รมช.ศธ.
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ดำเนินการปฏิรูปและพัฒนาการศึกษาตามนโยบายของรัฐบาลตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีหลายสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยมุ่งเน้นการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและยั่งยืน ส่งเสริมให้เด็กมีงานทำหลังสำเร็จการศึกษา ทั้งนี้ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ต้องร่วมมือกันวางแผนให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน สามารถแข่งขันกับเวทีโลกได้
เมื่อเดือนมกราคม 2559 ประเทศไทยได้เข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการ กระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมความพร้อมในทุกด้าน ด้วยการวางยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา กำหนดกลยุทธ์และวิธีดำเนินการต่าง ๆ ซึ่งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีความเชื่อมโยงกับการจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดชายแดนตามที่รัฐบาลได้ประกาศจัดตั้งจำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ตาก สงขลา นราธิวาส มุกดาหาร นครพนม หนองคาย สระแก้ว ตราด และกาญจนบุรี
กระทรวงศึกษาธิการจึงมีแนวทางในการปรับปรุงแผนการศึกษาให้สอดคล้องและรองรับกับความต้องการของการพัฒนาตามบริบทของแต่ละพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยมุ่งเน้นผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน พร้อมทั้งสร้างทักษะทางวิชาชีพ ด้วยการบูรณาการแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) และแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2574
นอกจากนี้ ในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาในการ
-
คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด สามารถนำผลการศึกษาวิจัยในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษไปใช้ในการจัดทำแผนการศึกษาตามยุทธศาสตร์และบริบทของแต่ละจังหวัดได้
-
สถานศึกษาในทุกระดับมีหลักสูตรการศึกษาตามบริบทของพื้นที่ รวมทั้งสามารถเปิดสอนเพิ่มเติมในสาขาที่เป็นความต้องการของตลาด ส่งผลให้เกิดการพัฒนาอาชีพได้ตรงตามความต้องการของพื้นที่
-
มีงานวิจัยที่พัฒนาความรู้ทางธุรกิจที่เหมาะสมกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ครอบคลุมการตลาด-การขาย, การเงิน-การบัญชี, และการพัฒนาคน-องค์กร ที่จะนำมาพัฒนาหลักสูตรการศึกษาต่อไป
-
ในระดับกระทรวง มีแนวทางการพัฒนาโดยจะดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการบูรณาการการจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และจัดตั้งศูนย์ประสานงานระดับกระทรวง เพื่อดำเนินงาน อำนวยการ และประสานงาน
-
หลักสูตรการเรียนการสอนมีจำนวนชั่วโมงเรียนด้านการบริหารธุรกิจและการประกอบการน้อยมาก หากเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแล้ว ต้องเพิ่มจำนวนชั่วโมงที่สอนด้านการบริหารและการประกอบการมากขึ้น เพื่อทำให้เยาวชนในพื้นที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพในแนวทางที่ดีขึ้น อีกทั้งผู้บริหารสถานศึกษาและครูสามารถนำผลการวิจัยไปใช้ในการวางแผนการศึกษาได้
ทั้งนี้ ในอนาคตมีแนวทางที่จะจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมด้านการขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ และเป็นพื้นที่ที่สามารถเชื่อมต่อกับกรุงเทพมหานครได้ โดยคาดว่าจะมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การค้า การท่องเที่ยว ฯลฯ ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
12/10/2559