ศธ.ประชุมสหกรณ์ออมทรัพย์ครูภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาค 10, 13) แก้ปัญหาหนี้สินครู โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน

ศธ.ประชุมสหกรณ์ออมทรัพย์ครูภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  (ภาค 10, 13)  แก้ปัญหาหนี้สินครู  โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน

(14 ธันวาคม 2564) นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ เช่น นายสุทิน แก้วพนา รองปลัด ศธ., นายวัลลภ สงวนนาม รองเลขาธิการ กพฐ., นายไพศาล วุทฒิลานนท์ ผู้ตรวจราชการ ศธ. ตลอดจนผู้แทนกระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธนาคารออมสิน, กรมส่งเสริมสหกรณ์, บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ประชุมโครงการ “แก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 2 โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูกำแพงเพชร – สมุทรปราการ เป็นฐาน ร่วมกับผู้จัดการ/ผู้แทนสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 จังหวัด ในพื้นที่ภาค 10 และภาค 13 ได้แก่ สอ.ครู อุดรธานี หนองคาย เลย บึงกาฬ หนองบัวลำภู นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และสุรินทร์ ณ โรงแรมสบาย โฮเทล จังหวัดนครราชสีมา

ที่ปรึกษา  รมว.ศธ.  กล่าวว่า  การลงพื้นที่ประชุมครั้งนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์  ชี้แจง  แนะนำ และร่วมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครู กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น  108  แห่งทั่วประเทศ  เนื่องจากรัฐบาลภายใต้การนำของ  พลเอก  ประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี  ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างมาก จึงมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การนำของ นางสาวตรีนุช  เทียนทอง  รมว.ศธ.  และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา  มีเป้าหมายให้ครูได้ชำระหนี้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ  หรือการรวมหนี้ครูมาไว้ในสถาบันการเงินแหล่งเดียว  รวมทั้งกำหนดมาตรการที่เหมาะสมกับการผ่อนชำระหนี้ให้ได้มากที่สุด  ตลอดจนพัฒนาครูบรรจุใหม่ และครูทุกกลุ่มให้มีความรู้ สร้างวินัยการบริหารจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยเริ่มต้นจากการถอดบทเรียน  สอ.ครู ต้นแบบ  (สมุทรปราการ และกำแพงเพชร) ทำให้รับทราบภาพรวมของปัญหา  อาทิ  1  ใน  4  ของครูหรือสองแสนกว่าคน ทั้งที่เกษียณแล้วและยังสอนอยู่  มีภาระหนี้ที่สูงกว่าศักยภาพที่จะจ่ายคืนด้วยเงินเดือนหรือบำนาญ บางรายมีเงินเดือนคงเหลือ  34  บาท  บางรายอายุมากถึง  103  ปี  ยังคงต้องผ่อนชำระหนี้อยู่

ซึ่งอาจจะแก้ไขได้ ด้วยการใช้สินทรัพย์และรายได้ในอนาคต  (เงินสะสมของสมาชิก  กบข./เงินบำเหน็จตกทอด/หุ้นสหกรณ์)  ที่มี มายุบยอดหนี้ให้ลดลง  อีกทั้งครูต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่าความเสี่ยง ทำให้เงินที่ชำระหนี้ส่วนใหญ่ถูกนำไปตัดแต่ดอกเบี้ย ทำให้เหลือตัดเงินต้นน้อย  จึงต้องปฏิรูปการกำหนดดอกเบี้ยเงินกู้ให้สอดคล้องกับเป็นสินเชื่อตัดเงินเดือน  เป็นต้น

“ศธ.ตั้งเป้าจัดโครงการฯ  ให้ครอบคลุมทั้ง  4  ภาคทั่วประเทศ  พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ สอ.ครูที่สนใจ สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ ได้ จนถึงสิ้นปี  2564  เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา มีสภาพคล่องในการชำระหนี้  มีคุณภาพชีวิตที่ดี  อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี  เป็นสมาชิก  สอ.ครูที่มีคุณภาพ  มีวินัยทางด้านการเงิน  เกิดขวัญกำลังใจในการทำงาน  ส่งผลในด้านบวกต่อคุณภาพการศึกษาและคุณภาพสังคมต่อไป”

รองปลัด  ศธ.  ได้ชี้แจงแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู  8  แนวทาง  แก่  สอ.ครู ในพื้นที่ ภาค  10  และภาค  13  ทั้ง  9  แห่ง  ได้แก่

  • ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของ  สอ.ครูให้ต่ำลงไม่เกิน  3%  ปัจจุบันอยู่ในระดับ  3.5 – 4%  ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สูง เป็นต้น
  • ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้สอดคล้องกับสินเชื่อที่มีอัตราความเสี่ยงต่ำ  4.5 – 5.0%  ซึ่งปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้  สอ.ครู เฉลี่ยอยู่ที่  6 – 9%  ในขณะที่สถาบันการเงินเฉลี่ยอยู่ที่  4 – 11%
  • จัดสรรผลกำไรมาเพิ่มเงินเฉลี่ยคืนเงินกู้ให้มากขึ้น ไม่น้อยกว่า  30%  ของผลกำไร  โดยลดค่าใช้จ่ายอื่น  ๆ  ที่ไม่จำเป็น  เช่น  ลดเงินปันผลหุ้น  งบบริหารจัดการ  เงินโบนัส และค่าตอบแทนกรรมการ  รวมทั้งสวัสดิการที่ไม่จำเป็น  และงบลงทุน เป็นต้น
  • การบริหารความเสี่ยง  การสร้างหลักประกันเงินกู้  การปรับลดบุคลค้ำประกัน  และปรับลดการซื้อประกันในส่วนที่ไม่จำเป็นลง  ซึ่ง  ศธ.  สามารถต่อรองให้เบี้ยประกันภัยลดลง  เช่น  สวัสดิการประกันชีวิตกลุ่ม/หมู่  เหลือชำระเบี้ย  2,400  บาท  ต่อทุนประกันภัยหนึ่งล้านบาท/ปี
  • ปรับโครงสร้างหนี้  อาทิ  ชะลอการฟ้อง-บังคับคดี ใช้การไกล่เกลี่ยให้มากที่สุด
  • ให้จัดทำฐานข้อมูลสมาชิก และการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับสถาบันการเงินและต้นสังกัด  (เครดิตบูโร)
  • ร่วมกับส่วนราชการต้นสังกัด หัก  ณ  ที่จ่าย  ควบคุมยอดหนี้ไม่ให้เกินความสามารถในการชำระหนี้ของสมาชิกสหกรณ์ ให้มีเงินเดือนเหลือไม่น้อยกว่า 30%
  • สร้างระบบพัฒนาดูแลสมาชิก  ให้ความรู้เสริมสร้างวินัยและการวางแผนทางด้านการเงิน  การสร้างอาชีพเสริม  ลดรายจ่าย  เพิ่มการออม  ไม่ก่อหนี้เพิ่ม

“จากปณิธานและความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมกันระดมสมองในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู  ทำให้กล้าคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนี้ของครูจะหมดไปภายในไม่เกินสิบปีข้างหน้านี้”

สำหรับการประชุมครั้งนี้  มีผู้บริหารภายนอก  ศธ. และ สอ.ครู  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชี้แจงในประเด็นและแนวทางต่าง  ๆ  อาทิ

  • ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการและกำแพงเพชร  ให้แนวทางเกี่ยวกับแผนการแก้ไขหนี้สินครู เพื่อเป็นแนวทางและถอดบทเรียนในการบริหารจัดการของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู  โดยแบ่งลูกหนี้และมาตรการช่วยเหลือเป็น  4  กลุ่ม  (เงินเดือนติดลบ, เงินเดือนไม่พอใช้  1,000  บาท หรือน้อยกว่า  30%,  เงินเดือนเหลือเกิน  30%,  ไม่มีหนี้)
  •  ผู้แทนจากบริษัท  ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ  จำกัด  ให้แนวทางการบริหารและจัดเก็บฐานข้อมูลหนี้สิน  โดยการสนับสนุนข้อมูลจากเครดิตบูโร
  •  นายประเสริฐ  บุญเรือง  ประธาน  สอ.ครูบุรีรัมย์  ขอให้คณะกรรมการฯ  เร่งหาแนวทางในการผลักดันการใช้หุ้นสหกรณ์ ให้สามารถนำมาชำระเงินกู้ได้