“สุทธิชัย” นำทีมผู้บริหาร ศธ. ลงพื้นที่กระทรวงศึกษาธิการสัญจร ภาค 11 “นครพนม สกลนคร มุกดาหาร” 7-9 ธ.ค. 2564
“สุทธิชัย จรูญเนตร” ที่ปรึกษา รมว.ศธ. นำทีมผู้บริหารส่วนกลางลงพื้นที่ “กระทรวงศึกษาธิการสัญจร” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ในพื้นที่สำนักงานศึกษาธิการภาค 11 รวม 3 สาย โดยลงพื้นที่ร่วมกับรองปลัด ศธ. “สุทิน แก้วพนา” ที่มุกดาหาร ส่วนอีก 2 สาย “ธนู ขวัญเดช” ลงพื้นที่สกลนคร และ “วีระ แข็งกสิการ” ลงพื้นที่นครพนม
ภาพการลงพื้นที่ทั้ง 3 สาย Facebook
จังหวัดมุกดาหาร : ตรวจเยี่ยมโรงเรียนมุกดาหาร
บ่ายวันนี้ (7 ธันวาคม 2564) นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศธ. กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนมุกดาหาร ร่วมกับนายสุทิน แก้วพนา รองปลัด ศธ. และคณะผู้บริหารส่วนกลาง ว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ภายใต้การนำของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. มุ่งเน้นดำเนินการภารกิจหลักตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ในฐานะหน่วยงานที่ขับเคลื่อนการพัฒนาการเรียนรู้ ยกระดับพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต
ทั้งนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) มีบทบาท ภารกิจ หน้าที่และอำนาจในการส่งเสริม กำกับดูแลการบริหารและการจัดการศึกษาทุกระดับ ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาให้เป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนที่ต้องเร่งขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์มากที่สุด กล่าวคือ ต้องเร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ระดับจังหวัด สร้างความเชื่อมั่น ไว้วางใจให้กับสังคม โดยเฉพาะผู้เรียนและประชาชน ให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานร่วมกัน ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส มีความรับผิดชอบ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
การลงพื้นที่ ศธ.สัญจรในครั้งนี้ จึงต้องการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาไปสู่การปฏิบัติ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สอดคล้องบริบทความต้องการของพื้นที่ ตลอดจนรับฟังข้อคิดเห็นตามนโยบาย แนวทาง ปัญหาอุปสรรค ในหน่วยงานระดับพื้นที่
จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนมุกดาหาร ทำให้เห็นว่าโรงเรียนมีการเตรียมความพร้อมดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียน ครูและบุคลากรในสถานศึกษา โดยยึดหลัก 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม 7 มาตรการเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นการคัดกรองวัดไข้และอาการเสี่ยงก่อนเข้าสถานศึกษา สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ห้องเรียนเว้นระยะห่างนั่งเรียนอย่างน้อย 2 เมตร มีจุดล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ มีการทำความสะอาดห้องเรียน ห้องสุขา กำจัดขยะมูลฝอย พื้นผิวสัมผัสร่วมโดยตลอด เปิดประตูหน้าต่างระบายอากาศ มีการควบคุมการเข้า-ออกของบุคคลภายนอกอย่างเคร่งครัด แนะนำให้นักเรียนสังเกตอาการและประเมินตนเองผ่านแอปพลิเคชัน Thai Save Thai (TST) อย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น
จากการเยี่ยมชมห้องเรียนภาษาญี่ปุ่น เยอรมัน จีน และศูนย์โอลิมปิกวิชาการ สอวน. รวมทั้งห้องเรียน MEP (Mini English Program) ในโครงการ IEP Open House (Intensive English Program) ซึ่งเป็นโครงการที่โรงเรียนก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2547 ทำให้เห็นว่าโรงเรียนได้พัฒนาศักยภาพของนักเรียนให้มีความรู้ความสามารถในการปรับตัวให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 อีกทั้งเป็นการเตรียมคนให้มีความสามารถแข่งขันในระบบเศรษฐกิจอาเซียนต่อไปในอนาคต ภาษาอังกฤษจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นในการเรียนรู้เตรียมความพร้อมที่จะเข้าสู่สังคมโลกต่อไป
สำหรับโรงเรียนมุกดาหาร เปิดภาคเรียนที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีรูปแบบการสอนแบบผสมผสาน (Hybrid) โดยแบ่งนักเรียนในห้องเรียนทุกระดับชั้นเป็นระดับชั้นละ 2 กลุ่ม สลับกันมาเรียนทุกระดับชั้นกลุ่มละ 1 สัปดาห์ โดยจำนวนนักเรียนทั้งหมด 2,195 คน ได้รับวัคซีนแล้ว 88% ครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวน 152 คน ได้รับวัคซีนทั้งสองเข็มแล้ว 90 %
“ฝากการบ้านให้โรงเรียนมุกดาหาร ทำอย่างไรที่จะจัดการเรียนในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งจำเป็นต้องจัด On-Site ให้ได้ 100% อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะ ศธ.เป็นหน่วยงานต้นน้ำในการผลิตบุคลากรคุณภาพให้แก่ทุกสังคมในประเทศไทย”
อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
อธิชนม์ สลางสิงห์ / ถ่ายภาพ
จังหวัดสกลนคร : ตรวจเยี่ยม รร.ราชประชานุเคราะห์ 53
ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายธนู ขวัญเดช รองปลัด ศธ. พร้อมด้วยนายวรัท พฤกษาทวีกุล หัวหน้าผู้ตรวจราชการ ศธ. และคณะผู้บริหารส่วนกลาง ลงพื้นที่จังหวัดสกลนคร เพื่อรับฟังสภาพปัญหาการจัดการศึกษาของจังหวัดสกลนคร รวมทั้งตรวจเยี่ยม รร.ราชประชานุเคราะห์ 53 ซึ่งมีผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศด้าน Sandbox Safety Zone in School (SSS) โดยว่าที่ร้อยตรี เจษฎาภรณ์ พรหนองแสน รองศึกษาธิการภาค 14 ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 11 ร่วมคณะ
นายธนู ขวัญเดช กล่าวว่า จากการลงพื้นที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 53 จังหวัดสกลนคร (ร.ป.ค.53) สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งอยู่ที่อำเภอพรรณานิคม เป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาส 10 ประเภท ประเภทอยู่ประจำ ในเขตพื้นที่บริการ 2 จังหวัด คือ สกลนครและนครพนม เปิดสอนตั้งแต่ชั้น ป.1-ม.6 จำนวน 24 ห้องเรียน นักเรียนรวม 625 คน ครูและบุคลากร 71 คน
ทั้งนี้ โรงเรียนได้ดำเนินการขับเคลื่อนวาระเร่งด่วน (Quick Win) ของ ศธ. ในด้านต่าง ๆ เช่น
- ความปลอดภัยของผู้เรียน มีการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมและปลอดภัยกับผู้เรียน ทั้งอาคารเรียน โรงอาหาร ห้องปฏิบัติการ รวมทั้งหอพัก, แต่งตั้งครูเวรประจำวัน ครูเวรกลางคืน ครูประจำหอพัก บ้านพัก และเวรยามหน้าประตูทางเข้าโรงเรียน, มีระบบการดำเนินงานตามระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน 5 ขั้นตอน มีระบบติดตามการออกกลางคันของนักเรียน
- การพัฒนาทักษะทางอาชีพ ส่งเสริมให้นักเรียนสร้างรายได้ระหว่างเรียน มีทักษะอาชีพติดตัวอย่างน้อย 1 คน 1 อาชีพ โดยเน้น 5 กลุ่มอาชีพ คือ 1) กลุ่มอาชีพคหกรรม เช่น การทำขนม เบเกอรี่ 2) กลุ่มอาชีพเกษตรกรรม เช่น เลี้ยงปลา หมู ไก่ 3) กลุ่มอาชีพอุตสาหกรรม เช่น ทำอิฐบล็อก ช่างเชื่อมโลหะ 4) กลุ่มอาชีพพาณิชย์และบริการ เช่น โรงเรียนธนาคาร นวดแผนไทย เสริมสวยหญิง 5) กลุ่มอาชีพความคิดสร้างสรรค์ เช่น การทำสกรีน วงโยธวาทิต วงสตริง วงโปงลางปทุมเทวาภิรมย์ เป็นต้น ซึ่งจุดเด่นที่น่าสนใจ คือ นักเรียนมีการรวมกลุ่มในรูปแบบบริษัทสมมุติ (Mini Company) ดำเนินงานตามแผนงานของบริษัท มีบันทึกการปฏิบัติงาน งบกำไรขาดทุน เงินปันผลและโบนัส มีการถอดบทเรียนเศรษฐกิจพอเพียง การใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างรายได้ มีเพจจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ 16 เพจ เช่น ผ้าคราม ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ ทอผ้า สร้างรายได้ให้นักเรียนเฉลี่ยคนละ 2,500 บาทต่อปี
- การจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ จำนวน 152 คน แยกเป็นนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ 86 คน ทางพฤติกรรมหรืออารมณ์ 64 คน และทางสติปัญญา 2 คน ซึ่งส่งผลให้นักเรียนได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ บนความแตกต่างของแต่ละบุคคล และได้เรียนรู้อย่างมีความสุข
- ผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศของโรงเรียน คือ Sandbox Safety Zone in School (SSS) ซึ่งเป็นโรงเรียนเดียวในจังหวัดสกลนครที่ได้เข้าร่วมมาตรการ SSS ทั้งนี้ โรงเรียนได้จัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน ทั้ง On-Site และรูปแบบอื่น ๆ โดยใช้รูปแบบ TRUST Model คือ Team-Responsible-Uninty-Success-Teams พร้อมทั้งมีแผนเผชิญเหตุตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ภายใต้หลักการ “ตัดความเสี่ยงสร้างภูมิคุ้มกัน 3T 1V” โดย T1 คือ Thai Stop Covid Plus, T2 คือ Thai save Thai, T3 คือ Antigen Test Kit
น.ส.ทัศนีย์ สิงหวงค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ กล่าวเพิ่มเติมถึงชุดตรวจ Antigen Test kit รวมทั้งเจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย ทางโรงเรียนได้รับมอบจากศูนย์อนามัยที่ 8 จังหวัดอุดรธานี จำนวน 625 ชุด และภาคีเครือข่ายอื่น ๆ เช่น มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทำให้ไม่มีปัญหาในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในสถานการณ์โควิด 19 ที่ผ่านมาได้ดำเนินการสุ่มตรวจแล้ว 9 ครั้ง ผลเป็นลบทั้งหมด ยังไม่พบเชื้อ สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 นั้น ครูและบุคลากรทุกคนรวม 71 คน เข้ารับการฉีดวัคซีน 2 เข็มแล้ว 100% ส่วนนักเรียนเข้าถึงวัคซีนแล้ว 53%
โอกาสนี้ รองปลัด ศธ. “ธนู ขวัญเดช” ได้กล่าวให้กำลังใจและชมเชยผู้บริหาร ครู บุคลากร และภาคีเครือข่ายทุกคน ที่ร่วมพัฒนาโรงเรียนได้อย่างดียิ่ง พร้อมทั้งขอให้ช่วยขับเคลื่อนการทำงานตามนโยบายเร่งด่วนของ ศธ. รวมทั้งแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา 5 Big Rocks ส่วนที่เป็นภาระงานของ ศธ. โดยตรง เช่น เรื่องของหลักสูตรการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ การจัดการศึกษาแบบ Active Learning เป็นต้น จากนั้น ได้เยี่ยมชมนิทรรศการความก้าวหน้าการจัดการศึกษา โครงการการศึกษาเพื่อการมีงานทำ เยี่ยมชมโรงอาหาร หอพัก ห้องเรียน To be Number One งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์นักเรียน ศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร / สรุป
ปกรณ์ เรืองยิ่ง / ถ่ายภาพ
จังหวัดนครพนม : ตรวจเยี่ยม รร.บ้านเหล่าพัฒนา
ช่วงเวลาเดียวกัน นายวีระ แข็งกสิการ รองปลัด ศธ. พร้อมด้วยนายพัฒนะ พัฒนทวีดล, นายธนากร ดอนเหนือ, นายปรีดี ภูสีน้ำ, นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี ผู้ตรวจราชการ ศธ. และผู้บริหารส่วนกลาง ตรวจเยี่ยมโรงเรียนบ้านเหล่าพัฒนา อำเภอนาหว้า
นางคำปิ่น ทีสุกะ ผอ.โรงเรียนบ้านเหล่าพัฒนา กล่าวว่า โรงเรียนบ้านเหล่าพัฒนา จัดการศึกษา 2 ระดับ คือ ปฐมวัยและประถมศึกษา มีครูและบุคลากรทางการศึกษา 15 คน มีนักเรียนจำนวน 166 คน มีการปรับปรุงพัฒนางานอย่างต่อเนื่องจนได้รูปแบบการพัฒนาสถานศึกษาที่ประสบผลสำเร็จโดยใช้ GLISS Model ตามกระบวนการปรับปรุงคุณภาพงานแบบ PDCA เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ นโยบาย ศธ. และวิสัยทัศน์ของโรงเรียน เพื่อเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ มุ่งสู่คุณภาพผู้เรียน และดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
จากการดำเนินงานส่งผลให้เกิด 5Q สอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครพนม เขต 2 ได้แก่
- Q1 คุณภาพของผู้เรียน (Quality Student) คือ ผู้เรียนมีผลการทดสอบระดับชาติสูงกว่าระดับประเทศติดต่อกัน 4 ปี และมีผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ระดับดีขึ้นไปร้อยละ 100
- Q2 คุณภาพครู (Quality Teacher) คือ ครูได้รับรางวัล OBEC AWARDS เหรียญทองระดับชาติ 2 ปีติดต่อกัน
- Q3 คุณภาพผู้บริหาร (Quality Director) คือ ผู้บริหารได้รับรางวัล OBEC