6 ยุทธศาสตร์ชาติ

ศธ.ติดตามโครงการโรงเรียนคุณธรรมที่พระนครศรีอยุธยา




นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ย้ำในการตรวจเยี่ยมโรงเรียนคุณธรรม 2 แห่งที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต้องผลักดันโครงการและทิศทางของโรงเรียนให้สอดคล้องกับกรอบ 6 ยุทธศาสตร์ชาติ ที่เน้นความมั่นคง ความสามารถในการแข่งขัน การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ การลดความเหลื่อมล้ำ การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ละการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ



เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม 2559  ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี พร้อมด้วย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายพะโยม ชิณวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งคณะผู้บริหารจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และมูลนิธิยุวสถิรคุณ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณธรรม และโรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริ ที่โรงเรียนมาลาอีสงเคราะห์ อำเภอลาดบัวหลวง และโรงเรียนเจ้าฟ้าสร้าง อำเภอบางปะอิน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 2 โดยมีนายพิสิทธิ์ สุขสาลี ผู้อำนวยการโรงเรียนมาลาอีสงเคราะห์ และนายไพศาล ราตรี ผู้อำนวยการโรงเรียนเจ้าฟ้าสร้าง ร่วมให้การต้อนรับและรายงานผลการดำเนินงานของโรงเรียน



นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวว่า ต้องการมาตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานตามโครงการโรงเรียนคุณธรรม และโรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริที่โรงเรียนทั้งสองแห่ง เนื่องจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีนโยบายสนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงศาสนสถานและโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศที่ก่อสร้างมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งในส่วนของโรงเรียนที่จะให้การสนับสนุนในห้วงเวลานี้มี 4 โรงเรียน คือ โรงเรียนวไลย และโรงเรียนอานันท์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และโรงเรียนมาลาอีสงเคราะห์ และโรงเรียนเจ้าฟ้าสร้าง จ.พระนครศรีอยุธยา


จากการตรวจเยี่ยม เห็นว่าผู้บริหารและครูเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพ แม้โรงเรียนทั้งสองแห่งจะเป็นโรงเรียนที่มีขนาดเล็ก ๆ มีจำนวนนักเรียนเพียงโรงเรียนละ 100 กว่าคนเท่านั้น แต่ก็สามารถพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนจนทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งส่วนสำคัญอีกประการคือความต่อเนื่องในการบริหารงานของผู้บริหารโรงเรียน


อย่างไรก็ตาม ได้เน้นย้ำให้โรงเรียนให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยนอกจากสำนักงานทรัพย์สินฯ ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงก่อสร้างอาคารเรียนและบ้านพักครูแล้ว ยังมีมูลนิธิยุวสถิรคุณที่พร้อมจะให้การสนับสนุนหลักสูตรและแอพพลิเคชั่นในการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของนักเรียน รวมทั้งโครงการครูคืนถิ่นที่จะมีเข้ามาช่วยการเรียนการสอนภาษาอังกฤษต่อไปด้วย


สิ่งสำคัญที่ได้ให้โรงเรียนทั้งสองแห่ง รวมทั้งหน่วยงานทางการศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการต่อไป คือ วางแผนบริหารจัดการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ซึ่งจะได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฯ ด้วยว่า รัฐบาลชุดต่อไปที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาต่าง ๆ (มาตรา 142) และจัดทำนโยบายที่จะแถลงต่อรัฐสภาให้สอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ (มาตรา 162) ซึ่งเท่ากับว่ายุทธศาสตร์ชาติจะเป็นกรอบอย่างหนึ่งในการจัดทำนโยบายและการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลชุดต่อ ๆ ไป



สำหรับแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาตินั้น โรงเรียนและหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัด จะต้องวางแผนงานโครงการให้รองรับกรอบยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน คือ 1) ความมั่นคง 2) การสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3) การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ 4) การสร้างโอกาสความเสมอภาคและการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม 5) การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 6) การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ


ยืนยันว่าจากนี้ไปกระทรวงศึกษาธิการจะให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยแนวทางของทุกโรงเรียนและหน่วยงานสามารถบริหารจัดการและมีทิศทางดำเนินงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติได้ ตัวอย่างเช่น




  • โรงเรียนมาลาอีสงเคราะห์  เป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในชุมชนมุสลิมมาหลายร้อยปี ก่อนตั้งกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวง แม้ชุมชนจะมีฐานะไม่ดีเช่นชุมชนอื่น ๆ แต่ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนที่มีความสงบ สันติ มีผลดำเนินงานด้วยคุณภาพที่สามารถผลักดันให้เป็นโรงเรียนตัวอย่างเรื่อง “ความมั่นคง” ตามยุทธศาสตร์ชาติได้ เพราะเป็นการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และข้ามพรมแดนทางศาสนา เป็นต้น



  • โรงเรียนเจ้าฟ้าสร้าง  มีหลายโครงการที่มีผลดำเนินงานสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติได้ คือ การจัดทำ 6 โครงงานในการส่งเสริมโครงการโรงเรียนคุณธรรม เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านปลูกผักสวนครัวเพื่ออาหารกลางวัน ด้านเลี้ยงไก่ไข่  ด้านจิตอาสา โครงการวินัยในตนเอง และโครงงานมารยาทไทย ก็สามารถตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติเรื่อง “การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ “การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์” หรือการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารเทศที่ทันสมัยของโรงเรียน ก็สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในเรื่อง การสร้างความสามารถในการแข่งขัน” ได้อีกด้วย นอกจากนี้ โรงเรียนเจ้าฟ้าสร้าง ซึ่งได้รับพระราชทานในการก่อตั้งโรงเรียนและเป็นโรงเรียนตามโครงการในพระดำริเพียงแห่งเดียวในพระนครศรีอยุธยา ซึ่งนอกจากจะต้องพัฒนาโรงเรียนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติแล้ว จะต้องได้รับการส่งเสริมและพัฒนาโรงเรียนอย่างต่อเนื่องให้เป็น “ราชานุสรณ์” ขนาดย่อมให้ได้



ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย กล่าวว่า โรงเรียนมาลาอีสงเคราะห์ เป็นโรงเรียนที่เกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ 9 โดยเป็น 1 ใน 154 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการกองทุนการศึกษา และโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนเล็ก ๆ
ที่พัฒนาการเรียนการสอนจนมีคุณภาพมาก และมีผลสัมฤทธิ์ทางการสอน เช่น ผลการสอบ O-NET จากเดิมที่ตกต่ำอันดับท้าย ๆ ให้มีผลคะแนนสูงขึ้นทั้ง 6 กลุ่มสาระ และมีส่วนสำคัญต่อการเข้าไปช่วยพัฒนาสถาบันศึกษาปอเนาะ 2 แห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ สถาบันศึกษาปอเนาะมูโนะและบูเก๊ะตา ให้มีคุณภาพจนเป็นที่ยอมรับของพื้นที่ แม้กระทั่งมาเลเซียต้องมาศึกษาดูงาน เพราะตามปกติผู้มีฐานะในพื้นที่ดังกล่าวจะส่งลูกหลานไปเรียนที่มาเลเซีย แต่สถาบันทั้งสองแห่งดังกล่าวกลับมีผู้ปกครองส่งเด็ก ๆ เข้ามาเรียนเป็นจำนวนมาก จึงขอให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ช่วยทำความดีให้โรงเรียนมาลาอีสงเคราะห์ ได้โปรดภูมิใจและพร้อมจะสนับสนุนโรงเรียนในด้านต่าง ๆ เช่น การจัดหาหลักสูตรที่เหมาะสมเข้ามาช่วยสนับสนุนการเรียนการสอน และการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เคยทรงรับสั่งให้ดูแลครู เพื่อให้ครูมีที่อยู่ที่กินดีพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปรุงก่อสร้างบ้านพักครูให้มีสภาพที่ดีตามสมควร ไม่ใช่เป็นบ้านพักที่ทรุดโทรม สำหรับโรงเรียนเจ้าฟ้าสร้าง ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานทรัพย์สินฯ และมูลนิธิยุวสถิรคุณ มาอย่างต่อเนื่องแล้วเช่นกัน


จึงได้ย้ำให้โรงเรียนทั้ง 2 แห่ง พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เช่น การขาดครูบางกลุ่มสาระ โดยอาจจะจับกลุ่มกับโรงเรียนใกล้เคียงช่วยกันสอนร่วมกันได้ และพยายามหาเด็กที่เก่งและดี แล้วส่งเสริมให้เข้าไปเรียนครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เพื่อให้กลับเข้ามาเป็นครูดี ๆ ประจำโรงเรียนและชุมชนของเรา ที่สำคัญอีกประการคือหลักสูตรที่ผ่านมามีความบกพร่องมาก เพราะไม่ไปสนใจพ่อแม่เด็กเลย แต่หากเราสอนเด็กนักเรียนของเราให้เรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ร่วมกับชาวบ้านได้ เราก็จะมีชาวนา ชาวสวน หรือชาวไร่ที่เก่ง ๆ มากขึ้น เพราะเด็กเหล่านี้สามารถนำความรู้จากโรงเรียนไปทำเองที่บ้านได้ หรือนำความรู้ไปช่วยพ่อแม่ทำงานได้ ซึ่งความหมายก็คือ อย่าคิดว่าเลี้ยงไก่ แล้วเหม็นขี้ไก่ แต่จะเอาไข่ไก่มากิน ดังนั้น หากอยากกินไข่ไก่ ต้องยอมรับว่าต้องเหม็นขี้ไก่อย่างแน่นอน



บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
11/12/2559