ข่าว ศธ. 360 องศา

มติ ครม. 18 มกราคม 2565 ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ

มติ ครม. 18 มกราคม 2565 ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ

สรุปมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ คือ 1) เห็นชอบร่างความตกลงความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับฮังการีว่าด้วยการศึกษา 2) ความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ 3) ข้อเสนอแนะในการป้องกันและลดอันตรายจากอุบัติเหตุทางถนนที่มีสาเหตุจากการไม่สวมหมวกนิรภัย

เห็นชอบร่างความตกลงความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับฮังการีว่าด้วยการศึกษา

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างความตกลงความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับฮังการีว่าด้วยการศึกษา (Cooperation Agreement between the Association of Southeast Asian Nations and the Government of Hungary on Education Cooperation) (ร่างความตกลงฯ) และอนุมัติให้เลขาธิการอาเซียนหรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในร่างความตกลงฯ ของฝ่ายอาเซียน ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ

สาระสำคัญ

รัฐบาลฮังการีให้ความสนใจเกี่ยวกับการดำเนินความร่วมมือด้านการศึกษาร่วมกับอาเซียน โดยทั้ง 2 ฝ่าย ได้เห็นพ้องให้มีการจัดทำความตกลงความร่วมมือ (Cooperation Agreement) เพื่อให้การดำเนินความร่วมมือด้านการศึกษามีความเป็นรูปธรรม ครอบคลุม และรอบด้านมากขึ้น โดยสำนักเลขาธิการอาเซียนเป็นผู้แทนดำเนินการในนามของประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมกับฮังการี ทั้งนี้ ความตกลงความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับฮังการีว่าด้วยการศึกษาฉบับเดิมได้หมดอายุลงเมื่อเดือนกันยายน 2564 และที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียนได้ให้การรับรองร่างความตกลงฯ ฉบับปรับปรุง เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2564 เรียบร้อยแล้ว

สำนักเลขาธิการอาเซียนจึงได้มีหนังสือขอรับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิก และประเทศไทยจะต้องแจ้งความเห็นชอบต่อร่างความตกลงดังกล่าวต่อสำนักเลขาธิการอาเซียนผ่านคณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจากาตาร์ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ภายในวันที่ 26 มกราคม 2565 เพื่อเลขาธิการอาเซียนจะได้ดำเนินการลงนามในร่างความตกลงฯ ต่อไป

ร่างความตกลงฯ ประกอบด้วย 10 ข้อบท โดยมีสาระสำคัญ เช่น

  1. การสานต่อโครงการทุนการศึกษาอาเซียน-ฮังการี เพื่อสนับสนุนนักเรียนสัญชาติอาเซียนและฮังการีที่ต้องการศึกษาต่อในสถาบันการศึกษานอกประเทศรบ้านเกิดตั้งแต่ในระดับปริญญาตรีไปถึงระดับหลังปริญญาเอก และส่งเสริมนักเรียนและอาจารย์ที่มีผลงานโดดเด่นเข้าร่วมโครงการการศึกษาวิจัยทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายการศึกษาและการวิจัยร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย
  2. ฮังการีจะให้โอกาสนักเรียนจากประเทศสมาชิกอาเซียนได้เข้ารับการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาฮังการี โดยจะให้ความสำคัญในสาขาเศรษฐศาสตร์ ธุรกิจและการเงิน วัฒนธรรมและศิลปศาสตร์ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีและสารสนเทศและการสื่อสาร
  3. อาเซียนจะให้โอกาสนักเรียนและอาจารย์ฮังการีได้เข้าร่วมโครงการการศึกษาและการวิจัยในมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษในอาเซียน โดยเฉพาะในสาขาวิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ ธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ
  4. ข้อผูกพันที่เกิดจากสมาชิกของฮังการีในสหภาพยุโรปจะไม่ส่งผลต่อความตกลงฉบับนี้ การดำเนินงานจากความตกลงฉบับนี้จะไม่ส่งผลอันจะทำให้เป็นโมฆะ แก้ไข หรือส่งผลกระทบต่อข้อผูกพันของฮังการี โดยเฉพาะจากสนธิสัญญา รวมถึงข้อผูกพันจากกฎหมายของสหภาพยุโรป
  5. ข้อพิพาทที่เกิดขึ้น จากการแปลภาษา การดำเนินงาน หรือการใช้บทบัญญัติความตกลงฉบับนี้จะตัดสินโดยทั้งสองฝ่ายผ่านการปรึกษาหารือและเจรจา
  6. ร่างความตกลงฯ จะมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 3 ปี หลังจากนั้นทั้ง 2 ฝ่าย สามารถขยายระยะเวลาความตกลงดังกล่าวได้อีก 3 ปี ตามที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องและลงนามเป็นลายลักษณ์อักษร

ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ ร่างความตกลงฯ จะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนและนักศึกษาไทยที่จะได้รับโอกาสในการพัฒนาด้านวิชาการ ศิลปวัฒนธรรม และทักษะในการใช้ชีวิต รวมทั้งเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ระหว่างกันตลอดจนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยให้มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21

รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ครั้งที่ 13 (เดือนกรกฎาคม – กันยายน 2564) และเสนอรัฐสภาเพื่อทราบต่อไป

รายงานดังกล่าวประกอบด้วย รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการฯ ตามแผนการปฏิรูปประเทศระหว่างเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2564 โดยมีความคืบหน้าการดำเนินการของกิจกรรม Big Rock ภายใต้แผนปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ทั้ง 13 ด้าน

ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวข้องดังนี้

  • ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ประกอบด้วยกิจกรรม Big Rock รวม 3 กิจกรรม โดยมีการดำเนินการเป็นไปตามแผนทั้งหมด ได้แก่ BR0801 การพัฒนาระบบคลังข้อมูลข่าวสารเพื่อการประชาสัมพันธ์เชิงรุกและการจัดการ Fake News BR0802 การกำกับดูแลสื่อออนไลน์ และ BR0803 การยกระดับการรู้เท่าทันสื่อ
  • ด้านการศึกษา ประกอบด้วยกิจกรรม Big Rock รวม 5 กิจกรรม โดยมีการดำเนินการเป็นไปตามแผนทั้งหมด ได้แก่ BR1201 การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาระดับปฐมวัย BR1202 การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 BR1203 การปฏิรูปกลไกและระบบการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐาน BR1204 การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีและระบบอื่น ๆ ที่เน้นการฝึกปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ นำไปสู่การจ้างงานและการสร้างงาน และ BR1205 การปฏิรูปบทบาทการวิจัยและระบบธรรมาภิบาลของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางอย่างยั่งยืน

รับทราบรายงานการป้องกันและลดอันตรายจากอุบัติเหตุทางถนนที่มีสาเหตุจากการไม่สวมหมวกนิรภัย

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรีกรณีหน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เรื่อง การป้องกันและลดอันตรายจากอุบัติเหตุทางถนนที่มีสาเหตุจากการไม่สวมหมวกนิรภัย ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผผ.) เสนอ และให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินไปพิจารณาดำเนินการให้ถูกต้อง ครบถ้วนตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

ข้อเสนอแนะ เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนที่มีสาเหตุจากการไม่สวมหมวกนิรภัย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้

  1. บรรจุหลักสูตรเรื่องความปลอดภัยทางถนนและสร้างจิตสำนึกในการสวมหมวกนิรภัยให้แก่เด็กและเยาวชน โดยปลูกฝังตั้งแต่เด็กปฐมวัยหรืออนุบาลและระดับเยาวชน เช่น การสอดแทรกหลักสูตรความปลอดภัยทางถนนในวิชาสุขศึกษา และจัดทำโครงการ “หนูน้อยหัวดี” ผ่านสื่อการสอนที่เข้าใจง่าย โดยสถานศึกษาควรสร้างและพัฒนาเกณฑ์มาตรฐาน ระบบการตรวจ ติดตาม ประเมินผล และการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างวัฒนธรรมการขับขี่อย่างปลอดภัยแก่นักเรียน
  2. ส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเสริมสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนน ผ่านกระบวนการจัดการเรียนการสอนเชิงบูรณาการระหว่างสถานศึกษาท้องถิ่น กับ อปท. โดยจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ด้านความปลอดภัยทางถนนในโรงเรียน และพัฒนาหลักสูตรให้สอดรับกันในแต่ละช่วงอายุของเยาวชน

บัลลังก์ โรหิตเสถียร / สรุป

ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง

Top