สป.ศธ. พัฒนาศักยภาพศึกษานิเทศก์ ก้าวทันโลกยุค BANI World ยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยทั่วถึงเท่าเทียม

จังหวัดนครปฐม – 17 กรกฎาคม 2568 / นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้ นายสุภชัย จันปุ่ม ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดโครงการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รุ่นที่ 4 (ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค.(1) ตำแหน่งศึกษานิเทศก์) ณ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา

นายสุภชัย จันปุ่ม กล่าวว่า ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการบูรณาการการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และนิเทศการศึกษาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด เพื่อให้การจัดการเรียนรู้มีคุณภาพตอบโจทย์ผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 และทำหน้าที่เชื่อมโยงนโยบายจากระดับกระทรวงสู่โรงเรียน โดยแปลงนโยบายให้เกิดความเข้าใจและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ช่วยวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลจากการนิเทศและติดตาม เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ การประเมินผล สามารถยกระดับผู้เรียนได้ และปฏิบัติงานได้อย่างมีคุณภาพ ย่อมส่งผลต่อความก้าวหน้าทางสายอาชีพ

ทั้งนี้ การประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ มิได้เป็นเพียงกระบวนการ เพื่อ “เลื่อนขั้น” แต่เป็น “กลไกการพัฒนาวิชาชีพ” ซึ่งประกอบด้วยบทบาทสำคัญในการพัฒนาสมรรถนะและคุณภาพวิชาชีพอย่างเป็นระบบ เชื่อมโยงผลการปฏิบัติงานกับความก้าวหน้าในวิชาชีพ สมารถขับเคลื่อนสู่ระบบการบริหารงานบุคคลที่ทันสมัยและโปร่งใส ตลอดจนสนับสนุนยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาและนโยบายรัฐได้เป็นอย่างดี

การประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะในปัจจุบัน ไม่ได้มุ่งเพียงการจัดทำเอกสารเพื่อเลื่อนขั้น แต่เป็นกระบวนการที่มุ่งพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีคุณภาพ และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษา โครงการฯ ที่จัดขึ้นในวันนี้ จึงเป็นการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ของศึกษานิเทศก์ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ การเสริมสร้างทักษะด้านดิจิทัล เพื่อพัฒนาการนิเทศการศึกษา ยกระดับทักษะการปฏิบัติหน้าที่สำหรับผู้มีบทบาทหัวหน้างานได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนสามารถใช้งานเป็นเครื่องมือช่วยให้ผู้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ เข้ารับการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะตามเส้นทางความก้าวหน้าทางวิชาชีพ

การนิเทศติดตามที่ดีต้องมีผลต่อการศึกษาของประเทศ และศึกษานิเทศก์ทุกท่านต้องพยายามปรับตัวให้ทันตามยุคเปลี่ยนผ่านจาก VUCA World สู่ BANI World ซึ่งเป็นกรอบความคิดที่พยายามอธิบายและพยากรณ์โลกยุคใหม่ รองรับความเปลี่ยนแปลง เพื่อความมั่นคงทางการศึกษาของประเทศ ด้วยการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรภายในองค์กร โดยเน้นย้ำความสำคัญของการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุค BANI World ซึ่งเป็นโลกที่เปราะบาง (Brittle) กังวล (Anxious) ไม่แน่นอน (Nonlinear) และคลุมเครือ (Incomprehensible) โดยบุคลากรทางการศึกษาต้องปรับ Mindset ให้เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น และกล้าตัดสินใจ เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาสู่อนาคต

นายสุภชัย จันปุ่ม กล่าวต่อไปว่า วันนี้ศึกษานิเทศก์ในฐานะกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายทางการศึกษา ได้ร่วมแลกเปลี่ยนและสะท้อนภาพรวมการศึกษาไทยในปัจจุบันที่ยังขาดเป้าหมายที่ชัดเจน โดยเน้นว่าการศึกษาควรตอบโจทย์ตลาดแรงงานจริงจังมากยิ่งขึ้น รวมทั้งต้องเร่งสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เรียนเกิดเรียนรู้ ผ่านวิธีการที่ยืดหยุ่นและหลากหลาย ให้สอดคล้องนโยบายหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งศึกษานิเทศก์ต้องเข้าใจและนำไปสู่การปฏิบัติ

โดยนโยบาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” ได้ประกาศวาระเร่งด่วนประเด็นหลัก ในการลดภาระงานครู ดูแลสวัสดิการและขวัญกำลังใจครู ส่งเสริมการเรียนประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง และส่งเสริมการเรียนวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษา ในการจัดการศึกษาเพื่อความปลอดภัย การยกระดับคุณภาพการศึกษา สร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมการศึกษาทุกช่วงวัย การศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การส่งเสริมสนับสนุนวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา การพัฒนาระบบราชการและการบริการภาครัฐยุคดิจิทัล

“เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ศึกษานิเทศก์รวมถึงบุคลากรด้านการศึกษาทุกคน จะต้อง “เปลี่ยนวิธีคิด (คิดนอกกรอบ) เปลี่ยนวิธีการทำงาน” ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงลดความขัดแย้งภายในพื้นที่ สร้างความร่วมมือกับสถานศึกษา และใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างคุ้มค่า ตามแนวคิด “MOE One Team จังหวัดเป็นหนึ่ง” เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการทำงาน โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ พัฒนาการศึกษาไทยให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมยุคใหม่ พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กทุกคนในการเรียนรู้ และยกระดับวิชาชีพครูให้เป็นอาชีพที่น่าเคารพอย่างแท้จริง”

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว-กราฟิก
กบค.สอ.สป. / ภาพ