การศึกษาของชาติ…

          เฉลิมพล พลมุข
          คุณภาพชีวิตของพลเมืองในชาติบ้านเมืองใดที่มีความเจริญทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม    การเมืองรวมถึงด้านอื่นๆ ในภาพรวมย่อมส่งผลให้ชื่อเสียงภาพลักษณ์ของประเทศนั้นมีชื่อเสียงไปก้องโลกอย่างปฏิเสธมิได้ก็เนื่องมาจากระบบการศึกษาหรือการเรียนการสอนที่มีคุณภาพไปด้วยเช่นกัน
          เมืองไทยเราได้ชื่อว่ารัฐบาลเกือบทุกรัฐบาลได้ให้ความสำคัญทั้งงบประมาณมากมหาศาลเป็นลำดับต้นๆ จากทุกกระทรวงขณะเดียวกันก็มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการบ่อยที่สุดไปด้วย ปัญหาการบริหารการศึกษาในสังคมไทยเรายังคงพบสภาพปัญหาที่หลากหลาย ผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการรวมถึงรัฐบาลที่รับผิดชอบอยู่ในขณะนี้ก็รับทราบปัญหาส่วนหนึ่งเป็นอย่างดี
          นิตยสารไทม์ส ไฮเออร์ เอ็ดดูเคชั่น ของประเทศอังกฤษได้มีการอ้างอิงข้อมูลจากสำนักข่าวรอยเตอร์ ได้มีการจัดลำดับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเอเชียประจำปี พ.ศ.2561 โดยมีการวัดจากด้านต่างๆ อาทิ คุณภาพการสอน ผลงานวิจัย การถูกนำไปอ้างอิงและทัศนคติของต่างชาติ มีมหาวิทยาลัยในเอเชียได้รับการจัดอันดับ 359 แห่ง มหาวิทยาลัยในเมืองไทยเราติดอันดับ 10 แห่ง (ไทยรัฐ 9 กุมภาพันธ์ 2561 หน้า 6)
          มหาวิทยาลัยที่ได้ถูกจัดลำดับเป็นที่ต้นๆ ของภูมิภาคเอเชีย อันดับที่ 1 มาเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกันก็คือ มหาวิทยาลัยสิงคโปร์ ลำดับที่ 2 มหาวิทยาลัยซิงหัว ลำดับที่ 3 มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ของประเทศจีน ลำดับที่ 4 มหาวิทยาลัยฮ่องกง ลำดับที่ 5 มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง ลำดับที่ 6 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางของประเทศสิงคโปร์
          ลำดับที่ 7 มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง ลำดับที่ 8 มหาวิทยาลัยโตเกียวของประเทศญี่ปุ่น ลำดับที่ 9 มหาวิทยาลัยแห่งชาติ กรุงโซลประเทศเกาหลีใต้ ลำดับที่ 10 สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูงแห่งเกาหลีของ เกาหลีใต้ ประเทศญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีมหาวิทยาลัยติดอันดับมากที่สุดทั้งหมด 89 แห่ง และประเทศจีน มีมหาวิทยาลัยติดอันดับ63 แห่ง และประเทศมาเลเซียใกล้บ้านเรามีมหาวิทยาลัยมาลายา ได้ติดใน 50 อันดับต้นๆ เป็นครั้งแรก…
          สำหรับประเทศไทยเรา มีมหาวิทยาลัยถูกปรับลดอันดับหลายแห่งอาทิ มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่ในลำดับที่ 97 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเคยอยู่ในช่วงอันดับ 101-110 ถูกปรับอยู่ในลำดับ 114 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคยอยู่ในช่วงอันดับ 151-160 ถูกปรับเป็นลำดับที่ 164 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เคยอยู่ในช่วงลำดับ 171-180 ถูกปรับเป็นลำดับที่ 201-250 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเคยอยู่ในลำดับที่ 191-200 ถูกปรับให้อยู่ในลำดับที่ 168 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เคยอยู่ในลำดับที่ 171-180 ถูกปรับในลำดับที่ 201-250 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเคยอยู่ลำดับที่ 181-190 ถูกปรับในลำดับที่ 201-250 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อยู่ในลำดับที่ 251-300 มหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เคยอยู่ในลำดับที่ 201-250 ถูกปรับให้อยู่ลำดับที่ 251-300 และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเคยอยู่ในลำดับที่ 251 ถูกปรับให้อยู่ในลำดับที่ 301-350
          เราท่านทั้งหลายได้เห็นการจัดลำดับของแต่ละมหาวิทยาลัยทั้งในเอเชียและในเมืองไทยเรา อาจจะมีบางคำถามสำหรับผู้บริหารการศึกษาในระดับอุดมศึกษาตลอดถึงรัฐมนตรีของกระทรวงศึกษาธิการที่ว่า ยังมีบางมหาวิทยาลัยที่มิได้มีรายชื่อติดในลำดับดังกล่าวอาทิ มหาวิทยาลัยของรัฐที่กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยที่ทำการสอนแพทย์-พยาบาลเป็นการเฉพาะด้าน มหาวิทยาลัยเอกชน มหาวิทยาลัยราชภัฏและ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลที่กระจายอยู่ทั่วเมืองไทย และสถาบันการศึกษาที่เปิดการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยดังกล่าวมิได้มีรายชื่อติดอยู่ในการจัดลำดับ ข้อสงสัยหรือคำถามก็คือมีการสำรวจหรือมีการจัดเก็บข้อมูลในการจัดลำดับครบถ้วนดีแล้วหรือไม่…
          ในโลกของเรานี้โดยเฉพาะแวดวงการจัดลำดับมหาวิทยาลัยเชื่อว่า มหาวิทยาลัยนาลันทาเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลกมีการสร้างและเปิดการเรียนการสอนในระหว่างปี พ.ศ.958-998 โดยกษัตริย์ราชวงศ์คุปตะ พระนามว่า ศักราทิตย์ ซึ่งหลวงจีนฟาเยนได้จารึกจากประเทศจีนเข้าไปศึกษาในมหาวิทยาลัยดังกล่าว ในสมัยนั้นมีการเรียนปรัชญา ตรรกศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ นิติศาสตร์ รวมถึงโหราศาสตร์และไสยศาสตร์
          ความเชื่อส่วนหนึ่งก็มีความเชื่อว่า มหาวิทยาลัยซาเลอร์โน (Salerno) ที่ก่อตั้งขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 9 ในประเทศอิตาลีก็ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยในลำดับแรกๆ ของโลกเช่นกันมีการสอนทั้ง แพทยศาสตร์ นิติศาสตร์ เทววิทยา สำหรับประเทศไทยเราได้มีการตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัย ในรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่ ร.ศ.112 หลังจากนั้นก็มีโรงเรียนแพทยาลัย มีหลักสูตรธรรมศาสตร์บัณฑิต มีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองในสมัยนายปรีดี พนมยงค์
          ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยกขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2459 พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ซึ่งถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยอย่างเต็มรูปแบบแห่งแรกของสยามประเทศหรือเมืองไทยเราในปัจจุบัน…
          ผู้บริหารชาติบ้านเมืองของสังคมไทยในเวลานี้หลายคนจบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยของเมืองไทยเราและจบการศึกษาจากต่างประเทศมิอาจจะนับรวมหัวหน้า คสช.หรือนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (รร.จปร.) ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาทางทหาร และมีมหาวิทยาลัย วิทยาลัย สถาบันการศึกษาที่ได้เปิดทำการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาอยู่ทั่วเมืองไทยเรา
          การศึกษาในระดับปริญญาหรือระดับมหา วิทยาลัยในสังคมไทยเป็นที่นิยมกันในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาไม่นานนัก ครอบครัวของคนไทยส่วนหนึ่งยังมีความยากจน มีสภาพปัญหาของระบบเศรษฐกิจหากครอบครัวใดมีกำลังฐานะทางด้านเศรษฐกิจดีก็จะส่งบุตรหลานเพื่อให้ได้รับการศึกษาในระดับสูงในค่านิยมที่เรียกว่า เป็นเจ้าคนนายคน หรืออาจจะส่งบุตรหลานเข้าศึกษาเล่าเรียนในวัด ที่มีพระสงฆ์เป็นผู้บริหารจัดการศึกษาที่มีชื่อเรียกมาในปัจจุบันก็คือ มหาวิทยาลัยสงฆ์ ศิษย์เก่าของสถาบันดังกล่าวหลายคนก็เข้าไปเป็นข้าราชการในกระทรวง กรม กองต่างๆ อยู่ทั่วเมืองไทย ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็เปิดโอกาสให้ฆราวาส หรือชาวต่างชาติหลากหลายชาติได้เข้าศึกษาเล่าเรียนจนกระทั่งถึงระดับปริญญาเอก…
          ข้อเท็จจริงหนึ่งที่เกิดขึ้นในแวดวงของการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยก็คือ จำนวนเด็ก หรือเยาวชนของเมืองไทยเราที่มีอัตราการเกิดอยู่ในระดับต่ำหรือมีการเกิดลดน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญทุกๆ ปี เด็กเยาวชนไทยส่วนหนึ่งได้ไปศึกษาเล่าเรียนยังต่างประเทศ มีส่วนหนึ่งอยู่นอกระบบการศึกษา ส่วนหนึ่งก็ถูกจองจำในทัณฑสถานหรือสถานพินิจอยู่ทั่วประเทศ จำนวนตัวเลขที่ได้เข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนย่อมมีตัวเลขน้อยลงไปด้วย
          ตัวเลขหนึ่งที่ถูกนำเสนอถึงจำนวนนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยต่างๆ สามารถรับเข้าศึกษาเล่าเรียนในระดับปริญญาตรีได้ในรอบปีหนึ่งประมาณ 140,000 คน ขณะเดียวกันก็มียอมสมัครแอดมิสชั่นส์ในจำนวน 81,230 คน ยังขาดผู้เข้าเรียนอยู่ในจำนวนตัวเลขอีก 60,000 รายเศษ การที่เมืองไทยเรามีมหาวิทยาลัยในจำนวนมากกว่าผู้ที่ต้องการศึกษาเล่าเรียนซึ่งนำมาถึงระบบการบริหารจัดการงบประมาณ บุคลากรของมหาวิทยาลัย การแสวงหารายได้เพื่อให้มหาวิทยาลัยอยู่รอดจึงเป็นปัจจัยหนึ่งของการแข่งขัน จูงใจของผู้เข้าเรียนให้มาเรียนในสถาบันของตนเอง
          ค่านิยมของผู้เรียนและผู้ปกครองได้มองถึงระบบการศึกษาของบุตรหลานที่ว่าจบสาขาใด คณะใด มหาวิทยาลัยใดที่จะเข้าทำงานทั้งของรัฐ เอกชนได้ง่ายและมีค่าตอบแทนเงินเดือน ความก้าวหน้าในชีวิตได้ดีกว่า อาทิ ในขณะนี้สังคมไทยเราได้ขาดแคลนครูผู้สอนในโรงเรียนระดับประถม มัธยมศึกษาอยู่ทั่วเมืองไทยเป็นจำนวนมาก เราท่านจะสังเกตได้ง่ายในช่วงที่มีการรับสมัครเพื่อสอบบรรจุเป็นข้าราชการจะมีผู้มาสมัครเป็นจำนวนมากทั้งจากสาขาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เคมี ชีวะ ปฐมวัย ประถมศึกษา และเอกสาขาอื่นที่สถานศึกษาของรัฐต้องการในจำนวนตัวเลขที่ขาดแคลนอยู่ทั่วเมืองไทย
          บัณฑิตส่วนหนึ่งที่จบการศึกษาระดับปริญญาในสังคมไทยเราตกงาน หรือเลือกงานที่ถูกกับจริตของตนเอง หรือบางคนอาจจะต้องการหน้าที่การงานที่สบาย ความรับผิดชอบน้อยแต่ขณะเดียวกันก็ต้องการเงินเดือนหรือผลตอบแทนมาก นายจ้างบริษัทองค์กรต่างๆ บางแห่งต้องปรับการรับเขาเหล่านั้นเข้าทำงาน อาทิ ถึงแม้ว่าจะจบการศึกษาระดับปริญญา
          แต่มีการจ้างในค่าตอบแทนที่ต่ำกว่าระดับปริญญา หลายคนก็ยอมจำต้องทำเพื่อการอยู่รอดของตนเองและครอบครัว ขณะเดียวกันก็มีคำถามที่หลากหลายจากนายจ้างหรือผู้ประกอบการที่ว่า ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาหลายคนมีความรู้ ความสามารถ ทักษะในการทำงาน ความอดทน ขยัน ซื่อสัตย์สุจริต ทุ่มเทหน้าที่การงานที่รับผิดชอบให้กับหน่วยงานที่ตนเข้าไปทำงานเป็นอย่างดีหรือไม่…
          แรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในระบบต่างๆ ของสังคมไทยในขณะนี้เป็นข้อเท็จจริงหนึ่งที่เราท่านทั้งหลายรับทราบเป็นอย่างดีนั่นก็คือ ความขยันหมั่นเพียร การรู้จักเก็บรู้จักกิน รู้จักเรียนรู้ในระบบงาน บางคนสามารถพูดอ่านเขียนภาษาไทยและภาษาที่สองได้เป็นอย่างดี ชาวต่างชาติบางคนเป็นเจ้าของผู้ประกอบการ
          มีคนไทยเป็นลูกน้องหรือเป็นพนักงานในบริษัท ในรอบปีหนึ่งแรงงานต่างชาติเหล่านั้นไปส่งเงินกลับไปยังประเทศของตนเป็นจำนวนเงินที่มหาศาล
          รัฐบาล คสช.ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาการค้ามนุษย์โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยในภาพรวม อาทิ การก่อสร้าง ชาวประมง เกษตรกร ยังมีชาวต่างชาติส่วนหนึ่งที่เป็นเจ้าของผู้ประกอบการเจ้าของบริษัทข้ามชาติ ที่มีคนไทยเป็นลูกจ้างหรือเป็นพนักงานในบริษัท มิอาจจะรวมไปถึงที่หน่วยงานภาครัฐเข้าไปจับกุมแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาขายบริการทางเพศที่สื่อได้นำเสนอไปในเร็ววันที่ผ่านมานี้
          มาวันนี้ผู้บริหารชาติบ้านเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับระบบการศึกษาในภาพรวมได้ตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกไม่นานนักทั้งจำนวนผู้เข้าเรียน การปิดกิจการสาขา คณะในมหาวิทยาลัย ท่ามกลางการแข่งขันเพื่อความอยู่รอดของสังคมวัตถุนิยม บริโภคนิยม เงินนิยม ค่านิยมบางอย่างที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงสภาพปัญหาอื่นทั้งที่มองเห็นด้วยสายตาและมิอาจเห็นด้วยวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล เขาเหล่านั้นได้ตระหนักอย่างแท้จริงหรือไม่…
          –จบ–
          –มติชน ฉบับวันที่ 16 ก.พ. 2561 (กรอบบ่าย)–