สกู๊ปพิเศษ ศธ.360 องศา : ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ด้วยน้ำพระทัยจากแผ่นฟ้า ชโลมทาทั่วผืนดิน ในถิ่นทุรกันดาร
บนพื้นที่ชนบทห่างไกลความเจริญ ที่การคมนาคมไม่สะดวก ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ภูเขาสูงทั่วประเทศ ประชากรทั้งหมดแทบไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จึงเป็นช่องทางเดียวที่พวกเขาเหล่านั้นจะได้รับการศึกษา ถึงแม้จะเป็นการศึกษานอกระบบก็ตามที และจากการทำงานด้วยความเสียสละของครูอาสาสมัคร กศน. หรือชุมชนบนที่ราบสูง เรียกกันติดปากว่า “ครูดอย” ที่ตั้งใจทำงานช่วยเหลือเด็กเยาวชนตลอดจนชาวบ้านที่ด้อย พลาด ขาดโอกาสทางการศึกษาให้สามารถอ่านออกเขียนได้ โดยพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาที่เหมาะสม สอดคล้องกับบริบท วิถีชีวิตของผู้เรียนและชุมชน ช่วยให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ ทักษะประสบการณ์ไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว และชุมชน พร้อมทั้งสามารถถ่ายทอดความรู้ไปสู่คนใกล้ชิดได้
ย้อนไปในปี 2523 กรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ในขณะนั้น ได้จัดตั้งหน่วยงานจัดการศึกษาสำหรับชุมชนบนพื้นที่สูง หรือเดิมที่เรียกว่า “ศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.)” ขึ้น โดยส่งครูอาสาสมัคร กศน. 1 คน ไปฝังตัวพำนักและทำงานอยู่กับชาวเขาในชุมชนต่าง ๆ มีการสร้างอาคารขนาดเล็กด้วยวัสดุท้องถิ่น เพื่อให้บริการการศึกษาและพัฒนาชุมชนแก่ผู้ใหญ่ในเวลากลางคืน ตลอดจนสอนเด็กระดับปฐมวัยถึง ป. 6 ในตอนกลางวัน จึงพูดได้เต็มปากว่าครูอาสาฯ เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาพลเมืองไทยบนพื้นที่ราบสูงให้เป็นประชากรที่ดีและมีคุณภาพของประเทศชาติ
จนกระทั่งในปี 2535 ครูอาสาสมัคร กศน.ในพื้นที่โครงการ ศศช.บ้านใหม่ห้วยหวาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้บรรยายความยากลำบากในการทำหน้าที่ครูดอยในถิ่นทุรกันดารลงตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง พร้อมขอรับการสนับสนุนสื่อการเรียนการสอน และสิ่งของเครื่องใช้ในการสอนเด็กเยาวชน ด้วยเหตุบังเอิญความทราบถึงพระเนตร พระกรรณ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงอ่านข่าวนั้นในหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว จึงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งให้สร้างอาคารเรียน และทรงรับ “ศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) ทุกแห่งไว้ในพระอุปถัมภ์ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” เพื่อเทอดพระเกียรติพระองค์ท่าน แต่ยังคงชื่อย่อว่า ศศช. ตราบถึงปัจจุบัน
จวบจนพระองค์ท่านเสด็จสวรรคต สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้อุปถัมภ์ต่อเรื่อยมา และได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จ้างครูอาสาฯ เพิ่มเติม ในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.) ซึ่งถือเป็นครูในโครงการพระราชดำริ ที่พระองค์ทรงจ้างไปปฏิบัติงานในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร หรือบนดอยสูง อีกทั้งยังทรงให้ทุนการศึกษาแก่ครู กพด. ที่ยังไม่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ให้ได้ศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ศูนย์การเรียนอำเภออมก๋อย
ต่อมาสำนักงาน กศน.ได้แบ่งเบาภาระของพระองค์ท่าน โดยการตั้งงบประมาณเพื่อจ้างครู กพด. เข้าไปทำงานในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีโรงเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตั้งอยู่ บางพื้นที่ไม่มีแม้กระทั่งไฟฟ้า ถนนหนทางสัญจรด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝน ความอันตรายเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ระยะทางเพียงไม่กี่กิโลเมตร แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางเกือบทั้งวัน เสมือนถูกตัดขาดจากโลกภายนอก
ปัจจุบัน สำนักงาน กศน. มีศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช.)” รวมทั้งสิ้น 808 แห่ง ในพื้นที่ 14 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน แม่ฮ่องสอน แพร่ พะเยา ลำพูน ลำปาง กาญจนบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และพังงา ซึ่งในจำนวนนี้ มี ศศช. ภายใต้โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (กพด.) จำนวน 282 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดตาก เชียงใหม่ น่าน แม่ฮ่องสอน และพังงา
ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งกำกับดูแลสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กล่าวถึงศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช.) ภายหลังเฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรการจัดการศึกษาของครู กพด. ตามพระราชดำริฯ ในพื้นที่ ศศช.บ้านแม่ลง เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงาน กศน. มุ่งให้บริการการศึกษาและพัฒนาชุมชนให้กับกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่เด็ก เยาวชน ประชาชน และผู้สูงอายุ ให้สามารถช่วยเหลือตนเองและเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ ทั้งในรูปแบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย โดยใช้ชุมชนเป็นพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ อีกทั้งได้ร่วมหารือกับ นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัด ศธ. (ในขณะนั้น) และนายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. เพื่อขอเกลี่ยอัตรากำลังจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผลักดันให้มีการจัดสรรอัตราเพื่อบรรจุครูผู้ช่วย กศน. จำนวน 210 อัตรา ในกองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.) ตามพระราชดำริของพระองค์ท่าน
ในปัจจุบันครูผู้ช่วย กศน. ได้เริ่มปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ทุรกันดารแล้ว ด้วยความทุ่มเททำงานและเสียสละเป็นอย่างมาก ต้องทำงานในพื้นที่ไกลบ้าน เพื่อจัดการศึกษาให้กับเด็กในเวลากลางวัน และสอนประชาชนหลากหลายชาติพันธ์ุในเวลากลางคืนให้พึ่งพาตัวเองได้ มีโภชนาการและสุขอนามัยที่ดีตามวิถีชีวิตในแต่ละบริบท สู่เป้าหมาย SDGs ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
รมช.ศธ. กล่าวด้วยว่า สำนักงาน กศน. อำเภออมก๋อย มีศูนย์การเรียนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง”(ศศช.) ทั้งหมด 109 แห่ง 4 สาขา สำหรับ ศศช.บ้านแม่ลง ที่มีโอกาสได้รับเสด็จและถวายรายงานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งอยู่ในชุมชนบ้านแม่ลง มีลักษณะเป็นพื้นที่ลาดเอียงตามไหล่เขา อยู่ห่างจากชุมชนประมาณ 100 เมตร ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิ คาร์ฟูร์ (ประเทศไทย) องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และโครงการส่วนพระองค์ของพระองค์ท่าน ในการก่อสร้างอาคารหลังแรก ซึ่งเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวเพื่อจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็ก
ต่อมาในปี 2558 ได้รับงบซ่อมแซมจากศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภออมก๋อย จำนวน 100,000 บาท เพื่อต่อเติมอาคารเรียน ขนาด กว้าง 6 เมตร ยาว 8 เมตร เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้น และในวันที่ 25 ธันวาคม 2560 ได้รับงบก่อสร้างอาคารเรียน จำนวน 1 หลัง จากกลุ่มอาสา “โครงการคืนรอยยิ้มสู่ถิ่นไกล” เป็นอาคารเรียนขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 12 เมตร พร้อมกับชุดโต๊ะเก้าอี้ นักเรียนจำนวน 35 ชุด หอพระพร้อมกับพระพุทธรูปอีก 1 แห่ง ตลอดจนห้องน้ำนักเรียนจำนวน 2 ห้อง ปัจจุบันมีพื้นที่ทั้งหมด 2 ไร่ 38 ตารางวา
ทั้งนี้ ชุมชนบ้านแม่ลง เป็นหย่อมบ้านหนึ่งของหมู่ที่ 9 ประกอบด้วยบ้านห้วยส้ม บ้านกองแนะ และบ้านแม่ลง ลักษณะพื้นที่ของชุมชนเป็นพื้นที่ลาดเอียง มีพื้นที่เป็นที่ราบเพียงเล็กน้อย ก่อตั้งมาประมาณ 30 ปี ประชากรเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง (โปว์) อพยพมาจากหมู่บ้านอื่น มีจำนวนครอบครัวทั้งสิ้น 25 ครัวเรือน ประชากรทั้งหมด 106 คน เป็นชาย 52 คน หญิง 54 คน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และนับถือผีบรรพบุรุษ ใช้ภาษากะเหรี่ยง (โปว์) ในการดำรงชีวิตประจำวัน ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หาของป่า และได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ (บัตรคนจน) รายได้เฉลี่ยประมาณครัวเรือนละ 15,000 บาท/ปี สถานบริการสาธารณสุขที่ใกล้ที่สุด คือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านอูตูม ระยะทาง ห่างจากหมู่บ้าน 24 กิโลเมตร มีนายมิด้วย พิไลแพร เป็นผู้ใหญ่บ้าน (ผู้นำหมู่บ้าน)
สำหรับปัญหาและความต้องการของประชาชนในหมู่บ้าน ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ เช่น น้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคของประชาชนจากประปาภูเขา เพราะแหล่งน้ำตามธรรมชาติ มีไม่เพียงพอ เริ่มตื้นเขิน เนื่องจากป่าต้นน้ำถูกทำลาย ปัจจุบันกรมชลประทานได้เข้ามาดำเนินการ โดยสํารวจพิกัดในการขุดเจาะเพื่อวางระบบน้ำ แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในการอุปโภคและบริโภค อีกทั้งทาง ศศช.บ้านแม่ลง ได้ให้ความรู้และสร้างความตระหนักให้กับผู้เรียนและคนในชุมชนในการอนุรักษ์ดูแลและฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ วางกฎระเบียบ และข้อบังคับมาตรการการใช้น้ำ อนุรักษ์แหล่งต้นน้ำและป่าไม้ ร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำในชุมชน จัดตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านในการควบคุมดูแลเขตพื้นที่ป่าต้นน้ำ ตลอดจนจัดกิจกรรมโครงการ จัดกระบวนการเรียนรู้การบวชป่าและการปลูกป่าเพิ่มเติมโดยใช้กล้าไม้ที่มีอยู่ในพื้นที่
การคมนาคมในช่วงฤดูฝน ยากลำบากและอันตรายเป็นอย่างมาก สามารถเดินทางได้ด้วยรถจักรยานยนต์เท่านั้น รถยนต์ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้ เนื่องจากหน้าดินทรุดตัว ขณะนี้ประสานงานกับองค์การบริหารส่วนตำบลนาเกียน เพื่อขอรับการสนับสนุนรถแทรกเตอร์เพื่อปรับถนนเข้าหมู่บ้าน ตลอดจนการใช้ไฟฟ้าในชุมชน เนื่องจากในชุมชนยังไม่มีไฟฟ้าใช้ และ ศศช.บ้านแม่ลง ใช้ไฟฟ้าระบบโซล่าเซลล์ ปัจจุบันมีปัญหาเรื่องแบตเตอรี่ เก็บไฟไม่อยู่ อีกทั้งมีใช้ไม่ครบทุกหลังคาเรือน ปัจจุบันกำลังดำเนินการขอรับการสนับสนุนระบบโซล่าเซลล์จากองค์การบริหารส่วนตำบลนาเกียน
ในขณะที่ นางวิไลลักษณ์ สุขสาย ผอ.กศน.อำเภออมก๋อย ได้กล่าวถึงกิจกรรมและการจัดการเรียนการสอนว่า สำนักงาน กศน. มีเป้าหมายจัดการศึกษาให้ทั้งชุมชน เป็นการศึกษาเพื่อชีวิต สังคม เพื่อปวงชน และการศึกษาตลอดชีวิต เน้นให้ประชาชนในชุมชนมีทักษะพื้นฐานอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิต ดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ โดยครู กศน.ประจำ ศศช.จัดการสอนตามแผนการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ในกิจกรรมด้านโภชนาการและสุขภาพอนามัย การศึกษา การพัฒนาอาชีพ การอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์ประเพณีและท้องถิ่น ผ่านการเรียนรู้แบบบูรณาการลงมือปฏิบัติจริง และภูมิปัญญาท้องถิ่น แบ่งเป็นรูปแบบกลุ่มกิจกรรม ทั้งการศึกษาพื้นฐาน การศึกษาต่อเนื่อง ในลักษณะหลักสูตรระยะสั้นเพื่อการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพ และการศึกษาตามอัธยาศัย ผ่านสื่อและแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ โดยครู ศศช. ไม่เคยนำเอาความยากลำบากและข้อจำกัดต่าง ๆ มาเป็นข้ออ้างในการปฏิบัติหน้าที่เลย
ด้วยน้ำพระทัยของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างอาคารเรียน และทรงรับ ศศช.ทุกแห่งไว้ในพระอุปถัมภ์ รวมทั้งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงอุปถัมภ์ต่อเรื่อยมา พร้อมได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จ้างครูอาสาฯ เพิ่มเติม ในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.) อีกทั้งยังทรงให้ทุนการศึกษาแก่ครู กพด. ที่ยังไม่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ให้ได้ศึกษาต่อ จึงถือเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการที่จะเดินหน้าสานต่อโครงการในพระราชดำริ เพื่อให้ครูที่มีความยากลำบากในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร หรือบนดอยสูง ได้รับการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาศักยภาพตนเองในระดับสูง เพื่อนำความรู้ไปพัฒนาคุณภาพชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ของกลุ่มชาติพันธุ์ สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
อานนท์ วิชานนท์ : สกู๊ป
ปราณี บุญยรัตน์ : ภาพ
บัลลังก์ โรหิตเสถียร : ตรวจ/เรียบเรียง