เมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2563 เวลา 09.00 น. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมนำเสนอนโนยบาย “คลังปัญญาผู้สูงอายุ เพื่อรวมพลังภาคีสร้างชุมชนสุขภาวะ” ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนายพะโยม ชินวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศึกษาธิการ นายธนากร ดอนเหนือ รองเลขาธิการ กศน. นางสาววาสนา โกสีย์วัฒนา ครูเชี่ยวชาญ ศูนย์ กศน. กลุ่มเป้าหมายพิเศษ นางทัศนีย์ ญาณะ ผู้แทนมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (มสพช.) ผศ.ดร.ภัทระ แสนไชยสุริยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นางกมลพรรณ พันพึ่ง ผู้แทนสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตลอดจนผู้แทนเครือข่ายสำนักงาน กศน. 5 จังหวัด เข้าร่วม
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวเปิดตอนหนึ่งว่า ในเรื่องของคลังภูมิปัญญา เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ที่แสดงให้เห็นถึงรากเหง้า วิถีชีวิตบรรพบุรุษ ที่ทั้งผู้รู้ ปราชญ์ชาวบ้าน ปราชญ์ชุมชน และคนไทยรุ่นก่อน ซึ่งผ่านการสั่งสมประสบการณ์ องค์ความรู้ การทำมาหากิน ความเป็นอยู่ได้อย่างชัดเจน ซึ่งถือเป็นผู้มีคุณูปการต่อประเทศ ที่ควรรักษา สืบสาน และเผยแพร่ให้เยาวชนคนรุ่นหลัง ได้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของผู้สูงอายุ ผ่านองค์ความรู้และชุดข้อมูลในการพัฒนาพื้นที่ ก่อเกิดเป็นความเชื่อถือ ศรัทธา และสืบสานภูมิปัญญาและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของคนทุกช่วงวัยในชุมชน
ซึ่งต้องยอมรับว่า ฐานข้อมูลเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่จะต้องพัฒนาให้มีการนำเข้าข้อมูลสู่ระบบโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ความถูกต้องครอบคลุมของข้อมูลในทุกมิติ โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในหลวงรัชกาลที่ 9 และในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงสืบสานต่อยอด พร้อม ๆ กับรวบรวมภูมิปัญญาของผู้สูงอายุ ภูมิปัญญาด้านอาชีพ อาหารคาวหวาน เชื่อมโยงสู่ความต้องการพัฒนาของคนในพื้นที่ ไปจนถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่จะช่วยสนับสนุนการเข้าถึงระบบ ทั้งในแบบออฟไลน์และออนไลน์ มาผนวกกับนโยบาย กศน.WOW ด้านการเสริมสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย (Good Partnership) เชื่อมโยงสู่ Good Activities และ Good Innovation
และสิ่งที่คาดหวังต่อไปก็คือ Good Learning Center ซึ่งสอดคล้องกับเสียงสะท้อนในการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นในการจัดการศึกษาของ กศน.ทั่วประเทศตลอดเวลาตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ที่ต้องการมีอาคารสถานที่เป็นของตัวเอง เพื่อจะได้ของบประมาณในการซ่อมบำรุง พัฒนาปรับปรุง เนื่องจาก กศน.อยู่ใกล้ชิดประชาชนมากสุด ดังนั้น จะทำอย่างไรให้ กศน.มีความเข้มแข็ง พร้อมที่จะผนึกกำลังกับทุกภาคส่วน หรือเสริมเติมเต็ม เพื่อให้คลังปัญญาในทุกพื้นที่มีจำนวนมากถูกจัดเก็บข้อมูลได้อย่างครอบคลุมในทุกมิติ ที่จะสร้างความน่าเชื่อถือต่อผู้อ่านและผู้นำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาท้องถิ่น
โดยที่ประชุมฯ ได้พิจารณาแนวทางและบทบาทการดำเนินงานของระบบคลังปัญญาผู้สูงอายุ ภายใต้บันทึกข้อตกลงร่วมมือการจัดการความรู้ สนับสนุนเครือข่ายบูรณาการด้านผู้สูงอายุและคนพิการ ของภาคีเครือข่าย ทั้ง มสพช. สวทช. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรผู้สูงอายุ ตลอดจนสำนักงาน กศน.ใน 5 จังหวัด 5 อำเภอ ได้แก่ สำนักงาน กศน.อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง, สำนักงาน กศน.ท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช, สำนักงาน กศน.อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา, สำนักงาน กศน.อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี และสำนักงาน กศน.อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร โดยเล็งเห็นถึงศักยภาพของ กศน.ในการพัฒนา Big data เพื่อใช้ในการวางแผนการบริหารจัดการร่วมกัน ทั้งเพื่อการสร้างเสริมการสร้างสุขของผู้สูงอายุ โดยทำงานร่วมกับเครือข่ายโรงเรียน ชุนชนผู้สูงอายุ กับศูนย์เรียนรู้ที่มีในชุมชน เพื่อสนับสนุนให้เป็นแหล่งเรียนรู้และยกระดับคลังปัญญาผู้สูงอายุในพื้นที่, การร่วมกันจัดทำฐานข้อมูลกลางผ่านคลัง www.thaiichr.org เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ในแต่ละพื้นที่
ตลอดจนจัดทำแผนพัฒนาศักยภาพ กศน.เพื่อทำให้เกิดคนต้นแบบคลังปัญญาผู้สูงอายุ 60plus Idol กศน.สูงวัย โดยจัดทำสื่อ ค้นหาคลังปัญญาที่มีอัตลักษณ์ เพื่อป้องกันการสูญหาย และสืบสานรักษาให้คงอยู่สู่รุ่นลูกหลาน รวมทั้งการจัดทำโครงการร่วมกับ สสส. เพื่อขับเคลื่อนยกระดับคลังปัญญาผู้สูงอายุ สู่การจัดมหกรรมคลังปัญญาผู้สูงอายุของบุคลากร กศน.ต่อไป
“ขอชื่นชมทุกภาคส่วนที่ช่วยเสริมเติมเต็มการทำงานร่วมกันมาอย่างดี โดยมีสิ่งที่ต้องการฝากให้คิดต่อไป ถึงแนวทางเชื่อมต่อระหว่างคนทั้งในรุ่นปัจจุบันและในรุ่นหลัง ที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อม ความยากลำบาก และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ได้มีความเข้าใจที่ดีต่อกัน และเห็นความสำคัญของผู้มีคุณูปการต่อการเป็นชาติไทยมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น ฐานข้อมูลที่กำลังร่วมกันทำจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือการยึดถือความถูกต้องเป็นหลัก พร้อม ๆ กับการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานสู่การปฏิบัติในระดับรากหญ้า เพื่อพัฒนาต่อยอดให้กับคนทุกช่วงวัย สร้างความเข้าใจสอดรับกับนโยบายการพัฒนาร่วมกัน ผ่านกิจกรรม โครงการ และสิ่งที่จะทำร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนให้การจัดทำภูมิปัญญาผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นจริงอย่างยั่งยืน” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
จันทนา เชียงทอง: สรุป
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
13/11/2563