"กระเบื้องยาง" ฝีมือเด็กมอ. เพิ่มมูลค่าเศษยางรถยนต์

“กระเบื้องยาง”ฝีมือเด็กมอ. เพิ่มมูลค่าเศษยางรถยนต์

การนำเศษยางที่เหลือใช้หรือยางรถยนต์ที่หมดสภาพการใช้งานมาเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กระเบื้องยางของนักศึกษาภาควิชาเทคโนโลยียางและโพลิเมอร์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี




กลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นผลงานนวัตกรรมใหม่ที่สามรถนำมาใช้งานได้จริงและยังมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป

อาจารย์ณัฐพงศ์นิธิอุทัย  อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยียางและโพลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานผลิตกระเบื้องยางย้อนที่มาของนวัตกรรมชิ้นนี้ โดยระบุว่าเริ่มต้นจากโรงงานแห่งหนึ่งมีความสนใจการผลิตกระเบื้องยางในเชิงธุรกิจ แต่ไม่มั่นใจในเรื่องคุณภาพ จากนั้นจึงเขียนโครงการเพื่อขอทุนจากสกว.เพื่อมาทำการวิจัยอย่างจริงจัง โดยใช้ยางรถยนต์ที่หมดสภาพหรือเศษยางที่เหลือใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตชิ้นงาน

“โครงการนี้ทำมาได้ 3 ปีแล้ว คุณภาพของชิ้นงานเราก็ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เมื่อปีที่แล้วเราได้ส่งงานชิ้นนี้เข้าประกวดในงานนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งก็ได้รางวัลชมเชย มาปีนี้ทางปตท.เคมิคอลจัดโครงการประกวดนวัตกรรมเพื่อสิ่งประดิษฐ์เพื่อสิ่งแวดล้อม เราก็ส่งผลงานเข้าประกวด ซึ่งก็เข้ารอบติด 1ใน 5 และจะมีการตัดสินกันในวันที่ 11 ธันวาคม ที่จะถึงนี้”

อาจารย์หัวหน้าโครงการคนเดิมเผยถึงข้อดีของกระเบื้องยางว่าปูง่ายน้ำหนักโครงสร้างเบาและยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง เนื่องจากราคาถูกกว่ามาก เมื่อเทียบกับกระเบื้องลอนคู่ นอกจากนี้ยังสามารถขึ้นรูปให้เป็นแบบต่าง ๆ ได้ตามที่ตนเองต้องการ ซึ่งกระเบื้องประเภทนี้จะเป็นที่นิยมกันมากในต่างประเทศ  

“อย่างเมืองนอกแถบยุโรป อเมริกา กระเบื้องยางเขาจะใช้กันอย่างแพร่หลายมาก แต่บ้านเรายังไม่มี ถ้าพูดถึงต้นทุนจะตกแผ่นละ 12 บาท ตารางเมตรอยู่ที่ประมาณ 30 แผ่น ขึ้นอยู่กับว่าเราจะนำไปใช้ประโยชน์อะไร แต่กระเบื้องยางที่เราทำจะเน้นการนำมาใช้ในการตกแต่งสวน ปูกำแพง หลังคาโรงจอดรถมากกว่าที่จะนำมาปูหลังคาบ้าน เนื่องจากมีเฉพาะสีดำดูไม่สวยงามไม่เหมือนกับกระเบื้องทั่วไปที่มีหลากหลายสี” อ.ณัฐพงศ์ให้ข้อมูล

ขณะที่ดร.วีระภัทร์ ตันตยาคม นักวิจัยอาวุโส หน่วยงานนวัตกรรมและเทคโนโลยี บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด กล่าวถึงชิ้นงานกระเบื้องยางว่า เป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ของนักศึกษาและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีได้คิดค้นขึ้นมาและผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ ติด 1 ใน 5 ที่เข้ารอบจากการส่งผลงานเข้าประกวดในโครงการประกวดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ทางปตท.เคมิคอล ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงทรัพยาการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดขึ้น 

“ของมอ.ดีมาก เพราะมองปัญหาใกล้ตัวในชุมชนที่ไม่ใด้ใช้ประโยชน์มาสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการนำยางรถยนต์ที่หมดสภาพหรือเศษยางรถที่ไม่ใช่แล้วมาทำเป็นกระเบื้องยาง  ซึ่งจะเป็นการช่วยลดมลพิษและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี” ดร.วีระภัทร์กล่าว

 กระเบื้องยาง ผลงานของนักศึกษาภาควิชาเทคโนโลยียางและโพลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นับเป็นวัตกรรมใหม่ที่นำเศษยางเหลือใช้มาสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อมวลมนุษยชาติ