กลไกการดำเนินงาน – ซีมีโอ

องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมีโอ)
Southeast Asian Ministers of Education Organization (SEAMEO)

กลไกการดำเนินงาน

กลไกการบริหารงาน

องค์การซีมีโอมีกลไกในการบริหารงานดังนี้

             1. สภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือสภาซีเมค (Southeast Asian Ministers of Education Council: SEAMEC) เป็นกลไกการบริหารสูงสุดขององค์การซีมีโอ ประกอบด้วยรัฐมนตรีศึกษาของประเทศสมาชิกทุกประเทศ โดยมีรัฐมนตรีศึกษาของประเทศสมาชิก 1 คน ดำรงตำแหน่งประธานสภา วาระ 2 ปี หมุนเวียนกันไปตามอักษรชื่อประเทศ โดยจะมีการประชุมปีเว้นปี และในปีที่ไม่มีการจัดการประชุมสำนักงานเลขาธิการฯ จะจัดส่งเอกสารจากมติที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสฯ ให้ประเทศสมาชิกพิจารณาและให้ความเห็นชอบ ซึ่งประเทศสมาชิกจะผลัดกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในประเทศของตน
จะทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดนโยบายขององค์การ พิจารณาอนุมัติแผนงาน โครงการ และงบประมาณการใช้จ่ายของสำนักงานเลขาธิการฯ ศูนย์ระดับภูมิภาคขององค์การฯ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่แต่งตั้งประธานสภารัฐมนตรีศึกษาฯ และผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ ผู้อำนวยการศูนย์ระดับภูมิภาค และโครงการระดับภูมิภาค ทั้งนี้โดยหลักการการดำเนินการต่าง ๆ จะเป็นไปตามมติที่ประชุมสภาซีเมค

             2. เจ้าหน้าที่อาวุโสของซีมีโอ (SEAMEO High Officials: HOM) ประกอบด้วยผู้แทนระดับสูง (ระดับปลัดหรือเทียบเท่า) ของประเทศสมาชิกทุกประเทศ โดยจะมีการประชุมทุกปี เพื่อทำหน้าที่พิจารณาและกลั่นกรองการดำเนินของสำนักงานเลขาธิการฯ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารของซีมีโอ นโยบายขององค์การ แผนงาน โครงการ และงบประมาณการใช้จ่ายของสำนักงานเลขาธิการฯ แผนงาน
ของศูนย์ระดับภูมิภาคขององค์การฯ และโครงการระดับภูมิภาคต่าง ๆ ขององค์การ

             3. คณะกรรมการบริหารของซีมีโอ (SEAMEO Executive Committee: EC) ตั้งขึ้นจากการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง Creating Strategic Change in SEAMEO: Toward Enhanced Regional Cooperation ณ ประเทศมาเลเซีย เมื่อปี 2538 ซึ่งคณะศึกษาและประเมินการดำเนินงานภายนอกหน่วยงานได้ดำเนินการศึกษาโครงสร้าง ภารกิจและการดำเนินงานของสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ ต่อมาในปี 2539 ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการรับรองจากที่ประชุมสภาซีเมคครั้งที่ 32 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ โดยให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร (Executive Committee) และคณะอนุกรรมการการจัดการศูนย์ต่าง ๆ (Centers’ Management Sub-Committee) ซึ่งคณะกรรมการบริหาร มีหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารงานของสำนักงานเลขาธิการฯ ในเชิงนโยบาย เช่น การให้ข้อเสนอแนะการแต่งตั้งและการทบทวนผลการดำเนินงานของผู้อำนวยการของสำนักงานเลขาธิการฯ มีบทบาทในการให้คำแนะนำต่อเจ้าหน้าที่อาวุโสเกี่ยวกับการดำเนินการต่าง ๆ ของซีมีโอ ตลอดจนกำกับทิศทางและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบริหารจัดการของสำนักงานเลขาธิการฯ และการพัฒนาศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอในภาพรวม

             4. สำนักงานเลขาธิการซีมีโอ (SEAMEO Secretariat) ตั้งอยู่ ณ กรุงเทพฯ มีผู้อำนวยการเป็นหัวหน้าสำนักงาน ซึ่งสภาซีเมคเป็นผู้แต่งตั้งจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศสมาชิก มีฐานะเป็น
ผู้แทนที่มีอำนาจตามกฎหมายในการดำเนินงานต่าง ๆ ในนามองค์การ โดยปกติมีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี (สามารถขยายระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 1 ครั้ง) และหมุนเวียนการดำรงตำแหน่งตามลำดับตัวอักษร นอกจากนี้ยังมีรองผู้อำนวยการ 2 คน คือ รองผู้อำนวยการฝ่ายโครงการและการตลาด และรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและสื่อสาร ช่วยดูแลสำนักงาน เพื่อทำหน้าที่เป็นสำนักงานกลางในการรับผิดชอบงานบริหารขององค์การ และบริหารงานตามนโยบายที่สภากำหนดไว้ จัดหาเงินทุนสำหรับดำเนินงานและกิจกรรมต่าง ๆ ของศูนย์และโครงการระดับภูมิภาค ส่งเสริมให้มีความร่วมมือระหว่างองค์การซีมีโอและองค์การอื่น ๆ ที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน จัดวางแผนและพิจารณาข้อเสนอของการจัดโครงการชั่วคราวต่าง ๆ ในระดับภูมิภาคเพื่อให้การดำเนินงานของซีมีโอมีการพัฒนาและตรงตามความต้องการของประเทศสมาชิกในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

             องค์การซีมีโอตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมระหว่างประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียง โดยความร่วมมือกับประเทศสมาชิกทั้ง 11 ประเทศ สมาชิกสมทบ 5 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย แคนาดา เยอรมนี นิวซีแลนด์ และสเปน รวมถึงหน่วยงานสมทบ (Affiliate Member) 6 แห่ง นอกจากนี้ยังมีศูนย์ระดับภูมิภาคซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง จำนวนทั้งสิ้น 26 แห่ง (1 เครือข่าย และ 25 ศูนย์) มีหน้าที่สำคัญในการพัฒนาบุคลากรของภูมิภาค เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาด้านวิชาการและความรู้ความสามารถที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศสมาชิก และเป็นหน่วยงานที่สำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายความร่วมมือด้านการศึกษาในแต่ละด้านของภูมิภาคให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

             ประเทศสมาชิกจะแต่งตั้งผู้แทนเข้าร่วมเป็นกรรมการบริหารของศูนย์ตามความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของแต่ละศูนย์ เพื่อร่วมกันพิจารณาแผนงาน งบประมาณ กำกับดูแลและติดตามการดำเนินงานของศูนย์ให้เป็นไปตามความต้องการของประเทศสมาชิก ซึ่งจะมีการประชุมเป็นประจำทุกปี และจะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมตามกลไกขององค์การซีมีโอ โดยเป็นศูนย์ด้านการพัฒนาการศึกษา จำนวน 16 ศูนย์
ด้านวิทยาศาสตร์ เวชศาสตร์เขตร้อน สุขอนามัยและสาธารณสุข เกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อม จำนวน 7 ศูนย์ 1 เครือข่าย ด้านวัฒนธรรม โบราณคดี และประวัติศาสตร์ จำนวน 2 ศูนย์ ทั้งนี้อยู่ในความดูแลของประเทศบรูไนดารุสซาลาม จำนวน 1 ศูนย์ อินโดนีเซีย จำนวน 7 ศูนย์ มาเลเซีย จำนวน 3 ศูนย์ เมียนมา จำนวน 1 ศูนย์ ฟิลิปปินส์ จำนวน 3 ศูนย์ สิงคโปร์ จำนวน 1 ศูนย์ เวียดนาม จำนวน 2 ศูนย์ สปป. ลาว จำนวน 1 ศูนย์และกัมพูชา จำนวน 1 ศูนย์ และประเทศไทย โดยกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษาฯ จำนวน 5 ศูนย์ และ 1 เครือข่าย ดังนี้

             1) ด้านการพัฒนาการศึกษา จำนวน 16 ศูนย์ ได้แก่

                          1.1) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของซีมีโอ–เรคแซม (SEAMEO Regional Centre for Education in Science and Mathematics: RECSAM) ณ เมืองปีนัง มาเลเซีย

                          1.2) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยภาษาของซีมีโอ – เรลค์ (SEAMEO Regional Language Centre : RELC) ณ สิงคโปร์

                          1.3) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาของซีมีโอ – อินโนเทค (SEAMEO Regional Centre for Educational Innovation and Technology : INNOTECH) ณ เมืองเกซอน ฟิลิปปินส์

                          1.4) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยเทคนิคและอาชีวศึกษาของซีมีโอ – โวคเทค (SEAMEO Regional Centre for Vocational and Technical Education : VOCTECH) ณ กรุงบันดาร์เสรี เบกาวัน  บรูไนดารุสซาลาม

                          1.5) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยการอุดมศึกษาและการพัฒนาของซีมีโอ – ไรเฮด (SEAMEO Regional Centre for Higher Education and Development : RIHED) ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย

                          1.6) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยการฝึกอบรมและการจัดการศึกษาของซีมีโอ–รีแทรค (SEAMEO Regional Training Centre: RETRAC) ณ นครโฮจิมินห์ เวียดนาม

                          1.7) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยการเรียนแบบเปิดของซีมีโอ – ซีโมเลค (SEAMEO Regional Open Learning Centre : SEAMOLEC) ณ กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย

                          1.8) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาด้านภาษาของซีมีโอ – คีเท็ปด้านภาษา (SEAMEO Regional Centre for Quality Improvement of Teachers and Education Personnel in Language : QITEP in Language) ณ กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย

                          1.9) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาด้านคณิตศาสตร์ของซีมีโอ – คีเท็ปด้านคณิตศาสตร์ (SEAMEO Regional Centre for Quality Improvement of Teachers and Education Personnel in Mathematics : QITEP in Mathematics) ณ เมืองย็อกยาการ์ตา อินโดนีเซีย

                          1.10) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของซีมีโอ – คีเท็ปด้านวิทยาศาสตร์ (SEAMEO Regional Centre for Quality Improvement of Teachers and Education Personnel in Science : QITEP in Science) ณ เมืองบันดุง อินโดนีเซีย

                          1.11) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยการจัดการศึกษาพิเศษของซีมีโอ – เซ็น (SEAMEO Regional Centre for Special Education : SEN) ณ เมืองมะละกา มาเลเซีย

                          1.12) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิตของซีมีโอ – เซล (SEAMEO Regional Centre for Lifelong Learning : CELLL) ณ นครโฮจิมินห์ เวียดนาม

                          1.13) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยการดูแลและการศึกษาเด็กปฐมวัยและบทบาทสถาบันครอบครัวของซีมีโอ – ซีเซ็พ (SEAMEO Regional Centre for Early Childhood Care and Education and Parenting: CECCEP) ณ เมืองบันดุง อินโดนีเซีย

                          1.14) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยการพัฒนาการศึกษาในชุมชนของซีมีโอ – เซ็ด (SEAMEO Regional Centre for Community Education Development: CED) ณ กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว

                          1.15) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยการพัฒนาการศึกษาทางเทคนิคของซีมีโอ – เท็ด (SEAMEO Regional Centre for Technical Education Development: TED) ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา

                          1.16) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอ – เซ็พส์ (SEAMEO Regional Centre for Sufficiency Economy Philosophy for Sustainability : SEPS)
ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย

             2) ด้านวิทยาศาสตร์ เวชศาสตร์เขตร้อน สุขอนามัยและสาธารณสุข เกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อม จำนวน 7 ศูนย์ 1 เครือข่าย ได้แก่

                          2.1) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาของซีมีโอ –สะเต็มเอ็ด (SEAMEO Regional Centre for STEM Education : STEM-ED) ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย

                          2.2) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยการวิจัยและบัณฑิตศึกษาด้านการเกษตรของซีมีโอ – เซียร์ก้า (SEAMEO Regional Centre for Graduate Study and Research in Agriculture : SEARCA) ณ เมืองลอสบายอส ฟิลิปปินส์

                          2.3) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยเวชศาสตร์เขตร้อนและสาธารณสุขของซีมีโอด้านจุลชีววิทยา พาราสิตวิทยาประยุกต์ และกีฏวิทยาการแพทย์ – ทรอปเมด มาเลเซีย (SEAMEO TROPMED Regional Centre for Microbiology, Parasitology and Entomology : TROPMED/Malaysia)
ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย

                          2.4) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยเวชศาสตร์เขตร้อนและสาธารณสุขของซีมีโอ ด้านการสาธารณสุข การบริหารการแพทย์ สิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย – ทรอปเมด ฟิลิปปินส์ (SEAMEO TROPMED Regional Centre for Public Health, Hospital Administration, Environmental and Occupational Health : TROPMED/ Philippines) ณ กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์

                          2.5) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยเวชศาสตร์เขตร้อนและสาธารณสุขของซีมีโอด้านเวชศาสตร์เขตร้อน- ทรอปเมด ประเทศไทย (SEAMEO TROPMED Regional Centre for Tropical Medicine: TROPMED/Thailand) ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย

                          2.6) เครือข่ายระดับภูมิภาคว่าด้วยเวชศาสตร์เขตร้อนและสาธารณสุขของซีมีโอ – ทรอปเมด เน็ตเวิร์ค (SEAMEO Tropical Medicine And Public Health Network : TROPMED/Network) ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย

                          2.7) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยชีววิทยาเขตร้อนของซีมีโอ – ไบโอทรอป (SEAMEO Regional Centre for Tropical Biology : BIOTROP) ณ เมืองโบกอร์ อินโดนีเซีย

                          2.8) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยอาหารและโภชนาการของซีมีโอ – เรคฟอน (SEAMEO Regional Centre for Food and Nutrition : RECFON) ณ กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย

             3) ด้านวัฒนธรรม โบราณคดี และประวัติศาสตร์ จำนวน 2 ศูนย์

                          3.1) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ของซีมีโอ – สปาฟา (SEAMEO Regional Centre for Archaeology and Fine Arts : SPAFA) ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย

                          3.2) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยการศึกษาประวัติศาสตร์และประเพณีของซีมีโอ- แชท (SEAMEO Regional Centre for History and Tradition : CHAT) ณ กรุงย่างกุ้ง เมียนมา

การประชุมของซีมีโอ

             การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของซีมีโอ เป็นการประชุมประจำทุกปี ระดับปลัดกระทรวงศึกษาธิการของประเทศสมาชิกซีมีโอในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวน 11 ประเทศ และมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกสมทบซีมีโอ หน่วยงานสมทบซีมีโอ ศูนย์/เครือข่ายระดับภูมิภาคของซีมีโอ สำนักงานเลขาธิการซีมีโอ และหน่วยงาน/องค์การระหว่างประเทศที่เป็นภาคีเครือข่าย เข้าร่วมด้วย ทั้งนี้ การประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติเพื่อพัฒนาการศึกษา รวมทั้งพิจารณาแนวทางในการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อพัฒนาด้านการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์ และด้านวัฒนธรรมของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

             การดำเนินความร่วมมือด้านการศึกษาภายใต้กรอบความร่วมมือกับซีมีโอที่สำคัญคือ ด้านนโยบาย ผ่านที่ประชุมสภารัฐมนตรีศึกษา หรือสภาซีเมค การประชุมระดับปลัดกระทรวงฯ หรือเจ้าหน้าที่อาวุโส (High Officials Meeting : HOM) การประชุมระดับผู้อำนวยการศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอ (Centre Director’ s Meeting: CDM) การประชุมกรรมการบริหารของซีมีโอ (Executive Committee Meeting) ในด้านวิชาการมุ่งเน้นการสร้างศักยภาพและเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และความสามารถให้กับผู้บริหาร ครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษาของประเทศสมาชิก และการทำวิจัย การเผยแพร่เอกสารวิชาการ โดยผ่านศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากการประชุม สัมมนา และกิจกรรมเชิงวิชาการ ในหัวข้อที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศสมาชิก ทั้งนี้องค์การซีมีโอได้ริเริ่มกำหนดแผนยุทธศาสตร์ซีมีโอ 10 ปี (2554-2563) เพื่อสร้างองค์การซีมีโอสู่ความรุ่งเรือง ภายในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) ต่อมาเมื่อปี 2563 องค์การซีมีโอได้เริ่มวางทิศทางในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ใหม่ของซีมีโอในอีก 10 ปีข้างหน้า ระหว่างปี 2564-2573 โดยสอดคล้องกับแนวโน้มของโลกและภูมิภาค รวมทั้งประเด็นที่ยังไม่ครอบคลุมในแผนยุทธศาสตร์ฉบับเดิม โดยเฉพาะความท้าทายของวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งองค์การซีมีโอยังคงมุ่งมั่นดำเนินโครงการและกิจกรรมที่มุ่งตอบสนองต่อความต้องการของประเทศสมาชิกในภูมิภาคตาม ๗ ประเด็นสำคัญด้านการศึกษา โดยมุ่งหมายให้เกิดการพลิกโฉมการพัฒนาของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเป็นรูปธรรมและให้ประจักษ์เป็นจริงขึ้นมาได้ เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ขององค์กรภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573)

Top