จากการประชุม “Jomtien World Conference on Education for All” (1990) ที่ประเทศไทยและ “UNESCO” ร่วมกับสมาชิกของแต่ละประเทศประกาศเป้าหมาย “Education for All” ภายในปี ค.ศ.2015 การจัดการศึกษาเป็นไปในรูปแบบที่เหมาะสมกับผู้เรียน ไม่แบ่งแยกว่าเป็นเด็กพิการ ต่างเชื้อชาติ ศาสนา เด็กชาวเขา เด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล รวมทั้งเด็กด้อยโอกาสอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อให้เด็กในวัยเรียนทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานตามความเหมาะสม และจากรายงานการสำรวจคนพิการ พ.ศ.2544 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ 2544) พบว่า ปัจจุบันเด็กพิการไทยได้รับโอกาสทางการศึกษาในระบบโรงเรียนทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนรวมทั้งได้รับการพัฒนาศักยภาพ โดยศูนย์การศึกษาพิเศษ จำนวน 0.21 ล้านคน จากจำนวนคนพิการในวัยเรียน 1.54 ล้านคน หรือร้อยละ 13.49 และอีกร้อยละ 86.51 (1.33 ล้านคน) ยังไม่ได้รับการศึกษาในระบบ จากข้อมูลข้างต้นชี้ให้เห็นว่า ระบบการศึกษาของไทยมีอะไรที่ต้องปรับ หรือต้องทำอีกมากมายเพื่อให้เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยได้รับโอกาสทางการศึกษา
นักการศึกษาหลายๆ ท่านต่างเห็นพ้องกันว่าการศึกษาของไทยควรได้รับการปฏิรูปอย่างจริงจังเพื่อให้การจัดการศึกษาของชาติตรงกับความจำเป็นพิเศษของเด็กแต่ละคนและสำหรับทุกคน เพื่อให้มั่นใจได้ว่า “Education for All” หมายถึง การศึกษาสำหรับทุกคนจริง (For All) The Salamanca Statement and Framework for Action on Special Needs Educstion (1994) สนับสนุนให้ใช้แนวทางการจัดการเรียนรวม (Inclusive Education) บริการทางการศึกษากับเด็กทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีความจำเป็นพิเศษ ประเทศไทยโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการประกาศนโยบายส่งเสริมให้โรงเรียนทั้งไปส่งเสริมการจัดการศึกษาในรูปแบบเรียนรวม โดยจัดโครงการโรงเรียนแกนนำจัดการเรียนร่วม
หากเราลองตั้งคำถามกับการจัดการศึกษาในประเทศของเราว่า “ระบบโรงเรียนมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อความพร้อมสำหรับการเรียนรวมอย่างแท้จริงหรือไม่? โรงเรียนทั่วไปรับเด็กเข้าศึกษาทุกคนโดยไม่แบ่งแยกหรือไม่ ? ครูที่สอนในโรงเรียนทั่วไปได้รับการฝึกปรือให้มีความสามารถสอนนักเรียนที่มีความจำเป็นพิเศษแล้วหรือไม่ ? โรงเรียนมีสื่อ สิ่งอำนวยความสะดวก เทคโนโลยี และการบริการตามความจำเป็นพิเศษที่จะช่วยให้เด็กทุกคนเข้าถึงบริการทางการศึกษาหรือไม่ ?
คำตอบสำหรับคำถามข้างต้นนี้คงทำให้เราต้องถามหาเหตุผล ว่าทำไม่เป้าหมายของ “Education for All” ยังไปไม่ถึงไหน มีอะไรที่เราต้องทำก่อนหลัง? ซึ่งพอสรุปปัจจัยสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดการเรียนรวม และการเดินทางไปสู่เป้าหมาย “Education for All” ภายในปี ค.ศ.2015 ได้ 2 ปัจจัย ดังนี้
- ทัศนคติต่อบุคคลพิการ
ก่อนอื่นขอให้ท่านลองนึกภาพของคุณแม่ที่กำลังพาลูกน้อยวัย 6 – 7 ขวบ ที่ตาบอดไปสมัครเข้าโรงเรียนใกล้บ้าน เพื่อพยายามให้ลูกของเธอได้เข้าโรงเรียนเช่นเดียวกับลูกของเพื่อนบ้านของเธอ และอะไรที่คุณแม่ของเด็กน้อยต้องรอ “เราไม่สามารรับลูกของคุณได้ เนื่องจากเราไม่มีครู ไม่มีอุปกรณ์ห้องเรียนของเรามีเด็กมากแล้ว เราไม่รู้ว่าจะสอนเด็กตาบอดอย่างไร โรงเรียนเราไม่มีครูการศึกษาพิเศษจะดีกว่าไหม!! ถ้าส่งลูกของคุณแม่ไปปรึกษาศูนย์การศึกษาพิเศษ หรือไปเข้าเรียนที่โรงเรียนสอนคนตาบอด…..” คุณแม่ของเด็กตาบอดท่านนั้นอาจพยายามลองพาลูกไปสมัครโรงเรียนอื่นอีก ท่านคงเดาได้ว่าเหตุการณ์ก็คงจะเหมือนกับโรงเรียนแรกที่ไปมาแล้ว และในที่สุดคุณแม่ก็ถอดใจยอมแพ้…
ตรงนี้เราคงเข้าใจว่าทำไมผู้ปกครองถึงไม่อยากพาลูกที่พิการไปโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นการที่ต้องเผชิญกับการปฏิเสธ การถูกตราหน้า ความรู้สึกอดสูเด็กกลายเป็นเด็กพิเศษ ซึ่งเสมือนเป็นอีกชนชั้นหนึ่ง
บุคคลที่มีความพิการยังคงต้องเผชิญกับแรงผลักดันจากคนส่วนใหญ่ที่ยังมีทัศนคติที่แบ่งแยกหรือการกีดกันผู้ที่มีความพิการอยู่ ความพยายามในการแข่งขันของบุคคลที่มีความพิการ กับบุคคลที่เรียกว่า “บุคคลปกติ” ดูเหมือนว่าไม่มีความหมายอะไรเลยเมื่อเป้าหมายของากรศึกษา คือ การได้ทำงานที่มีรายได้ดี และมั่นคง ดังนั้นแม้แต่คนปกติยังไม่ได้งานทำ แล้วทำไมคนพิการถึงควรจะได้งานทำด้วย ! เนื่องจากคนพิการได้ถูกทึกทักเอาว่า เป็นบุคคลที่ไม่สามารถแข่งขันได้ ถึงแม้ว่าคนพิการผู้นั้นไม่สามารถจบการศึกษาจนเป็นที่ประทับใจของผู้ที่รับรู้ แต่เขาก็ยังถูกประเมินว่า ยังไม่เหมาะกับงานอยู่ดี
การทำงานกับคนพิการยังคงถูกมองว่าเป็นเรื่องของการกุศล ไม่ใช่เรื่องของสิทธิของความเป็นมนุษย์ คนพิการยังคงเป็นเหยื่อของสัญชาตญาณของการกุศล (Charitable instincts) ของผู้ที่มีแรงผลักดันทางใจที่ต้องการแสดงออกถึงการกระทำที่ดีของตน “Good deeds” ทัศนคติเหล่านี้ยังคงมีอยู่อย่างดาษดื่นในนักการศึกษา และบุคคลทั่วไป สิทธิของคนที่เกิดมาพิการยังคงถูกเพิกเฉยอยู่ต่อไป เราควรหันกลับมานำแนวทางการจัดการศึกษา หรือการปฏิบัติต่อคนพิการโดยใช้หลักการของสิทธิของความเป็นมนุษย์ (Human Rights Approach) - ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับ “Inclusive Education”
ถ้าต้องการให้การศึกษาสำหรับเด็กพิการเจริญก้าวหน้า เราต้องทำให้การเรียนร่วม/การเรียนรวมเป็นการเรียนร่วมหรือการเรียนรวมอย่างแท้จริง
การเรียนรวมเป็นเรื่องที่มากกว่าการนำเด็กพิการเข้าเรียนในชั้นเรียนปกติ มิใช่การเตรียมความพร้อมเด็กพิการให้สามารถอยู่ในโรงเรียนปกติได้เท่านั้น แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการช่วยให้โรงเรียนและคุณครูสามารถจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมสำหรับเด็กนักเรียนแต่ละคนซึ่งมีความแตกต่างและมีความต้องการจำเป็นพิเศษที่เฉพาะแต่ละคนการปรับนโยบายของโรงเรียน มีระบบการช่วยเหลือมีสื่อเทคโนโลยีที่ช่วยให้นักเรียนทุกคนเข้าถึงการศึกษา รวมทั้งมีการปรับสภาพแวดล้อม ห้องเรียนให้เป็นสถานที่ที่นักเรียนทุกคนได้เรียนรู้สิ่งที่เป็นจุดเด่นและจุดอ่อนซึ่งกันและกันได้ มันจึงไม่ใช่การศึกษาพิเศษ แต่ควรเป็นการศึกษาที่ดีกว่าสำหรับทุกคน (Education for All) นอกจากนั้นการเรียนรวม/ร่วมจึงไม่ใช่เรื่องเฉพาะการศึกษาพิเศษ แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสามารถในการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมทางการศึกษา และในขณะเดียวกันต้องตระหนักถึงความแตกต่างของแต่ละบุคคล และเข้าใจในความแตกต่างเหล่านั้น ที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ และการดำรงชีวิตของเด็ก
แนวทางไปสู่ “Education for All”
- ถ้าเราต้องการแนวทางการจัดการศึกษาที่ดีให้ทุกคนได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพของตน “Education for All” ควรเข้าไปอยู่ในทุกสถาบัน หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษา โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาที่ผลิตครู ถ้าเราสามารถทำให้ครูใหม่ทุกคนมีทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับคนพิการ และมีทักษะ ประสบการณ์พื้นฐานเกี่ยวกับการเรียนการสอนเด็กพิการ คุณครูสายเลือดใหม่ เหล่านี้ก็จะสามารถถ่ายโยงสิ่งที่เรียนรู้มาให้กับนักเรียนของตนพร้อมกับผู้ปกครองของเด็กพิการด้วย แล้วเราลองคิดดูว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบางในปี ค.ศ.2015 หรือ พ.ศ.2558
- “ครูการศึกษาพิเศษ” ควรได้รับการพัฒนาให้สามารถแสดงบทบาทในการช่วยเหลือครูสอนในโรงเรียนทั่วไปให้สามารถจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับเด็กพิการแต่ละคน พวกเขาควรเป็นที่ปรึกษาที่ดีและมีความสามารถ ไม่ใช่เป็นครูที่เข้ามาจัดการเรียนการสอนแทนครูในโรงเรียนทั่วไปเสียเอง
- ควรส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยในเรื่อง “แนวทาง หรือรูปแบบในการจัดการเรียนรวม” เราจะสามารถสอนเด็กที่มีความพิการและเด็กทั่วไปในชั้นเรียนในเวลาเดียวกันได้อย่างไร ? นอกจากนี้เราจำเป็นต้องพัฒนาเครื่องมือ สื่อการเรียนการสอนที่สามารถใช้ได้ทั้งเด็กพิการและเด็กปกติ ที่มีราคาถูกและใช้วัสดุในท้องถิ่น
- ส่งเสริมการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีในโรงเรียนการศึกษาพิเศษ และเพิ่มโรงเรียนการศึกษาพิเศษ ทั้งนี้มิได้เป็นการสวนทางกับนโยบายการเรียนรวมแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นการศึกษาทางเลือกที่เด็กทุกคนเกิดมาย่อมมีสิทธิทางการศึกษา เราคงยอมรับว่านักเรียนทุกคนไม่สามารถเข้าเรียนโรงเรียนที่มีชื่อเสียงเฉกเช่นโรงเรียนเตรียมอุดมได้ แต่นักเรียนสามารถเลือกโรงเรียนที่เหมาะสมกับตนเองได้ เช่นเดียวกัน คงมีเด็กพิการบางคน (หรือว่าส่วนใหญ่?) ไม่สามารถเข้าเรียนในระบบเรียนรวมได้ ก็ยังคงต้องเลือกเรียนในโรงเรียนเฉพาะความพิการที่สามารถจัดการศึกษาได้ตรงกับความจำเป็นพิเศษของตนเองได้
- อีกหนึ่งแนวทางที่จะนำไปสู่เป้าหมาย “Education for All” คือ การส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งที่มีโปรแกรมการศึกษาพิเศษเปิดโรงเรียนเฉพาะความพิการ เฉกเช่นโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย เพื่อเป็นแหล่งสร้างองค์ความรู้ด้านการศึกษาพิเศษ รวมทั้งเป็นห้องเรียนวิจัยสำหรับอาจารย์ นิสิตนักศึกษาต่อไป
“Inclusive, integrated, residential schools, special schoolsm special classes in the public schools, Community Based rehabilitation are all good choices for different strdents. Not any would be enough for all the children. If everyone had to eat the same food, there would be only Noodle sellers on the streets of Bangkok and no other restaurant would be needed…, Mcdonalds, Chainese restaurants,….” (Cafer Bacus, 2006)