สกอ.ส่งเสริมระบบสหกิจศึกษาในมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาตอบสนองความต้องการตลาดแรงงาน

           นายสุเมธ  แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา  กล่าวถึงการประชุมสุมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “สหกิจศึกษา :  นโยบาย กลยุทธ์ และการนำไปสู่การปฏิบัติ” ว่า สกอ. ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาอุดมศึกษาไทย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาสมรรถนะบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต  และสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล  ซึ่งเห็นว่าสหกิจศึกษาเป็นแนวทางหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาสมรรถนะบัณฑิต  สกอ.จึงมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาระบบสหกิจศึกษาอย่างต่อเนื่อง  เพื่อให้บัณฑิตมีความสมบูรณ์พร้อม  มีคุณภาพและคุณลักษณะที่ตรงตามความต้องการขององค์กรผู้ใช้บัณฑิต  โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษา  สมาคมสหกิจศึกษาไทย  เครือข่ายเพื่อการพัฒนาอุดมศึกษา  และองค์กรผู้ใช้บัณฑิต ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาคุรภาพการจัดการอุดมศึกษา  รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวมต่อไป

               เลขาธิการ กกอ. กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดประชุมสัมมนาในครั้งนี้ว่า  เพื่อให้ผู้บริหารของสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งทั้งของรัฐและเอกชน  สมาคมสหกิจศึกษาไทย  เครือข่ายเพื่อการพัฒนาอุดมศึกษา  และผู้บริหารหรือผู้แทนจากองค์กรผู้ใช้บัณฑิต  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ได้รับทราบและเข้าใจแนวนโยบายและกลยุทธ์สหกิจศึกษา  รวมทั้งนำไปสู่การปฏิบัติให้ความร่วมมือร่วมดำเนินการ  ส่งเสริม  สนับสนุนตามแนวนโยบาย  กลยุทธ์  และมาตรการหลักของสหกิจศึกษา  ตลอดจนระดมความคิดเห็นในการกำหนดแนวทางเพื่อนำกลยุทธ์สหกิจศึกษาไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผล

               “ในปัจจุบันลักษณะของบัณฑิตที่ตลาดแรงงานต้องการมีความเปลี่ยนแปลงตามสภาวการณ์  ทักษะที่องค์กรผู้ใช้บัณฑิตต้องการให้มีในตัวบัณฑิต  ได้แก่  ความรู้ความสามารถและทักษะวิชาชีพ  การวางแผนการทำงานอย่างมีระบบ  ความรู้ความสามารถในการรับรู้  การตัดสินใจและแก้ปัญหา  มนุษยสัมพันธ์  ความคิดริเริ่ม  ระเบียบ  วินัย  ศีลธรรม  จริยธรรม  การสื่อสาร  การนำเสนอและการเป็นผูนำ  ซึ่งทักษะเหล่านี้จะเรียนรู้และพัมนาได้เมื่อนักศึกษามีโอกาสไปปฏิบัติงานจริงในองค์กรผู้ใช้บัณฑิต  เพราะการเรียนการสอนแต่ในห้องเรียนหรือในห้องปฏิบัติการไม่เพียงพอ  นักศึกษาจำเป็นต้องมีทักษะของงานอาชีพและทักษะด้านพัฒนาตนเอง  ถือเป็นความจำเป็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  ทั้งสถาบันอุดมศึกษาในฐานะผู้ผลิต  องค์กรผู้ใช้บัณฑิตในฐานะผู้ใช้  และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกาในฐานะผู้สนับสนุนด้านนโยบายและทรัพยากรต้องร่วมมือกันเพื่อเร่งสร้างและพัฒนาความรู้ความสามารถของกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของภาคองค์กรผู้ใช้บัณฑิตโดยเร็ว”  เลขาธิการ กกอ. กล่าวในตอนท้าย

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา