รองปลัด ศธ. “พิเชฐ” ย้ำ “ผู้นำ” สร้างคน “เทคโนโลยี” สร้างโอกาส “GEM Report” สะท้อนแนวทางยกระดับการศึกษาไทย

กรุงเทพมหานคร – 9 กรกฎาคม 2568 / ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเปิดตัวสรุปรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก (Global Education Monitoring Report : GEM Report) ฉบับปี ค.ศ. 2023 – 2024/25 (ฉบับแปลภาษาไทย) ณ ห้องประชุมปริ๊นซ์บอลลูม 1 โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ

การเปิดตัวฯ ดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ และสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ โดยมีนายโรซาน บัจระชาร์ยะ ที่ปรึกษาอาวุโสระดับภูมิภาค สถาบันสถิติแห่งยูเนสโก นางสาวพินทิพย์ เอี่ยมนิรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอด้านการบริหารและการสื่อสารองค์กร นางสาวจิตรลดา จันทร์แหยม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. ผู้แทนจากภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ผู้บริหารสถานศึกษา และองค์กรระหว่างประเทศ กว่า 150 คน ให้การต้อนรับและเข้าร่วม

รองปลัด ศธ. กล่าวว่า รายงาน GEM ฉบับปี 2023 – 2024/25 ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงประเทศไทย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงข้อดี ข้อจำกัดในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบการศึกษา ทุกท่านย่อมมีพื้นฐานความรู้และประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนถึงความหลากหลายในองค์กร หากสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ร่วมกับ “ภาวะผู้นำ” ไม่ว่าจะในระดับส่วนกลาง ระดับภูมิภาค หรือระดับสถานศึกษา ก็จะสามารถขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาได้อย่างเป็นรูปธรรม

การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานในฐานะ “ผู้ช่วย” ปฏิบัติงาน ซึ่งในองค์กรนั้น สิ่งสำคัญที่สุดยังคงเป็น “คน” โดยเฉพาะครูและผู้บริหารที่เป็นกำลังหลักของระบบการศึกษา ผู้นำที่มีภาวะผู้นำทางวิชาการ และเปิดโอกาสให้ครูและนักเรียนได้แสดงศักยภาพ ย่อมสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงและยกระดับคุณภาพได้อย่างยั่งยืน “อะไรที่ยาก ต้องลงมือทำ ถ้ายังไม่ทำ อย่าบอกว่าทำไม่ได้ บางอย่างไม่ต้องรอคำสั่ง เราสามารถเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ที่ดีต่อองค์กรได้ทันที”

จากการลงพื้นที่พบโรงเรียนหลายแห่งที่บริหารจัดการอย่างมีคุณภาพ เปิดโอกาสให้ครูได้แสดงความสามารถ และนักเรียนได้พัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG 4) คือการสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพ อย่างครอบคลุม และเท่าเทียม และส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน

บทบาทของ AI นับเป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน และมีศักยภาพในการสนับสนุนการจัดการศึกษา แต่ไม่สามารถทดแทน “ครู” เพราะทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ และยังมีบทบาทสำคัญในการ “อบรมบ่มนิสัย” ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนานักเรียนทุกคน ดังที่หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้กล่าวไว้ว่า “การอบรมบ่มนิสัยศิษย์นั้น เพียงวันละนาทีก็ดีถม ศิษย์จะดีมีชื่อหรือล่มจม อาจเป็นเพราะอบรมหนึ่งนาที”

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ยังได้กล่าวถึงคำปราศรัยว่า “Ask not what your country can do for you. Ask what you can do for your country” “อย่าถามว่าประเทศของคุณทำอะไรให้คุณได้บ้าง แต่จงถามว่าคุณทำอะไรให้ประเทศของคุณได้บ้าง” ในฐานะผู้บริหารการศึกษาเราจะสร้างประโยชน์อะไรให้กับองค์กร และการศึกษาของชาติได้บ้าง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้ก้าวสู่อนาคตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

“การขับเคลื่อนการศึกษาในโลกยุคดิจิทัล เทคโนโลยีอาจเป็นเครื่องมือสำคัญ แต่หัวใจของการพัฒนายังคงอยู่ที่ “คน” โดยเฉพาะครูและผู้บริหารที่มีภาวะผู้นำและความเข้าใจในบริบทของการเปลี่ยนแปลง เพราะ “ผู้นำ” สร้าง “คน” และ “เทคโนโลยี” สร้าง “โอกาส” การสร้างระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียม และยั่งยืน จึงต้องอาศัยการผสานระหว่างความรู้ นวัตกรรม และคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เพื่อส่งต่ออนาคตที่ดีให้กับผู้เรียนทุกคนอย่างแท้จริง” รองปลัด ศธ. กล่าวทิ้งท้าย

ในการนี้ ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร. ธีรภัทร กุโลภาส ประธานสาขาวิชาบริหารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายพิเศษ “ภาวะผู้นำทางการศึกษาในโลกยุคดิจิทัล” และนางแอนนา ดัดดีโอ หัวหน้าฝ่ายนโยบายการศึกษารายงานการติดตามการศึกษาโลก องค์การยูเนสโก นำเสนอข้อค้นพบและข้อเสนอแนะจากรายงาน GEM ปี ค.ศ. 2023 “เทคโนโลยีในการศึกษา” และรายงาน GEM ปี ค.ศ. 2024/25 “การเป็นผู้นำทางการศึกษา” (ผ่านระบบออนไลน์)

ภายในงานมีการเสวนา “ภาวะผู้นำด้านดิจิทัลเพื่อการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของระบบ” ในประเด็นภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงในสถานศึกษาด้านดิจิทัลในการศึกษา และการเสริมสร้างศักยภาพและกำลังใจของครู โดยมี ดร.รัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้แทน สพฐ. นายวีระพงษ์ อู๋เจริญ ผู้แทน สกศ. นายณัฐวิญญ์ สิรเดชธราทิพย์ ผู้แทน สป.ศธ. และ ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ประธานมูลนิธิสตาร์ฟิชเอ็ดดูเคชั่น ร่วมเสวนา

สามารถดาวน์โหลดรายงานฯ ฉบับภาษาไทยได้ที่

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว-กราฟิก
ณัฐพล สุกไทย / ภาพ