รมว.ตรีนุช ร่วมมือ สธ. เตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียน ภายใต้แนวคิด “ตัดความเสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกัน มุ่งมั่นป้องกันโควิดในสถานศึกษา”

รมว.ตรีนุช ร่วมมือ สธ. เตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียน ภายใต้แนวคิด “ตัดความเสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกัน มุ่งมั่นป้องกันโควิดในสถานศึกษา”
เมื่อวันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน 2564 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แถลงความพร้อมเปิดภาคเรียน และแผนเผชิญเหตุ กรณีป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ในสถานศึกษา ณ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการโดยมีผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ บุคลากรทั้งสองหน่วยงาน ตลอดจนสื่อมวลชน เข้าร่วม
 width=  width=  width=  width=
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดงานแถลงข่าวในครั้งนี้ขึ้น เพื่อต้องการสร้างความมั่นใจให้ผู้ปกครอง นักเรียน ครู บุคลากร และสถานศึกษา ก่อนที่จะมีการเปิดภาคเรียนอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ภายใต้สถานการณ์โควิด 19 โดยได้รับความร่วมมือจาก สธ. ในการออกมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 ตั้งแต่รอบที่ 1 รอบที่ 2 จนถึงรอบที่ 3 ในขณะนี้
กระทรวงศึกษาธิการ พยายามให้มีการจัดการรูปแบบการเรียนรู้ เพื่อที่จะให้ผู้เรียนไม่หยุดกระบวนการเรียนรู้ ถึงแม้ว่าสถานการณ์เช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมและทั่วโลกมาก่อน เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้ได้ ซึ่งได้มีการชี้แจงไปแล้วว่าจะมีการเรียนภายใต้ 5 รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ONLINE, ON-AIR, ON-DEMAND, ON-HAND และ ON-SITE แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาเชื่อว่า การเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ การที่ผู้เรียนและผู้สอนได้มีโอกาสได้ทำกิจกรรมร่วมกัน
สิ่งสำคัญคือ การคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก จึงได้ขอความร่วมมือจากทางกรมอนามัย, ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย, UNICEF และ WHO ในการทำแผนปฏิบัติการเรียนรู้ร่วมกัน ภายใต้ความปลอดภัย และทาง สธ.ได้มีคู่มือการเรียนในรูปแบบ ON-SITE ภายใต้การประเมิน Thai Stop Covid Plus 44 ข้อ ที่โรงเรียนหรือสถานศึกษาต้องดำเนินการ ซึ่ง สธ.ได้เข้าไปช่วยเหลือโรงเรียนให้ทำการประเมินให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น อีกทั้งยังต้องมีการประเมินทั้งครูและนักเรียน ภายใต้แบบประเมิน Thai Save Thai Application โดยมีการกลั่นกรองในหลายรูปแบบ จนกระทั่งมีการอนุญาตให้เปิดการเรียนการสอนภายใต้ 5 รูปแบบดังกล่าว
นอกจากนี้ เพื่อรองรับเหตุการณ์ที่เราอาจไม่คาดคิด ในช่วงของการเปิดภาคเรียน ศธ.จึงได้มีการตั้งศูนย์กลางให้ความช่วยเหลือเฉพาะกิจ โดยมีปลัด ศธ.เป็นประธาน ร่วมกันรับฟังปัญหาจากทุกโรงเรียน ทุกพื้นที่ พร้อมเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งปัญหาในด้านการเรียนการสอนต่าง ๆ ให้มีความปลอดภัยมากที่สุด นอกจากนี้ในเรื่องวัคซีนได้มีการผลักดันมาตลอด เพื่อความปลอดภัยของครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งขณะนี้กำลังทยอยฉีดวัคซีนให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ครบทุกคน
ปลัด ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ศธ.มีความตระหนักต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดใหม่ของโรคโควิด 19 และได้เตรียมการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สถานศึกษาหรือโรงเรียนต่าง ๆ สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามกำหนดการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ตามความเหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยยึดความปลอดภัยของผู้เรียนและผู้สอนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะนักเรียนในโรงเรียนลักษณะประจำพักนอน ซึ่งสถานศึกษาเป็นเสมือนบ้านของนักเรียน ศธ.จึงร่วมกับกรมอนามัย ในการ SWAB นักเรียนในโรงเรียนเหล่านี้ก่อนการเปิดเรียนด้วย
ทั้งนี้ ยังได้เร่งรัดดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี 25 พฤษภาคม 2564 ซึ่งได้เห็นชอบแผนการให้บริการวัคซีนโควิด 19 โดยครูเป็นกลุ่มเป้าหมายแรก ๆ ในการฉีดวัคซีน ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 11 มิถุนายน 2564 ครูทั่วประเทศได้รับวัคซีนแล้ว จำนวน 28,520 คน

ขอบคุณข่าว ศธ.360 องศา

นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
13/6/2564