึ้น อาทิ นโยบายการศึกษาพิเศษ, นโยบายการอ่านเขียนเรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย, โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ, การขับเคลื่อนโรงเรียนวิทยาศาสตร์ในกำกับ และโครงการ Project 14 ทำให้มั่นใจว่านักเรียนจะได้รับความรู้อย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพแม้จะเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ก็ตาม
“ต้องขอแสดงความยินดีและชื่นชมการทำงานของคุณหญิงกัลยาตลอด 2 ปีที่ผ่านมาซึ่งสามารถขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ ๆ ได้เป็นผลสำเร็จและเชื่อมั่นว่าการ “ก้าวสู่ปีที่ 3 ของครูกัลยา” ภายใต้แนวทาง“ เติมต่อยั่งยืน” จะสามารถเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายที่เป็นประโยชน์เพื่อเป้าหมายสูงสุดในการปฏิรูปการศึกษาไทยได้อย่างแน่นอนขอให้กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพัฒนารูปแบบการศึกษาเพื่อให้เข้ากับการศึกษาวิถีใหม่” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายในปีที่ผ่านมา นับว่ามีความสำเร็จและมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก แม้จะเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ตาม ดังนั้นการบริหารราชการในกระทรวงศึกษาภายใต้การกำกับดูแลของตนเอง ในปีที่ 3 นับจากนี้จะยังมุ่งขับเคลื่อนนโยบายและเร่งเดินหน้ารวมถึงต่อยอดใน 7 โครงการสำคัญ (Quick Win 7+) ต่อเนื่องเพื่อสร้างนักเรียนคุณภาพ ซึ่งประกอบไปด้วย
1.โครงการ Coding For All คนไทยต้องได้เรียน Coding กระทรวงศึกษาธิการจะสร้าง Coding Community ขยายผลขับเคลื่อนทุกภาคส่วน เพื่อกระจายการเรียนรู้ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มทุกอาชีพและทุกช่วงวัย
2.โครงการส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำริ ขยายผลสู่ชุมชนสร้างความมั่นคงทางการเกษตร โดยปัจจุบันได้เปิดสอนหลักสูตร “ชลกร” รุ่นที่ 1 แล้ว เพื่อปั้นนักบริหารจัดการน้ำในชุมชน โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ การช่วยเหลือเกษตรกรให้มีน้ำกิน น้ำใช้ แก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน โดยเชื่อว่าอาชีวะเกษตร จะสร้างชาติด้วยชลกรที่จะเข้ามาเปลี่ยนประเทศไทย
3.โครงการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ แนวสร้างสรรค์ผ่านสื่อร่วมสมัย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย การอ่านการเขียนเรียนประวัติศาสตร์ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยจะเพิ่มปฏิสัมพันธ์เชิงวิพากษ์ ขยายผลการใช้สื่อสู่ห้องเรียนในรูปแบบหลากหลายช่องทาง ทั้งแพลตฟอร์ม ออนไลน์ และออฟไลน์ เช่น การขยายบน Facebook, Youtube, Page website, OBEC Center เป็นต้น
4.โครงการสร้างมิติใหม่การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ผสานศาสตร์และศิลป์เปลี่ยน STEM เป็น STEAM วิทยาศาสตร์พลังสิบ ลดความเหลื่อมล้ำสร้าง Citizen Science ให้เกิดขึ้นเป็นการขยายโอกาสให้นักเรียนได้เรียนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อย่างกว้างขวาง โดยจะเน้นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการปฏิบัติประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน
5.โครงการการศึกษาที่เท่าเทียม สร้างโอกาสให้เด็กด้อยโอกาส และพิการพัฒนาทักษะชีวิตผ่านการเรียนรู้การศึกษาไทย จะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาส ผ่านการเรียนการสอนในรูปแบบที่หลากหลาย และมีคุณภาพเน้นการปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน และภูมิปัญญาเฉพาะถิ่นในสังคม และชุมชนนั้น ๆ จนสามารถนำไปประกอบอาชีพ เพื่อดำเนินชีวิตในปัจจุบัน และอนาคตได้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะอยู่บนฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมเกษตรกรรม (STIA)
6.โครงการอาชีวะฐานวิทย์ สร้างวิชาชีพคนไทยรุ่นใหม่ทป้อนคนสู่ภาคอุตสาหกรรมตอบรับโลกดิจิทัล เป็นการพลิกโฉมการเรียนอาชีวศึกษาแนวใหม่ ด้วยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ สร้างเด็กสายอาชีพ ให้กลายเป็นนวัตกรยกระดับการเรียนในสายอาชีวศึกษา ให้สอดคล้องกับโลกดิจิทัล
7.โครงการยกระดับการศึกษารอบด้าน เปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน ปรับการประเมินผล เพื่อให้เป็นไปตามรูปแบบที่เหมาะในศตวรรษที่ 21 และสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งได้มีการปฏิรูปทั้งตัวผู้สอน คือ ครู และรูปแบบการเรียนการสอน
“ขอขอบคุณท่านรองนายกรัฐมนตรีที่กรุณาส่งกำลังใจมาให้ และสนับสนุนการทำงานมาโดยตลอด ทั้งนี้การก้าวสู่ปีที่ 3 ในการทำงานยังมีความท้าทายรออยู่อีกมากมาย เราทุกคนต้องช่วยกัน เพื่อเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติในทุกๆมิติดิฉันจะทำสิ่งที่ทำอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไปอย่างต่อเนื่องและเห็นเป็นรูปธรรมเป็นการเติมต่อยอดและยั่งยืน” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: สรุป/ถ่ายภาพ
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.: รายงาน
10/9/2564