19 กรกฎาคม 2568 – นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษา และติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลด้านการศึกษา
โดยมีนายวิทยา เขียวรอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ นายธนู ขวัญเดช เลขาธิการ ก.ค.ศ. นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการ กช. ผู้บริหารระดับสูง และข้าราชการในสังกัด ร่วมลงพื้นที่ ณ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.นครศรีธรรมราช
รมว.ศธ. กล่าวว่า “ขอใช้โอกาสนี้ในการรับฟังเสียงสะท้อนจากภาคส่วนต่าง ๆ เกี่ยวกับอุปสรรคในการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเข้าใจดีว่าหลายหน่วยงานอาจประสบปัญหาที่แตกต่างกัน ทั้งในด้านกฎระเบียบ ข้อบังคับ หรือข้อจำกัดด้านงบประมาณ ในอนาคตอาจจะมีการจัดเวิร์กช็อปหรือเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เปิดโอกาสให้หน่วยงานต่าง ๆ สะท้อนปัญหาและข้อเสนอแนะอย่างตรงจุด และขอยืนยันว่า จะนำข้อคิดเห็นเหล่านี้ไปพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อร่วมกันหาทางออกและแนวทางที่เหมาะสมต่อไป”
จากการลงพื้นที่วันนี้ ได้รับฟังปัญหาจากครู นักเรียน และผู้บริหารการศึกษา พบว่าหลายประเด็นสอดคล้องกับพื้นที่อื่น โดยเฉพาะเรื่องหนี้สินครู ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาหารือจัดตั้ง “สหกรณ์กลาง สกสค.” เพื่อรองรับการโอนหนี้ครู โดยเริ่มจากวงเงิน 1 แสนล้านบาทจากธนาคารของรัฐ และอาจขยายเป็นเฟสจนครอบคลุมหนี้ครูทั้งหมดราว 9 แสนล้านบาท พร้อมจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ลดภาระให้ครูและลดความเสี่ยงต่อกองทุน และกำหนดมาตรการไม่ให้ครูเป็นหนี้เพิ่ม คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์หน้า
“ปัญหาหนี้ครูเป็นสิ่งที่รัฐบาลทุกชุดพยายามแก้ไข แม้ยังไม่สำเร็จ ขอยืนยันว่าจะสานต่อสิ่งดีที่ผู้บริหารชุดก่อนทำไว้ และผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม” รมว.ศธ. กล่าว
ในส่วนของการลดภาระงานครู มีแผนจัดสรรอัตรากำลังช่วยงานด้านบัญชี พัสดุ และการเงิน ซึ่งเสี่ยงต่อความผิดพลาดทางกฎหมาย เพื่อให้ครูได้ทุ่มเทกับการสอนอย่างเต็มที่ พร้อมผลักดันปรับเกณฑ์การเลื่อนวิทยฐานะให้สอดรับกับปัจจุบันและจูงใจยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความก้าวหน้าในวิชาชีพ และเพิ่มคุณภาพการศึกษาในระยะยาว
ปลัด ศธ. กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ได้ติดตามความคืบหน้าการขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล พร้อมรับฟังปัญหา อุปสรรค ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากหน่วยงานในสังกัด เพื่อร่วมพัฒนาการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการนำเสนอผลการดำเนินงานภาพรวมการขับเคลื่อนการศึกษาระดับจังหวัด การพัฒนาครูและยกระดับคุณภาพการศึกษา การส่งเสริมอาชีวศึกษาและศูนย์ Fix it Center ความก้าวหน้าของโครงการ Zero Dropout จังหวัดนครศรีธรรมราช
ในเวลาต่อมา รมว.ศธ. พร้อมด้วยคณะผู้บริหารลงพื้นที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 19 พร้อมตรวจเยี่ยมสภาพพื้นที่และการจัดการเรียนการสอน เช่น ตรวจเยี่ยมศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it center) ตรวจเช็คและซ่อมแซมวัสดุอุปกรณ์ของโรงเรียนฯ การจัดบริการประชาชน รวมทั้งรับมอบปัจจัยการผลิต พันธุ์ไก่ เป็ด ปล่อยปลา กล้าและเมล็ด พันธุ์ผัก รวมถึงการสำรวจดินและปุ๋ยหมักให้กับโรงเรียนจากกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมงและกรมพัฒนาที่ดิน
สำหรับโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 19 เป็นสถานศึกษาในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีการจัดการเรียนการสอนโดยรับเด็กด้อยโอกาสเข้ามาเรียน ประเภทกินอยู่ประจำ ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยจัดให้ผู้เรียนมีโอกาสเสมอกันในการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
ธรรมนารี ชดช้อย / ข่าว
ศศิวัฒน์ แป้นคุ้มญาติ / วิดีโอ
ณัฐพล สุกไทย / ภาพ