การศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมทางวิชาการ Education for Sustainable Development (ESD) International Forum 2017 “การศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนกับการพัฒนาครูและการเรียนรู้” เรื่อง “Professional and Learning Development For ESD” เมื่อวันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2560 ณ ห้องประชุมบุณยเกตุ ชั้น 1 อาคารหอประชุมคุรุสภา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา โดยมี ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา ให้การต้อนรับและกล่าวรายงาน

ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า จากการที่พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 กำหนดให้คุรุสภามีหน้าที่ในการสนับสนุน ส่งเสริมพัฒนาวิชาชีพ ให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ และในฐานะเป็นตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาของประเทศไทย

จึงได้จัดการประชุมในครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างประเทศ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาให้มีทักษะและประสบการณ์ สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีศักยภาพและประสิทธิภาพสูงสุด และสร้างความเข้มแข็งในวิชาชีพ อีกทั้งเป็นการยกระดับวิชาชีพทางการศึกษาให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง เป็นที่ยอมรับของสังคมและสากลด้วย

โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันคุรุพัฒนา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ Shizuoka University ประเทศญี่ปุ่น ในการจัดกิจกรรมที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในรูปแบบของการเสวนาในประเด็นต่างๆ เช่น “ESD in Thailand and Global” “ESD and Teacher Professional Development” และ “ESD and Teacher Professional Development” และ “ESD in Practice” โดยมีผู้เข้าร่วม อาทิ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้านนโยบายความร่วมมือต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ผู้แทนจากยูเนสโก นักวิชาการ นักศึกษา และคณาจารย์จาก Shizuoka University และครูนักปฏิบัติจริงในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น


ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ดังที่ทราบกันดีแล้วว่า ปัจจุบันกระแสการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ของโลก มีการส่งผ่านข้อมูลและเชื่อมต่อกันอย่างรวดเร็ว จึงส่งผลต่อการกำหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การสร้างความมั่นคงและการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น

นอกจากนี้ “ศาสตร์พระราชา” แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงให้ความสำคัญด้านการพัฒนาคนด้วยการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยทรงพัฒนาด้านการศึกษาทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง แม้แต่ผู้ด้อยโอกาสและพื้นที่ห่างไกลจากการคมนาคม โดยการพระราชทานพระราชทรัพย์ ร่วมสร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อสอนหนังสือให้แก่พี่น้องประชาชนเหล่านั้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย และเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกรชาวไทย

สิ่งสำคัญที่พระองค์ทรงปฏิบัติให้เราได้เห็น คือ เรื่องการรับฟัง การสัมผัส เห็นแล้ว คิด วิเคราะห์ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติหรือแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นหัวใจของการจัดการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ (Active learning) เป็นวิธีจัดการเรียนการสอนให้เด็กได้เรียนโดยลงมือทำ ได้คิดได้สร้างสรรค์ในกระบวนการคิดของตัวเอง

ทั้งนี้ การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal ; SDGs) ในประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นทิศทางร่วมกันของคนไทยในอนาคต หรือในอีก 15 ปีข้างหน้า ที่มุ่งเน้นการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพพลเมืองให้มีคุณภาพ ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศทุกด้านในระยะยาว การศึกษาและการเรียนรู้จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมาย โดย “ให้ทุกคนมีการศึกษาอย่างมีคุณภาพ อย่างทั่วถึง อย่างเท่าเทียม และทุกช่วงวัย”

สำหรับการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การศึกษา เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กับการพัฒนาครูและการเรียนรู้ระหว่างประเทศไทยและนานาประเทศในวันนี้ จึงเป็นอีกยุทธศาสตร์หนึ่งในการขับเคลื่อนการศึกษาการพัฒนาครูและการเรียนรู้ในยุคใหม่ โดยมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ วัฒนธรรมร่วมกัน เพื่อให้เกิดแนวคิดที่สร้างสรรค์ รวมทั้งประเทศไทยสามารถรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก เพื่อให้การศึกษาของประเทศไทยเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพ อีกทั้งเป็นการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพที่ได้รับการยอมรับจากสังคมและนานาชาติ



สุกัญญา: สรุป
บัลลังก์ โรหิตเสถียร: เรียบเรียง/กราฟิก
PHOTO CREDIT: กิตติกร แซ่หมู่, ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี
กลุ่มสารนิเทศ สป. และกลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.: รายงาน
20/11/2560