24 พฤษภาคม 2565 / มติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ 3 เรื่อง คือ 1) การปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตและการทบทวนกฎหมายตาม พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 2) รายงานประจำปี 2564 ของ สสวท. 3) อนุมัติแต่งตั้ง นายอโณทัย ไทยวรรณศรี เป็นที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สพฐ.
การปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตและการทบทวนกฎหมายตาม พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแนวทางการปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตและการทบทวนกฏหมายตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 255 เพื่อให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ และให้ทุกหน่วยงานรับแนวทางฯ ไปทบทวนงานในความรับผิดชอบ แล้วแจ้งผลให้ ก.พ.ร. พิจารณาในภาพรวม ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีภายใน 1 เดือน
สาระสำคัญของเรื่อง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 คลี่คลายลง โดยเฉพาะการปรับปรุงระยะเวลาพิจารณาอนุญาตในกระบวนงานที่มีความสำคัญต่อการสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ศึกษาขั้นตอนและระยะเวลาในการอนุญาตของหน่วยงานของรัฐที่เผยแพร่บนเว็บไชต์ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อติดต่อราชการ (www.info.go.th) จำนวน 3,827 กระบวนงาน จาก 132 หน่วยงาน เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรฐานระยะเวลาการดำเนินการในแต่ละขั้นตอนหลักของการพิจารณาอนุญาต ได้แก่ ขั้นตอนการยื่นเอกสาร การพิจารณาอนุญาต และการลงนาม พบว่าหน่วยงานแต่ละแห่งมีการกำหนดระยะเวลาดำเนินการที่แตกต่างกัน จึงได้นำค่ากลางของระยะเวลาการดำเนินการแต่ละขั้นตอนที่หน่วยงานส่วนใหญ่สามารถดำเนินการได้มากำหนดเป็นมาตรฐานระยะเวลาการให้บริการเพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้เป็นแนวทางในการทบทวนระยะเวลาการดำเนินการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
ทั้งนี้ ได้กำหนดแนวทางการปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตและการทบทวนกฎหมายตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปเป็นแนวทางในการปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตและทบทวนกฎหมายให้เอื้อต่อกระบวนการพิจารณาอนุญาตเพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการได้รับการบริการจากภาครัฐที่เร็วขึ้น ง่ายขึ้น ค่าใช้จ่ายที่ถูกลงและเพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจ โดยแบ่งกลุ่มกระบวนงานเพื่อปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาต 2 กลุ่ม คือ
- กลุ่มกระบวนงานที่มีผลกระทบสูง เป็นกระบวนงานสำคัญหรือมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก รวมถึงกระบวนงานที่เป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชนที่เป็นข้อร้องเรียนหรือข้อเสนอแนะของประชาชนและภาคเอกชน ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คือ การขออนุญาตให้ชาวต่างชาติประกอบวิชาชีพครูโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ โดยสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ซึ่งจะต้องทบทวนกระบวนงานและปรับลดระยะเวลาการดำเนินการลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2565
- กลุ่มกระบวนงานทั่วไป เป็นการส่งเสริมการปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตในกระบวนงานที่เกี่ยวกับการอนุญาต การจดทะเบียน หรือการแจ้งที่มีกฎหมายหรือกฎกำหนดให้ต้องขออนุญาต จดทะเบียน หรือแจ้งก่อนดำเนินการใดตามคู่มือสำหรับประชาชนที่เป็นภารกิจหลักของหน่วยงานที่นอกเหนือจากกลุ่มกระบวนงานที่มีผลกระทบสูง โดยให้หน่วยงานของรัฐเสนอกระบวนงานที่สามารถปรับลดระยะเวลาการดำเนินการลงร้อยละ 30-50 มาดำเนินการภายในปี 2565
แนวทางการปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาต
- พิจารณายุบเลิก ยุบรวมขั้นตอนที่ไม่จำเป็น การใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ การเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ลดการทำซ้ำ หรือการส่งเรื่องไปกลับ การทำกิจกรรมคู่ขนานแทนการดำเนินการเป็นขั้นตอน ทบทวนแนวทางการตรวจสอบการดำเนินการหรือกิจการที่มีความซ้ำซ้อนหรือพิจารณาให้หน่วยงานอื่นดำเนินการแทน หรือกำหนดแนวทางการตรวจสอบตามความเสี่ยงของการดำเนินการ
- ทบทวนและปรับปรุงกฎหมายที่กำหนดระยะเวลาในการอนุญาตและกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการบริการของหน่วยงาน
- นำมาตรฐานระยะเวลาการให้บริการตามผลการศึกษาของสำนักงาน ก.พ.ร. เป็นเป้าหมายในการพิจารณาปรับลดระยะเวลาการดำเนินการ
- ปรับปรุงคู่มือสำหรับประชาชนให้สอดคล้องกับการปรับปรุงระยะเวลาการดำเนินการเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจแก่ประชาชน รวมถึงความโปร่งใสในการพิจารณาอนุญาต
- ปรับลดระยะเวลาการพิจารณาอนุญาต ซึ่งต้องไม่กระทบต่อคุณภาพการให้บริการ และกรณีกระบวนงานใดที่หน่วยงานไม่สามารถลดระยะเวลาการให้บริการลงได้อีก หรือมีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการ ให้รายงานไปยังสำนักงาน ก.พ.ร. ทราบ
รายงานประจำปี 2564 ของ สสวท.
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอ รายงานประจำปี 2564 ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี* (สสวท.) (เป็นการดำเนินการตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2541 ที่บัญญัติให้ สสวท. จัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยแสดงงบดุลบัญชีทำการและบัญชีกำไรขาดทุนที่ผู้สอบบัญชีรับรองว่าถูกต้องพร้อมกับรายงานของผู้สอบบัญชี รวมทั้งแสดงผลงานของ สสวท. ในปีที่ล่วงมาและแผนงานที่จะจัดทำในปีต่อไปภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีและให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอรายงานประจำปีต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
ผลการดำเนินงานของ สสวท. ประจำปี 2564 ใน 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
- การพัฒนาหลักสูตร สื่อ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ ที่เน้นการปฏิบัติการและการสร้างความเข้าใจในระดับที่เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละกลุ่มโดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น การพัฒนาหลักสูตร สื่อ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหาและกระตุ้นให้เกิดการใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบที่สามารถนำไปใช้ได้จริง ผ่านสื่อประกอบหนังสือเรียนและคู่มือครู สื่อเสริมการเรียนรู้ที่เน้นรูปแบบดิจิทัล สามารถนำไปใช้ศึกษาต่อเป็นนักนวัตกรตามแนวทาง KOSEN** รวมทั้งพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษ และการวิจัย วัดผล และประเมินผลการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีระดับประเทศและระดับนานาชาติ และการวิจัยติดตามการใช้หลักสูตร สื่อ การเรียนรู้ และพัฒนาเกณฑ์การประเมินสื่อการเรียนรู้
- การขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี และสถานศึกษา ผ่านเครีอข่าย สสวท. ให้มีคุณภาพทั่วประเทศอย่างเป็นระบบ เช่น การพัฒนาระบบบริหารจัดการเครือข่ายเพื่อขยายการให้บริการหลักสูตร สื่อและกระบวนการจัดการเรียนรู้ของ สสวท. การปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนของครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสะเต็มศึกษา *** ตามแนวทาง สสวท. โดยการจัดอบรมและพัฒนาครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีในรูปแบบออนไลน์ มีผู้เข้ารับการอบรม 44,939 คน และการสร้างเครื่อข่ายความร่วมมือนานาชาติ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ ได้มีการส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) โดยการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาหลักสูตร สื่อ และกระบวนการเรียนรู้สาระเทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณ)
- การขับเคลื่อนกระบวนการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ให้เน้นความเข้าใจ ลงมือปฏิบัติการ และสามารถนำไปใช้จริงทั้งในและนอกระบบตามแนวทาง สสวท. เช่น การพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ โดยการพัฒนาระบบการจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์ My IPST และนำมาทดลองใช้กับครูในโรงเรียนนำร่อง 6 โรงเรียน โดยพบว่าครูมีความพึงพอใจระบบดังกล่าวในระดับดีมาก ร้อยละ 54 ระดับดี ร้อยละ 34 และปานกลาง ร้อยละ 12 รวมทั้งมีการพัฒนาระบบต่าง ๆ อีก 4 ระบบ เช่น ระบบการสอบออนไลน์ระบบอบรมครูออนไลน์ โดยในปี 2564 มีผู้ใช้งานในระบบต่าง ๆ รวม 23.2 ล้านราย นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาและส่งเสริมการใช้เครื่องมือในการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับกระบวนการจัดการเรียนการสอน ตามแนวทาง สสวท. เช่น จัดทำกรอบการสร้างข้อสอบ TCAS 65 จำนวน 6 ฉบับ ต้นร่างข้อสอบ TCAS 65 จำนวน 12 ฉบับ และรายงานผลการวิเคราะห์คุณภาพข้อสอบที่คัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2564
- การเร่งรัดพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิดศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมตามนโยบายประเทศไทย 4.0 เช่น การบริหารการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) โดยได้พัฒนาโปรแกรมเสริมให้ผู้รับทุนโครงการ สควค. ระยะที่ 4 ในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท การบริหารการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) โดยคัดเลือกนักเรียนและนักศึกษาเข้าร่วมโครงการแบ่งเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 35 ทุน และระดับอุดมศึกษา จำนวน 64 ทุน นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนทุนการศึกษานักเรียน นักศึกษา และครูเพื่อพัฒนาให้เป็นผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี และตอบสนองต่อความต้องการของประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ทุน พสวท. จำนวน 1,605 ทุน ทุน สควค. จำนวน 13 ทุน และทุนโอลิมปิกวิชาการ จำนวน 186 ทุน
- การส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กรและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพิ่มการยอมรับ สสวท. ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีของเยาวชนให้ทันสมัย เช่น การพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ และสมรรถนะตามกลุ่มงานอย่างเป็นระบบ ผ่านการจัดทำแผนพัฒนาองค์กรและบุคลากรแบบก้าวกระโดดเพื่อไปสู่การเป็นองค์กร 4.0 มีการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการทำงานของ สสวท. และสร้างความตระหนักรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เช่น การเสริมสร้างศักยภาพด้านการสื่อสารภาพลักษณ์องค์กร โดยจัดทำเนื้อหาและสื่อส่งเสริมการเรียนรู้และเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ จำนวน 628 ชิ้น การประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพลักษณ์เชิงบวก โดยจัดทำข่าวสารเผยแพร่สื่อมวลชน จำนวน 213 ชิ้น นอกจากนี้ สสวท. ได้ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายจัดประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในโรงเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 24 รูปแบบออนไลน์ในหัวข้อ “นวัตกรรมการเรียนรู้ เพื่อทักษะในศตวรรษที่ 21” โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 19,508 คน
___________________________
*สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม ค้นคว้า และวิจัยหลักสูตร วิธีสอน และการประเมินผลการเรียนการสอนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลย์ในทุกระดับการศึกษา ส่งเสริม และดำเนินการฝึกอบรมครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา รวมทั้งดำเนินการค้นคว้า ปรับปรุง และจัดทำแบบเรียน เอกสารทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี
**แนวทาง KOSEN เป็นแนวทางการศึกษาที่เน้นการปฏิบัติการและการวิจัยโดยใช้วิทยาศาสตร์เป็นฐาน มุ่งเน้น และส่งเสริมองค์ความรู้ทางคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ วิศวกรรมศาสตร์ ปัจจุบันประเทศไทยได้ร่วมมือกับสถาบัน KOSEN ประเทศญี่ปุ่น พัฒนาหลักสูตรการศึกษาพิเศษตามแนวทาง KOSEN ที่สถาบันไทย KOSEN 2 แห่ง ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
***สะเต็มศึกษา เป็นแนวทางการจัดการศึกษาที่ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และสามารถบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรม และคณิตศาสตร์ไปใช้ในการเชื่อมโยงและแก้ปัญหาในชีวิตจริง รวมทั้งการพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เช่น ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรมและทักษะสารสนเทศ สื่อ เทคโนโลยี
แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้ง นายอโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการระดับสูง) สำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
บัลลังก์ โรหิตเสถียร / สรุป