25 กรกฎาคม 2568 / นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2568 โดยมีนายวรัท พฤกษาทวีกุล รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ นายปรีดี ภูสีน้ำ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหาร ตลอดจนคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting
รมช.ศธ. เปิดเผยว่า ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองรายชื่อผู้สมควรได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ ประจำปี 2567 ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1 และมีอุปการคุณช่วยเหลือกิจการลูกเสืออย่างต่อเนื่องมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันที่ได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1 เพื่อส่งเสริมกำลังใจแก่ผู้อุทิศตนให้กิจการลูกเสืออย่างแท้จริง โดยมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานโดยตำแหน่ง และเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง
ทั้งยังเห็นชอบการขอเลื่อนตำแหน่งทางการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ 6 ตำแหน่ง ได้แก่ เจ้าหน้าที่ลูกเสือ เป็น ผู้ช่วยผู้ตรวจการลูกเสือ 51 ราย, ผู้ช่วยผู้ตรวจการลูกเสือ เป็น รองผู้ตรวจการลูกเสือ 77 ราย, รองผู้ตรวจการลูกเสือ เป็น ผู้ตรวจการลูกเสือ 11 ราย, เจ้าหน้าที่ลูกเสือ เป็น ผู้ช่วยผู้ตรวจการลูกเสือ 25 ราย (กรณีพิเศษ), ผู้ช่วยผู้ตรวจการลูกเสือ เป็น รองผู้ตรวจการลูกเสือ 1 ราย (กรณีพิเศษ), รองผู้ตรวจการลูกเสือ เป็น ผู้ตรวจการลูกเสือ 5 ราย (กรณีพิเศษ) และการขอมีตำแหน่งทางการลูกเสือฯ 3 ตำแหน่ง ได้แก่ ผู้ช่วยผู้ตรวจการลูกเสือ 43 ราย (กรณีพิเศษ), รองผู้ตรวจการลูกเสือ 3 ราย (กรณีพิเศษ) และผู้ตรวจการลูกเสือ 33 ราย (กรณีพิเศษ)
นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ได้รับทราบเรื่องสำคัญอีก 4 เรื่อง
1. รับทราบการมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่กรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่สภานายกสภาลูกเสือไทย และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่อุปนายกสภาลูกเสือไทย
2. รับทราบผลการดำเนินงานโครงการจัดงานวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติประจำปี 2568 ซึ่งมีการจัดพิธีบวงสรวงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สวนลุมพินี รวมทั้งพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย และพิธีทบทวนคำปฏิญาณ สวนสนามของลูกเสือ ณ ห้องประชุม/สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ
เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย รวมทั้งเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประมุขของคณะลูกเสือแห่งชาติ และเป็นการประชาสัมพันธ์กิจการลูกเสือออกสู่สายตาประชาชนอย่างกว้างขวาง ซึ่งจัดขึ้นในวันอังคารที่ 1 กรกฎาคม 2568 ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สวนลุมพินี และสนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ โดยมีลูกเสือ เนตรนารี และคณะกรรมการส่วนกลาง ร่วมงานกว่า 8,000 คน ภาพรวมทั้งประเทศมีผู้เข้าร่วมในพื้นที่กว่า 2.2 ล้านคน
3. รับทราบการจัดงานชุมนุมลูกเสือสำรองแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ในวันที่ 5 สิงหาคม 2568 พร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในส่วนกลางจัด ณ โรงเรียนสามโคก จังหวัดปทุมธานี เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรักความสามัคคี และความสัมพันธ์อันดีต่อกันและกัน รวมทั้งเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ ทักษะทางวิชาการลูกเสือให้กับลูกเสือสำรอง อีกทั้งเป็นการให้ลูกเสือทำกิจกรรมร่วมกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ตลอดจนลูกเสือสำรองได้แสดงออกถึงความสามารถทักษะทางการลูกเสือ ซึ่งในปี พ.ศ. 2568 นี้ครบรอบ 67 ปีกิจการลูกเสือสำรองของประเทศไทย
4. รับทราบการจัดพิธีรับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 ประจำปี 2565 และเหรียญลูกเสือยั่งยืน ประจำปี 2566 เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี ประจำปี 2565 ชั้นที่ 2 จำนวน 104 ราย เหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 3 จำนวน 138 ราย และเหรียญลูกเสือยั่งยืน ประจำปี 2566 จำนวน 194 ราย ให้แก่บุคลากรทางการลูกเสือ และผู้ที่มีอุปการคุณต่อการลูกเสือ ตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551 โดยสำนักงานลูกเสือแห่งชาติจะจัดพิธีรับพระราชทานเหรียญลูกเสือดังกล่าวเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม 2568 ณ หอประชุมคุรุสภา โดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่สภานายกสภาลูกเสือไทย เป็นประธานในพิธี
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมฯ รมช.ศธ. ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน
รมช.ศธ. กล่าวว่า จากเหตุการณ์ความขัดแย้งบริเวณชายแดนไทย – กัมพูชา ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ ตลอดจนเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศ คณะกรรมการลูกเสือแห่งชาติขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต และขอเป็นกำลังใจให้แก่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งแสดงความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว
โดยสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ มีค่ายลูกเสือในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และบุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จึงยินดีให้การสนับสนุนโดยนำค่ายลูกเสือมาใช้เป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวสำหรับประชาชนผู้ประสบภัย พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในด้านความปลอดภัย ที่พัก และอาหาร ค่ายลูกเสือแต่ละแห่งสามารถรองรับประชาชนได้ระหว่าง 500 – 2,000 คน ซึ่งจะดำเนินการประสานกับจังหวัดในพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมและทันท่วงทีต่อไป
ทั้งนี้ สำนักงานลูกเสือแห่งชาติได้ร่วมสนับสนุนการบริจาคโลหิต เพื่อสำรองไว้ให้แก่โรงพยาบาลในพื้นที่ชายแดน 4 จังหวัด โดยดำเนินการรับบริจาคโลหิตจากประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดน ซึ่ง รมช.ศธ. ในฐานะคนไทยและในฐานะที่เป็นลูกเสือ ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบริจาคโลหิตในครั้งนี้ด้วย
นอกจากนี้ จากเหตุการณ์พายุ “วิภา” ที่พัดผ่านประเทศไทย ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สิน สำนักงานลูกเสือแห่งชาติได้จัดถุงยังชีพ ส่งต่อไปยังบุคลากรลูกเสือในพื้นที่ในการส่งต่อถุงยังชีพให้ประชาชนที่ได้รับความเดือด พร้อมทั้งช่วยประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่นในการดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด และร่วมกันออกปฏิบัติงานลูกเสือจิตอาสาในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการขนย้ายสิ่งของ ช่วยทำความสะอาดบ้านเรือน และให้กำลังใจแก่ผู้ประสบภัย
“กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ขอยืนหยัดเคียงข้างพี่น้องประชาชนในทุกสถานการณ์ และยินดีแบ่งเบาวิกฤตในครั้งนี้ และพร้อมทั้งจะดำเนินการช่วยเหลือ ฟื้นฟู และสนับสนุน เพื่อให้ประชาชนสามารถก้าวผ่านวิกฤตและกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติได้โดยเร็ว โดยจะบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเครือข่ายลูกเสือในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างเหมาะสม ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ”
อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว-กราฟิก
ณัฐพล สุกไทย / ภาพ