Workshop พัฒนาการศึกษา จชต.

การพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2560 ที่สงขลา


จังหวัดสงขลา – พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 เมื่อวันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2559 ณ หอประชุมวิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความก้าวหน้ากรอบแนวคิดการจัดการศึกษา และการบูรณาการทำงานตามแผนปฏิบัติการการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีงบประมาณ พ.ศ.2560 โดยสรุปดังนี้

• รับทราบกรอบแนวคิดการจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศแนวนโยบายในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) โดยยึดหลักยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” พร้อมน้อมนำ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นแนวปฏิบัติในการจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม การเสริมสร้างเอกภาพ และการบูรณาการแผนงาน โครงการ และงบประมาณของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยได้กำหนดให้มีหน่วยงานเจ้าภาพรับผิดชอบกลุ่มภารกิจงานแยกออกเป็น 7 กลุ่ม คือ กระทรวงกลาโหม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กลุ่มการประเมินผล และกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งได้กำหนดแผนการแก้ไขปัญหาและพัฒนา จชต. มีภารกิจงาน 7 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มงานรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน, กลุ่มงานอำนวยการความยุติธรรมและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ, กลุ่มงานสร้างความเข้าใจทั้งในและต่างประเทศ เรื่องสิทธิมนุษยชน, กลุ่มงานการศึกษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม, กลุ่มงานพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่และคุณภาพชีวิตประชาชน, กลุ่มงานเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐและการขับเคลื่อนนโยบายฯ, กลุ่มงานแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี

ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดให้รับผิดชอบกลุ่มภารกิจงานที่ 4 : งานการศึกษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม โดยได้กำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์การดำเนินงาน ดังนี้

เป้าหมาย

1. สถาบันการศึกษากลุ่มเป้าหมายทั้งภาครัฐและเอกชน ได้รับการยกระดับคุณภาพตามนโยบายรัฐ

2. บุคลากรทางการศึกษาได้รับการพัฒนาให้มีมาตรฐานวิชาชีพ

3. นักเรียน และเยาวชน ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่องทั้งภายในและต่างประเทศ

4. เด็ก เยาวชน และประชาชนผู้อยู่นอกระบบการศึกษา ได้รับความรู้และเพิ่มทักษะอาชีพ

5. ประชาชนในพื้นที่สามารถดำเนินวิถีชีวิตตามประเพณี ศาสนา และวัฒนธรรมของชุมชนและท้องถิ่น

6. อัตลักษณ์ทางภาษา ศิลปะ วัฒนธรรม ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมมากขึ้น

7. การจัดการศึกษาในพื้นที่เป็นไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และเกิดสัมฤทธิผลตามมาตรฐานการศึกษา โดยมีการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง

กลยุทธ์การดำเนินงาน

1. ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาและสถานศึกษากลุ่มเสี่ยง

2. สร้างและขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียนและเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา

3. เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน สิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ปกครองส่งบุตรเข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐ

4. การสร้างเครือข่ายของโรงเรียนรัฐกับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม

5. ส่งเสริมและสนับสนุน ระบบนิเทศ ประเมิน และเฝ้าระวังคุณภาพการศึกษาในสถานศึกษาทุกประเภท

6. ส่งเสริม สนับสนุนการสร้างความเข้มแข็ง และการกระจายอำนาจให้กับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐ และสร้างความตระหนักของชุมชน เพื่อให้โรงเรียนเป็นของชุมชนอย่างแท้จริง

7. เร่งรัดพัฒนาคุณภาพครู บุคลากรทางการศึกษา และการจัดการศึกษาของโรงเรียนรัฐและโรงเรียนเอกชนให้มีมาตรฐานเทียบเท่าพื้นที่อื่น

8. พัฒนาการจัดการศึกษาของศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) สถาบันศึกษาปอเนาะ และการศึกษาตามอัธยาศัย ให้มีคุณภาพ และถูกต้องสอดคล้องตามหลักการศาสนา

9. เพิ่มภาษาในการประกอบอาชีพควบคู่ไปกับการจัดการศึกษา ทั้งในสถานศึกษาของรัฐและเอกชน

10. สร้างโอกาสทางการศึกษา และบูรณาการทุนการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการสอนเสริมในสาขาวิชาที่จำเป็นให้แก่นักเรียน นักศึกษา และเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในระดับการศึกษาต่าง ๆ ตลอดจนการจัดระบบเทียบโอนและรับรองคุณวุฒิการศึกษา รวมทั้งใบประกอบวิชาชีพผู้ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ และส่งเสริมให้มีบทบาทในการพัฒนาพื้นที่

11. สนับสนุนและส่งเสริมองค์กรทางศาสนาทุกศาสนา ให้มีความเข้มแข็ง และมีบทบาทในการทำนุบำรุงศาสนา เพื่อให้สถาบันทางศาสนาเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาจริยธรรมและแหล่งเรียนรู้ทางศาสนา รวมทั้งส่งเสริมและฟื้นฟูกิจการทางด้านศาสนาและวัฒนธรรมท้องถิ่น

12. ส่งเสริมและสนับสนุนอำนวยความสะดวก และแก้ปัญหาให้แก่คนไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปแสวงบุญตามหลักศาสนาต่าง ๆ ในต่างประเทศ เพื่อให้ได้เรียนรู้แก่นแท้ของหลักธรรม เพื่อกลับมาเป็นเครือข่ายในการทำนุบำรุงศาสนา

13. ส่งเสริมและสนับสนุนการฟื้นฟู อนุรักษ์ สืบสานอัตลักษณ์และกิจกรรมทางภาษา ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่

14. พัฒนา ส่งเสริม สนับสนุน และประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนออกกำลังกาย โดยการเล่นกีฬา กิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ รวมถึงการละเล่นพื้นบ้าน ตลอดจนพัฒนาและปรับปรุงสนามกีฬาในพื้นที่ ตำบล หมู่บ้าน ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่

15. ส่งเสริม สนับสนุน การอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

รับทราบความก้าวหน้าแผนปฏิบัติการการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2560

กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับจัดสรรงบประมาณในลักษณะบูรณาการตามแผนแก้ไขปัญหา จชต. ปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ตามแผนงาน 127 โครงการ จำนวน 2,700 ล้านบาท ในจุดเน้น 7 ด้าน ได้แก่

จุดเน้นที่ 1 การรักษาความปลอดภัย 3 โครงการ  งบประมาณ 218 ล้านบาท อาทิ โครงการรักษาความปลอดภัยครูและสถานศึกษา จ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย, โครงการพัฒนาบ้านพักครู, การพัฒนาเครือข่ายวิทยุสื่อสาร เป็นต้น

จุดเน้นที่ 2 การพัฒนาคุณภาพการศึกษา 36 โครงการ  งบประมาณ 313 ล้านบาท อาทิ การส่งเสริมพัฒนาโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้มีคุณภาพ, ยกระดับคุณภาพการศึกษาเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ในศตวรรษที่ 21, ส่งเสริมศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้, มหกรรมวิชาการชายแดนใต้, โรงเรียนภาษาอาเซียนชายแดนภาคใต้, สถาบันพัฒนาครูชายแดนใต้, การจัดตั้งห้องเรียนพิเศษโปรแกรม SMP ตามโครงการสถานศึกษา

จุดเน้นที่ 3 การเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษา 29 โครงการ  งบประมาณ 820 ล้านบาท อาทิ การพัฒนาประสิทธิภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้, ทุนการศึกษารายปีต่อเนื่องให้กับทายาทผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้, โครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้, ทุนการศึกษาภูมิทายาท, ทุนอุดหนุนเรียนสายอาชีพระดับ ปวช. ปวส., ทุนการศึกษาเพื่อเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  เป็นต้น

จุดเน้นที่ 4 การผลิตและพัฒนาคนให้สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่และการมีงานทำ 16 โครงการ  งบประมาณ 173 ล้านบาท อาทิ ฝึกอาชีพจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส, เติมปัญญาสร้างความรู้สู่สถาบันศึกษาปอเนาะ, การจัดการเรียนการสอนในศูนย์ฝึกอบรมวิชาชีพฯ ประจำอำเภอห่างไกล, เพิ่มโอกาสการมีงานทำ เป็นต้น

จุดเน้นที่ 5 การศึกษาเพื่อความมั่นคง 18 โครงการ  งบประมาณ 396 ล้านบาท อาทิ โครงการเสริมสร้างความเข้าใจในสถานศึกษาเอกชน, เสริมสร้างคุณภาพชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษาเอกชน, เยาวชนสานสัมพันธ์ลูกเสือ กศน.ชายแดนใต้, ส่งเสริมความสัมพันธ์โรงเรียนกับชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้, พัฒนาเด็กและเยาวชนในสังคมพหุวัฒนธรรมสู่ประชาคมอาเซียน เป็นต้น

จุดเน้นที่ 6 การสร้างการรับรู้ 9 โครงการ  งบประมาณ 43 ล้านบาท  อาทิ โครงการสัมมนานานาชาติอิสลามศึกษา, สถานีวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (Center  for  Conflict Studies and Diversity: CSCD), พลังชุมชนสื่อสารสันติภาพชายแดนใต้, กิจกรรมการสร้างการรับรู้พระราชกรณียกิจด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น

จุดเน้นที่ 7 การบริหารจัดการ 16 โครงการ  งบประมาณ 812 ล้านบาท อาทิ ติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายการศึกษาและแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ 2560, พัฒนาบุคลากรเพื่อการวางแผนการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้, พัฒนาโรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีศักยภาพในการจัดการศึกษา เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบูรณาการงบประมาณหลายประการ เช่น

  • การเบิกจ่ายงบประมาณปีงบประมาณ พ.ศ. 2560  ต้องดำเนินการตามเป้าหมายที่รัฐบาล โดยเบิกจ่ายงบประมาณในภาพรวมทุกหมวดรายจ่ายตลอดทั้งปีให้ได้ร้อยละ 96 โดยในไตรมาสแรกต้องเบิกจ่ายให้ได้ร้อยละ 30 ส่วนงบลงทุนมีเป้าหมายเบิกจ่ายทั้งปีร้อยละ 87

  • การบูรณาการงบประมาณ ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) ควรโอนงบลงทุนไปให้สถานศึกษาอาชีวศึกษาใน จชต.ทั้ง 18 แห่งเช่นเดิม เพื่อให้แต่ละสถานศึกษาดำเนินการเบิกจ่ายเอง ซึ่งจะมีความคล่องตัวสูงกว่าการเดินทางมาเบิกจ่ายที่ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) หรือ “ศึกษาธิการส่วนหน้า” พร้อมเสนอให้กำหนดผู้ที่จะดำเนินการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณต่าง ๆ เช่น งบค่าใช้จ่ายอื่นในโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนนักศึกษา

  • การโอนงบประมาณมาไว้ที่ศึกษาธิการส่วนหน้า ควรโอนเฉพาะงบประมาณที่สามารถบูรณาการได้ เช่น โครงการกิจกรรมลูกเสือ โครงการกิจกรรมกีฬา เป็นต้น

  • การบูรณาการงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เนื่องจากแต่ละมหาวิทยาลัยมีความอิสระและเป็นนิติบุคคล สามารถเสนอของบประมาณได้เอง จึงต้องมีการหารือร่วมกันของสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ จชต. เพื่อบูรณาการโครงการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน มีเป้าหมายและตัวชี้วัดเดียวกันเสียก่อน

  • สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) มีความพร้อมที่จะบูรณาการงบประมาณในโครงการต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันและเกิดประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาสูงสุด โดยอาจมีการหารือถึงแนวทางการทำงานร่วมกันของผู้เกี่ยวข้อง เช่น การจัดอาชีพในสถาบันศึกษาปอเนาะระหว่างสำนักงาน กศน. กับ สอศ. เป็นต้น พร้อมเสนอให้มีการจัดทำฐานข้อมูลผู้เรียนและสถานศึกษา เพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินงานทั้งในด้านการจัดสรรอัตรากำลังและงบประมาณ

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า แผนการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนการบูรณาการงบประมาณนั้น เกิดจากกรอบแนวคิดที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนการศึกษาแห่งชาติ 15 ปี พร้อมได้น้อมนำพระบรมราโชวาท หลักการทรงงาน ตลอดจนพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเป็นหลักในการทำงาน พร้อมกล่าวย้ำว่าจะเน้นการทำงานตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อให้งานบรรลุเป้าหมายและใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้

ทั้งนี้ จะพยายามทำงานทั้งในฐานะของ รมช.ศึกษาธิการ และในฐานะรองหัวหน้าคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลที่ต้องกำกับดูแลงานด้านการศึกษาอย่างสุดความสามารถ เพื่อให้การดำเนินงานตามแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปีงบประมาณ 2560 เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยจะมีการประชุมเพื่อเน้นย้ำความเข้าใจในทิศทางการดำเนินงานเป็นระยะ และจัดระบบติดตามงานเป็นวงรอบต่อไป ทั้งนี้ขอฝากข้อคิดส่วนตัวที่ได้ยึดถือในการทำงานมาโดยตลอด คือ “ความตั้งใจถือเป็นอาวุธที่ร้ายแรงที่สุด

 

 

ต่อมาในเวลา 13.30 น. รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมสรุปผลการดำเนินโครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษา จชต. ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 (เดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน 2559) โดยมีสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

 

จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งสิ้น 453 คน แบ่งเป็น นักเรียนชั้น ม.4 จำนวน 360 คน และนักเรียนชั้น ม.5 จำนวน 93 คน และสามารถแบ่งตามประเภทกีฬา 10 ชนิด ได้แก่ ฟุตบอล 204 คน, ฟุตซอล 23 คน, วอลเลย์บอล 122 คน, เซปักตะกร้อ 19 คน, มวยไทย 13 คน, ปันจักสีลัต 15 คน, เทควันโด 3 คน, บาสเกตบอล 14 คน, กรีฑา 10 คน, ฮอกกี้ 30 คน

จำนวนบุคลากรดำเนินโครงการ รวมทั้งสิ้น 212 คน แบ่งเป็น ด้านบริหาร (ผู้อำนวยการโรงเรียน, ผู้บริหารหลักสูตร) ด้านกีฬา (ครูผู้ฝึกสอน) และด้านสนับสนุน (ครูหอพัก,แม่บ้าน)

ผลการดำเนินงานโครงการ

       1) ด้านการเรียน พบว่านักเรียนแผนการเรียนศิลป์-กีฬา มีผลการเรียนเฉลี่ยสูงกว่าแผนการเรียนศิลป์ทั่วไป แต่นักเรียนแผนการเรียนวิทยาศาสตร์-กีฬา ยังมีผลการเรียนเฉลี่ยต่ำกว่าแผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์

       2) การพัฒนาร่างกาย นักเรียนส่วนใหญ่มีค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI (Body Mass Index) อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยมีนักเรียน 78 คนที่มีค่า BMI ต่ำกว่าเกณฑ์ และมีนักเรียน 30 คน ที่มีค่า BMI เกินกว่าเกณฑ์ สำหรับด้านความสูง นักเรียนชายชั้น ม.5 โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ยะลา มีพัฒนาการด้านความสูงสูงที่สุด คือ 5.35 เซนติเมตร

       3) ด้านการกีฬา พบว่านักเรียนทุกโรงเรียนมีความถนัดและโดดเด่นแตกต่างกันไปในแต่ละประเภท อาทิ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติฯ ยะลา โดดเด่นในกีฬามวยไทย ตะกร้อ ปันจักสีลัต วอลเลย์บอลหญิง, โรงเรียนรือเสาะชนูปถัมภ์ โดดเด่นในกีฬาวอลเลย์บอลหญิง ฮอกกี้ ฟุตซอล, โรงเรียนมัธยมสุไหงปาดี โดดเด่นในกีฬาฟุตบอล บาสเกตบอลหญิง, โรงเรียนโพธิ์คีรีราชศึกษา โดดเด่นในกีฬาฟุตบอล เทควันโด, โรงเรียนนาทวีวิทยาคม โดดเด่นในกีฬาฟุตบอล กรีฑา มวยไทย วอลเลย์บอลหญิง และโรงเรียนละงูพิทยาคม โดดเด่นในกีฬาวอลเลย์บอลชาย มวยไทย

ผลการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ติดตัวตลอดชีวิต สามารถถ่ายทอดความรู้สู่ครอบครัว ชุมชน และขยายความคิดต่อไปได้ ตลอดจนนักเรียนสามารถเป็นมัคคุเทศก์ประจำศูนย์เรียนรู้ของโรงเรียน ซึ่งที่ผ่านมาทุกโรงเรียนพยายามที่จะศึกษาองค์ความรู้ก่อนดำเนินงานและมีการประเมินผลในช่วงปิดภาคเรียน แต่ในขณะเดียวกันยังมีการดำเนินงานบางส่วนที่ต้องปรับปรุงแก้ไข เช่น การจัดให้มีนักเรียนมัคคุเทศก์ครบทุกกิจกรรม การใช้งบประมาณอย่างเหมาะสม การรายงานตามห้วงเวลาที่กำหนด เป็นต้น

 

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า เพื่อให้การเสนอของบประมาณ ปี 2561 สำหรับเป็นทุนการศึกษาให้กับนักเรียนชั้น ม.6 ที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และสามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติในหลักการโครงการฯ ได้ภายในเดือนธันวาคม 2559 นั้น จึงได้มอบให้โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการสำรวจความต้องการของนักเรียนในการศึกษาต่อทั้งในระดับอุดมศึกษาและระดับอาชีวศึกษา โดยขอให้เร่งทำความเข้าใจและหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อจะได้สัดส่วนผู้เรียนที่ชัดเจน ซึ่งผู้เกี่ยวข้องจะได้เตรียมเสนอของบประมาณรองรับการดำเนินงานได้อย่างครอบคลุมต่อไป


นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
นวรัตน์ รามสูต: ถ่ายภาพ
8/11/2559