ศธ. ผนึกกำลังภาคีเครือข่าย ร่วมสร้างห้องเรียนแห่งสมรรถนะ ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่

24 กรกฎาคม 2568 / นายปรีดี ภูสีน้ำ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนสร้างห้องเรียนแห่งสมรรถนะ : การจัดการเรียนรู้เชิงรุกด้วยหลากหลายวิธีสู่การทำโครงงานบูรณาการ รุ่นที่ 2 โดยมี นางดารุณี ดงทอง ศึกษาธิการจังหวัดกรุงเทพมหานคร กล่าวรายงาน ณ โรงแรมปริ้นส์ตั้น พาร์ค สวีท กรุงเทพมหานคร

การอบรมฯ ดังกล่าว มีผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 150 คน จัดขึ้นในวันที่ 24 – 25 กรกฎาคม 2568 ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดกรุงเทพมหานคร และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันพัฒนาทักษะ และสมรรถนะให้ครูผู้สอน (ระดับมัธยมศึกษา) จากสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษากรุงเทพมหานคร 78 แห่ง

รองปลัด ศธ. กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่สำหรับการทดลองนวัตกรรมการศึกษา โดยให้อำนาจแก่สถานศึกษาในการบริหารงานได้อย่างอิสระ และจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของชุมชน เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาและสามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามเป้าหมายการศึกษาที่กำหนดไว้ โดยมีหน่วยงานส่วนกลางให้การสนับสนุนทั้งในด้านทรัพยากรและกลไกการหนุนเสริมแก่โรงเรียนในพื้นที่อย่างเหมาะสม ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของพื้นที่

โดยพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นการจัดการศึกษารูปแบบหนึ่งที่นำมาใช้ในการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา จัดการศึกษาให้เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพในแต่ละพื้นที่ มีอิสระในด้านหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การบริหารจัดการสถานศึกษาที่มีความคล่องตัว ตลอดจนการสร้างและพัฒนาการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ อันจะนำไปสู่การยกระดับการจัดการศึกษาของประเทศ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพ การอบรมในวันนี้ ผู้เข้ารับการอบรมทุกท่านจะได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนสร้างเครือข่ายและสนับสนุนการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษากรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นกลไกสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพการการศึกษา ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการอบรมฯ ในครั้งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา โดยเฉพาะครูที่เข้าร่วมการอบรม จะมีความรู้ ความเข้าใจสาระสำคัญและทักษะที่จะได้รับจากวิทยากร ตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพทุกระดับ ตลอดจนสร้างเครือข่ายทางวิชาการ ร่วมกันพัฒนาคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนในสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น”

ศธจ.กทม. / ข้อมูล-ภาพ
อานนท์ วิชานนท์ / เรียบเรียง-กราฟิก