นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายพะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศึกษาธิการ และนายชลำ อรรถธรรม ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ติดตามการดำเนินงานตามนโยบาย กศน. สช. WOW WOW เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ของหน่วยงานในกำกับดูแลของจังหวัดพังงา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม 2563 ณ สำนักงาน กศน. จังหวัดพังงา
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า ด้วยสไตล์การทำงานของตน จะเน้นการรับฟังปัญหาความต้องการของผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานที่กำกับดูแล เพื่อพัฒนางาน พัฒนาการจัดการศึกษา เรียนรู้ ให้ตอบโจทย์ผู้เรียนเป็นสำคัญ และที่ผ่านมา ได้รับฟังข้อเสนอและประเด็นความต้องการการเรียนรู้ของประชาชนและทุกภาคส่วน ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ในหลากหลายรูปแบบ อาทิ คนขับสามล้อที่จังหวัดพิษณุโลก ต้องการเรียนภาษาฝรั่งเศส เพื่อสื่อสารและนำเที่ยวกับนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศส, สถานประกอบการธุรกิจโรงแรมที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ต้องการกำลังคนด้านการโรงแรม ซึ่ง กศน.ได้เปิดหลักสูตรระยะสั้นเร่งด่วน เพื่อพัฒนาอบรมให้กับนักศึกษา กศน.และผู้ที่สนใจ, ความสนใจเรียนภาษายาวี ของแม่ค้าและผู้ประกอบการในตลาดกิมหยง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อสื่อสารและให้บริการกับลูกค้า เป็นต้น
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า เป็นการเดินทางมาตรวจราชการที่จังหวัดพังงา เป็นครั้งแรก ซึ่งมีความรู้สึกประทับใจในมิตรไมตรีของทุกคนเป็นอย่างมาก ในส่วนของนิทรรศการแสดงผลงาน ถือว่านำนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้อย่างครบถ้วน ทั้งในส่วนของ กศน.จังหวัดพังงา ที่จัดการเรียนรู้อย่างหลากหลายตามบริบทของผู้เรียนเพื่อเพิ่มทักษะ เพื่อการประกอบอาชีพ และสำหรับผู้สูงอายุ รวมทั้งสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ บนภูเขา เกาะแก่ง แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ
ในส่วนของสถานศึกษาและโรงเรียนเอกชน ทั้งในระบบและนอกระบบ กว่า 30 แห่ง มีนักเรียนและผู้เรียน กว่า 7,600 คน ก็สามารถจัดการศึกษาได้ดี พัฒนาผู้เรียนให้มีศักยภาพอย่างรอบด้าน ทั้งภาษา วิทยาศาสตร์ ศิลปะ ดนตรี ตลอดจนวัฒนธรรมท้องถิ่น ถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมในความตระหนักถึงคุณค่าของเอกลักษณ์ของพื้นที่นี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า จะต้องมีการพัฒนาการจัดการศึกษา ที่ส่งผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่สูงขึ้นอย่างทั่วถึงในทุกโรงเรียน ซึ่งเตรียมจะตั้งคณะทำงานจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางดำเนินการพัฒนาต่อไป
“ขอแสดงความขอบคุณและชื่นชมชาว กศน. และ สช. จังหวัดพังงาอีกครั้ง ที่ร่วมด้วยช่วยกันพัฒนาการศึกษา ด้วยความมีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ดั่ง “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า” เช่นนี้ตลอดไป และเชื่อว่า สิ่งนี้จะเป็นจุดแข็งที่นำพาการศึกษา ไปสู่การพัฒนาจังหวัดพังงาให้เจริญรุ่งเรืองได้อย่างแน่นอน
ในส่วนของรัฐมนตรี หรือ “ครูพี่โอ๊ะ” ก็จะยังคงมุ่งมั่นตั้งใจทำงานเพื่อทุกคนเช่นเดิม และน้อมรับทุกข้อเสนอและความคิดเห็นที่ได้สะท้อนในวันนี้ เพื่อหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง นำสู่การแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ สิ่งใดที่ขับเคลื่อนจนเกิดผลสำเร็จแล้ว ก็ขอให้ร่วมยิ้มและมีความสุขไปด้วยกัน สิ่งใดที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ก็ขอกำลังใจจากทุกคน ตลอดจนความร่วมมือร่วมใจ ที่จะเป็นพลังในการทลายข้อจำกัด และก้าวไปด้วยกัน เพื่อพัฒนาการศึกษาให้เป็นรากฐานที่ดี แก่เด็ก เยาวชน และคนพังงาทุกคน และแม้จะเป็นเวลาเพียงสั้น ๆ ที่ได้มาพังงา แต่ก็สามารถพูดได้เต็มปากว่า “ครูพี่โอ๊ะรักจัง พังงา” และสัญญาว่าจะร่วมพัฒนาการศึกษาของพังงา เพื่อสร้างสุขและรอยยิ้มอย่างยั่งยืนตลอดไป” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
โดยมีสรุปการรับฟังความต้องการในการพัฒนาการศึกษาของ กศน. และ สช. ดังนี้
Q : การปรับระบบเบิกสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลครูเอกชน ในรูปแบบการจ่ายตรง
A : ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาในรายละเอียด และหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ
Q : การออกบัตรประจำตัวครูเอกชน
A : ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงระบบให้มีความเสถียร
Q : การปรับคุณสมบัติด้านการมีใบประกอบวิชาชีพครู สช.-กศน.
A : การปรับระยะเวลาของการมีใบประกอบวิชาชีพครู ของผู้สอนที่ยังไม่มีวุฒิครู เพิ่มขึ้นจากเดิม 6 ปี เพื่อให้ครูมีระยะเวลาในการพัฒนาตนเอง ให้มีวุฒิครู ตามเกณฑ์คุณสมบัติของครูผู้สอนนในสถานศึกษา ที่จะเป็นการรักษาครูที่มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ในการจัดการเรียนการสอน ให้อยู่กับโรงเรียนต่อไป นั้น ได้มอบให้ประธานคณะทำงาน รมช.ศึกษาธิการ และที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาเอกชน รวบรวม ศึกษาข้อมูล และรายละเอียด เพื่อพิจารณาถึงวิธีการ ขั้นตอน และความเป็นไปได้ของการปรับหลักเกณฑ์อย่างรอบคอบในทุกมิติ
Q : ความต้องการอุปกรณ์ด้านการจัดการศึกษา ของศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยมอแกน (ศรช.) หมู่เกาะสุรินทร์
A : ได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาในจังหวัดพังงา โดยเฉพาะสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดพังงา ที่ต้องมีการปรึกษาหารือ และร่วมด้วยช่วยกัน ซึ่ง ศรช.ชาวไทยมอแกน ตั้งอยู่บนพื้นที่อุทยานหมู่เกาะสุรินทร์ ห่างไกลกลางทะเล และอยู่ในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ในพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีความต้องการโต๊ะและเก้าอี้สำหรับจัดการเรียนการสอนมากที่สุด รวมทั้งพลังงานไฟฟ้า ตลอดจนงบประมาณในการซ่อมแซมอาคารเรียนที่มีสภาพเก่า ผุพัง และทรุดโทรม ในส่วน รมช.ศึกษาธิการ และคณะทำงาน ก็จะเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างสุดความสามารถเช่นกัน
นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
6/3/2563