รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มีผลการดำเนินงานเป็นที่ประจักษ์ สร้างเยาวชนที่มีคุณภาพให้ประเทศ ทั้งในเรื่องของความสำเร็จในการประเมินคุณภาพการศึกษานานาชาติ PISA, การเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ, ผลงานโครงการของนักเรียนที่จดอนุสิทธิบัตร เป็นต้น จึงเป็นโอกาสดีที่จะต่อยอดการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม จึงขอให้สานต่อการดำเนินงานและยกระดับโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยทั่วประเทศ ให้มีคุณภาพอย่างยั่งยืน รวมถึงเตรียมแนวทางการพัฒนาเด็กนักเรียนที่มีความเป็นเลิศ เพื่อให้เด็กเหล่านี้เข้ามีส่วนร่วมในการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศในอนาคต
“โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ และแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า สามารถเป็นตัวอย่างให้โรงเรียนอื่น ๆ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการได้ หากเราสามารถนำต้นแบบนี้ไปพัฒนาสถานศึกษาอื่น ๆ ทั่วประเทศ หรือสนับสนุนให้สถานศึกษาที่มีความเป็นเลิศ ดูแลและให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งแบ่งปันทรัพยากรด้านการศึกษา ตลอดจนสื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอนต่าง ๆ ร่วมกันกับโรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียง ก็จะส่งผลให้โรงเรียนในพื้นที่นั้น มีคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้นด้วย ทั้งนี้ ขอขอบคุณหน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ที่ร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาการศึกษา สร้างเยาวชนที่มีความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับประเทศ” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
ปัจจุบัน โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตั้งอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ตามภูมิภาคของประเทศไทย จำนวน 12 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง และโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สตูล