PLC ช่วยได้ที่"โรงเรียนบ้านเกาะแลหนัง"

          ผอ.สาวิตรี แก้วจินดา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเกาะแลหนัง เล่าคร่าว ๆ ว่า หลังจากเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเกาะแลหนัง ก็ได้ตั้งวงคุยกับคุณครูทั้งโรงเรียนตามหลักการ PLC ทั้งที่เป็นการประชุมอย่างเป็นทางการและการคุยกันระหว่างทานข้าว หรือเมื่อมีเวลาว่าง จึงทำให้ทราบปัญหาและสาเหตุว่าน่าจะมาจากเรื่องเทคนิคการสอนที่ยังไม่สร้างความน่าสนใจ หรือ กระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจอยากเรียนน้อยอยู่ โดยคุณครูทั้งโรงเรียนก็น่ารักมากให้ความร่วมมือกันอย่างดี ยอมรับในจุดอ่อนและช่วยกันหาวิธีการแก้ปัญหา
          ผอ.สาวิตรี บอกว่า นอกจากเราจะ PLC กันเองในโรงเรียนแล้ว การที่ ผอ.ได้ไปร่วมกับคณะนิเทศจิตอาสาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีคณะผู้บริหารจากโรงเรียนต่างๆ ศึกษานิเทศ ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ใน 11 เขต 162 โรงเรียน มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สิ่งที่ปฏิบัติมาแล้ว วิธีการปฏิบัติ มาพูดคุยกัน เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ทำ แล้วหลายโรงเรียนนำกลับไปทำ ปรากฎว่าสามารถแก้ปัญหาได้ดี เช่น โรงเรียนบ้านบางมะรวด สพป.ปัตตานี เขต1 ใช้การสอนแบบการมีส่วนร่วมที่ให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติ หรือ แอคทีฟ เลิร์นนิ่ง ทำให้เด็กมีความสุขในการเรียนมากขึ้น ขณะที่โรงเรียนบ้านลูโบ๊ะกาเยาะ สพป.นราธิวาส เขต 3 ใช้วิธีการช่วยเหลือดูแลนักเรียนแบบเข้ม มีการเยี่ยมบ้านนักเรียนและจัดกลุ่มดูแลเป็นพิเศษ ทำให้สามารถติดตามดูแลนักเรียนได้อย่างใกล้ชิด หรือ โรงเรียนบ้านบางราพา สพป.ปัตตานี เขต 1 ที่ใช้ความเข้มแข็งของชุมชนและแอคทีฟ เลิร์นนิ่ง มาจัดการเรียนการสอน ทำให้ผลโอเน็ตของโรงเรียนขยับขึ้นไปได้มากจากลำดับที่ 122 ขึ้นมาเป็นลำดับที่ 6 ของเขตพื้นที่การศึกษา
          “หลังจากทราบปัญหาและได้วิธีการต่าง ๆ มาแล้ว ก็นำวิธีการเหล่านั้นมาปรับใช้ในโรงเรียนบ้านเกาะแลหนัง โดยเฉพาะแอคทีฟ เลิร์นนิ่งในการจัดการเรียนการสอนโดยเน้นที่นักเรียน ป.6 ซึ่งผลที่ได้รับคือ นักเรียนมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปมาก เรียนด้วยความสุข สนุก อยากเรียนมากขึ้น ขาดเรียนน้อยลง มีความกระตือรือร้นอยากเรียน ทำให้เราได้เห็นภาพเด็กเดินไปตามครูให้มาสอนเพราะอยากเรียน และสิ่งที่ตามมาก็คือคุณครูก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีความกระตือรือร้นที่จะสอน ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมสื่อหรือกิจกรรมที่จะสอนนักเรียน เพราะเมื่อเห็นเด็กมีความสุขก็ทำให้ครูมีความสุขไปด้วย ทำให้มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเรียนการสอนมากขึ้น”ผอ.สาวิตรี กล่าวพร้อมกับย้ำว่า ถึงแม้ว่าโรงเรียนบ้านเกาะแลหนังจะเพิ่งเริ่มต้นกระบวนการเรียนการสอนด้วย แอคทีฟ เลิร์นนิ่ง ซึ่งยังไม่เห็นผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน แต่ก็เห็นแล้วว่า ผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ชุมชน มีความพึงพอใจกับวิธีการจัดการเรียนการสอนแบบนี้ เพราะเมื่อเด็ก ๆกลับไปถึงบ้าน จะไปเล่าให้ผู้ปกครองฟังว่า แต่ละวันเรียนอย่างไร สนุกมาก แค่นี้ก็สร้างความสุขและเป็นกำลังใจให้คุณครูทุกคนได้แล้ว
          เพียงแค่เปิดใจ ยอมรับ และร่วมมือกัน ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นแล้ว ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีของความร่วมมือร่วมใจในการแก้ปัญหาการศึกษาที่เป็นไปได้
          อรนุช วานิชทวีวัฒน์

          ที่มา: http://www.dailynews.co.th