แผนงานด้านการศึกษา – อาเซียน
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)
The Association of South East Asian Nations (ASEAN)
แผนงานด้านการศึกษา
แผนงานด้านการศึกษาของอาเซียน
ประเทศสมาชิกอาเซียนดำเนินงานด้านการศึกษาตามกรอบความร่วมมือด้านการศึกษาตามแผนงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. แผนงานด้านการศึกษาของอาเซียน พ.ศ. 2564 – 2568
การดำเนินความร่วมมือด้านการศึกษาภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียนตามแผนงานด้านการศึกษาของอาเซียน พ.ศ. 2564 – 2568 (ระยะ 5 ปี) ประกอบด้วย 5 ผลลัพธ์ (Outcome) 12 ผลผลิต (Output) 40 กิจกรรม โดยมีผลลัพธ์ ดังนี้
ผลลัพธ์ที่ 1 มีการพัฒนาด้านความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียน รวมถึงแนวปฏิบัติด้านการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
ผลลัพธ์ที่ 2 มีการเพิ่มขีดความสามารถในระดับภูมิภาคในการส่งเสริมและการประกันการเข้าถึงการศึกษาเพื่อการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สำหรับเด็กหญิงและเด็กชาย รวมถึงเด็กและเยาวชนที่ตกหล่น
ผลลัพธ์ที่ 3 มีการเพิ่มขีดความสามารถในระดับภูมิภาคด้านการอุดมศึกษาในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมถึงการสร้างความกลมกลืนด้านการอุดมศึกษาในอาเซียน
ผลลัพธ์ที่ 4 มีการส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาและฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป
ผลลัพธ์ที่ 5 มีการดำเนินการตามแผนงานด้านการศึกษาของอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพโดยปรับปรุงการประสานงาน การจัดการความรู้และระบบติดตามและประเมินผล
2. แผนปฏิบัติการอาเซียนบวกสามด้านการศึกษา พ.ศ. 2561 – 2568
กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ จุดเน้นการพัฒนา ตลอดจนนวัตกรรมทางการศึกษาที่สมาชิกอาเซียนบวกสามให้ความสนใจ อาทิ การจัดทุนการศึกษา การแลกเปลี่ยน การร่วมมือกับภาคเอกชนและประชาสังคม ในการจัดการศึกษา และการอุดหนุนทางการศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา โดยมีการแบ่งกลุ่มความร่วมมือเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
1) การศึกษาขั้นพื้นฐาน
- การส่งเสริมการจัดการศึกษาที่ครอบคลุมและการเรียนร่วม
- การพัฒนาคุณภาพครู ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา
- การพัฒนายุทธศาสตร์การศึกษาโดยระบบดิจิทัล
2) การอาชีวศึกษา
- การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการประกัดคุณภาพการอาชีวศึกษา
- การพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษา-รัฐบาลและภาคอุตสาหกรรม เพื่อผลิตกำลังคนให้พร้อมรองรับการเป็นอุตสาหกรรม 4.0
- การเสริมสร้างภาพลักษณ์การอาชีวศึกษา
3) การอุดมศึกษา
- การส่งเสริมการเคลื่อนย้ายนักศึกษา
- การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย-ภาคอุตสาหกรรม-ชุมชนเพื่อพัฒนาชุมชน
- การส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
- การเสริมสร้างความเข้มแข็งระหว่างสถาบันเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายและพัฒนาการวิจัยและพัฒนาระหว่างกัน
4) ประเด็นข้ามสาขา
- การเสริมสร้างศักยภาพผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกัน
- การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างรัฐบาล-ภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม
- การพัฒนารูปแบบการแลกเปลี่ยนเพื่อยกระดับความร่วมมือในทุกระดับ
3. แผนการดำเนินงานของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกเพื่อต่อยอดการดำเนินการตามปฏิญญา กรุงพนมเปญว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการพัฒนาภายใต้การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก พ.ศ. 2567-2571
แผนการดำเนินงานของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกเพื่อต่อยอดการดำเนินการตามปฏิญญากรุงพนมเปญว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการพัฒนาภายใต้การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก พ.ศ. 2567-2571 (The East Asia Summit Plan of Action (2024-2028) to Advance the Phnom Penh Declaration on the East Asia Summit Development Initiative) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการประสานงาน ความร่วมมือ และการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม ตามแถลงการณ์ ปฏิญญา ข้อตัดสินใจ และข้อริเริ่มของผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก และแผนการดำเนินงานฉบับนี้ทดแทนแผนปฏิบัติการมะนิลา เพื่อต่อยอดการดำเนินการตามปฏิญญากรุงพนมเปญว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการพัฒนาภายใต้การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก พ.ศ. 2561 – 2565 ซึ่งขยายเวลาไปถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566
นอกจากนี้ แผนดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ผลประโยชน์ร่วมกันความเคารพซึ่งกันและกัน และความเชื่อมั่น เสริมสร้างการหารือและความร่วมมือ ตลอดจนเสริมสร้างสถาปัตยกรรมระดับภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเปิดกว้าง โปร่งใส และครอบคลุม โดยยึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ โดยมีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง รวมถึงการให้ความสำคัญแก่มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก
แนวทางการดำเนินงานด้านการศึกษา
- พัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) ผ่านการจัดการศึกษา พัฒนากลไก และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อยกระดับความรู้ ทักษะ และความสามารถ เพิ่มพูนโอกาสในการเรียนรู้ เสริมสร้าง ประสบการณ์ของผู้เรียน ให้ได้รับการพัฒนาตามความต้องการของตลาดแรงงานในยุคดิจิทัล
- ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามมาตรฐานการดูแล พัฒนา และจัดการศึกษา เพื่อเด็กปฐมวัยของอาเซียน อย่างมีคุณภาพ (ASEAN Early Childhood Care, Development and Education Quality Standards) เพื่อให้มั่นใจได้ว่า life cycle ของประชาชนอาเซียนได้รับการดูแลอย่างครอบคลุมตลอดช่วงชีวิต
- สนับสนุนการขับเคลื่อนงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (National Qualifications Framework) และการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (ASEAN Qualifications Reference Framework) เพื่อเป็นกลไก อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายกำลังคนในภูมิภาค
- สนับสนุนการพัฒนาและเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลด้านการประกันคุณภาพและผู้ประเมินระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อเป็นกลไกอำนวยความสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายผู้เรียนและบุคลากรทางการศึกษาในภูมิภาค
- สนับสนุนการดำเนินการตาม ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับ โลกทีเปลี่ยนแปลง ไปของงาน (ASEAN Declaration on Human Resources Development for the Changing World of Work) และการดำเนินงานของ ASEAN TVET Council
- ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้กรอบการประกันคุณภาพของอาเซียน (ASEAN Quality Assurance Framework: AQAF) เป็นเครื่องมือควบคุมคุณภาพในการจัดการศึกษาและการอ้างอิงคุณสมบัติผู้เรียน
- ผลักดันการดำเนินงานตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ตกหล่น (ASEAN Declaration on Strengthening Education for Out-of-School Children and Youth – OOSCY) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสนับสนุนการสร้างโอกาส ในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม (equity) สำหรับเด็กและเยาวชนของอาเซียน
- ผลักดันการดำเนินงานตามปฏิญญากรุงเทพฯว่าด้วยการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางการศึกษาเพื่อบรรลุเป้าหมายตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน (Bangkok Declaration on Advancing Partnership in Education for 2030 Agenda for Sustainable Development in ASEAN) เพื่อการศึกษาที่มีคุณภาพ อย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
- ผนึกกำลังและสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งระหว่างสถานศึกษาและสถาบันการศึกษาในอาเซียน
- ส่งเสริมการดำเนินการการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยในอาเซียน
- ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักศึกษาภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียนและอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา
- ส่งเสริมและสร้างเครือข่ายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในอาเซียน
ประเด็นที่อาเซียนให้ความสำคัญในยุคหลังปี 2563
- การบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับองค์กรรายสาขาหน่วยงานระดับภูมิภาคและองค์กรรายประเทศ โดยเฉพาะซีมีโอ
- การทำงานที่เชื่อมโยงและสอดประสานกันในหลากหลายสาขา
- การให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในทุกระดับ และการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้เป็นต้นทุนที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศ
- การพัฒนาทักษะเพื่อรองรับต่องานในอนาคต
- งานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรืองานสีเขียว (Green Job)
- การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลกับการศึกษา
การยกระดับความร่วมมือด้านการศึกษากับประเทศสมาชิกอาเซียน
รัฐมนตรีศึกษาอาเซียนเห็นพ้องให้ประเทศสมาชิก “ยกระดับความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งมีประเด็นที่เห็นควรให้ความสำคัญในลำดับต้น ดังนี้
- การพัฒนาศักยภาพกำลังคนให้พร้อมรับมือกับสังคมอุตสาหกรรม 4.0
รัฐมนตรีศึกษาอาเซียนเห็นพ้องว่าเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปัญญาประดิษฐ์ และ big data ส่งผลกระทบสำคัญต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่และการดำรงชีวิตในปัจจุบันทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น เพื่อพัฒนากำลังคนให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และพร้อมใช้ประโยชน์จากพลวัตเหล่านี้ ประเทศสมาชิกจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะทางด้านวิชาการ (hard skill) ควบคู่ไปกับทักษะการใช้ชีวิต (soft skill) โดยระลึกไว้ว่าการพัฒนา ควรดำเนินไปอย่าง มีสมดุลเพื่อประโยชน์โดยรวมของมวลมนุษยชาติ
- การกระจายทรัพยากรทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
พัฒนาการทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างรวดเร็วนำมาซึ่งการขยายตัวของช่องว่างการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียม (inequity in development) ทั้งนี้ รัฐมนตรีศึกษาอาเซียนเห็นพ้องกับรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงศึกษาธิการไทยถึงความจำเป็นในการกระจายและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อให้เกิดการพัฒนาการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยี สารสนเทศ และการสื่อสารเป็นเครื่องมือเสริมสร้างการเข้าถึงทางการศึกษาเพื่อลดอุปสรรคในการเรียนรู้ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงทางการศึกษา
- การพัฒนาครู
รัฐมนตรีศึกษาอาเซียนเห็นว่าการพัฒนาครูมีบทบาทสำคัญยิ่งในการพัฒนาการศึกษาเนื่องจากครูเป็นผู้ส่งผ่านองค์ความรู้ไปยังผู้เรียนเพื่อให้เกิดการพัฒนา ดังนั้น จึงเห็นควรให้ความสำคัญกับการคัดเลือกครู การพัฒนาครูให้มีความรู้พร้อม และการรักษาครูไว้ในระบบ
- การประสานความร่วมมือด้านการศึกษาในกรอบความร่วมมือนานาชาติและภูมิภาค
ปัจจุบันมีกรอบความร่วมมือนานาชาติทั้งในระดับโลกและภูมิภาคมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษา ดังนั้นการประสานความร่วมมือและการเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีของประเทศสมาชิกของแต่ละองค์กรจะช่วยเติมเต็มองค์ความรู้อันจะสนับสนุนการลดอุปสรรคทางการศึกษาและเสริมสร้างให้เกิดความเข้มแข็งทางการศึกษาได้มากขึ้น จึงเห็นควรที่ประเทศสมาชิกจะสนับสนุนการดำเนินการอย่างบูรณาการขององค์การนานาชาติที่สนับสนุนการพัฒนาการศึกษาดังกล่าว
- การพัฒนากลไกการประเมินผลการพัฒนาการศึกษาในภูมิภาค
ภายหลังจากที่ดำเนินการมาระยะเวลาหนึ่งรัฐมนตรีศึกษาอาเซียนเล็งเห็นถึงความสำคัญของการประเมินผลการดำเนินการตามแผนงานด้านการศึกษาของอาเซียน พ.ศ. 2559 – 2563 และเห็นควรให้มีการประเมิน ผลการดำเนินการเพื่อวางแนวทางการจัดกิจกรรมให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
การดำเนินงานที่สำคัญ
- การจัดตั้งสภาการเทคนิคอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมแห่งอาเซียน (ASEAN TVET Council : ATC) ซึ่งองค์ประกอบของสภาการเทคนิค ฯ จะประกอบผู้แทนจาก 3 สาขาที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านแรงงานอาเซียน -SLOM / เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาอาเซียน -SOMED และ เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน -SEOM
- สำนักเลขาธิการอาเซียนได้จัดทำแผนงานด้านการศึกษาของอาเซียน พ.ศ. 2564 – 2568 ประกอบด้วย 5 ผลลัพธ์ (Outcome) 12 ผลผลิต (Output) 40 กิจกรรม โดยมีผลลัพธ์ ดังนี้
ผลลัพธ์ที่ 1 มีการพัฒนาด้านความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียน รวมถึงแนวปฏิบัติด้านการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
ผลลัพธ์ที่ 2 มีการเพิ่มขีดความสามารถในระดับภูมิภาคในการส่งเสริมและการประกันการเข้าถึงการศึกษาเพื่อการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สำหรับเด็กหญิงและเด็กชาย รวมถึงเด็กและเยาวชนที่ตกหล่น
ผลลัพธ์ที่ 3 มีการเพิ่มขีดความสามารถในระดับภูมิภาคด้านการอุดมศึกษาในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมถึงการสร้างความกลมกลืนด้านการอุดมศึกษาในอาเซียน
ผลลัพธ์ที่ 4 มีการส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาและฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป
ผลลัพธ์ที่ 5 มีการดำเนินการตามแผนงานด้านการศึกษาของอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพโดยปรับปรุงการประสานงาน การจัดการความรู้และระบบติดตามและประเมินผล