รมช.ศธ. “กนกวรรณ” เปิดประชุมใหญ่สามัญ และมอบนโยบายการศึกษาเอกชน แก่สมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชนทั่วประเทศ
(20 ธันวาคม 2564) นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมใหญ่สามัญสมาชิกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช. หรือ The Association Board of Coordination and Promotion of the Private Education : APPE) ประจำปี 2564 พร้อมด้วยนางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ. (ปฏิบัติหน้าที่ เลขานุการ รมช.ศธ.), นายพีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการ กช. โดยมีนายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคม ปส.กช. ตลอดจนประธานสมาคม ปส.กช.จังหวัดทั่วประเทศ ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนส่วนกลาง/ภูมิภาค เข้าร่วม ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนแวนชั่น กรุงเทพฯ
รมช.ศธ. กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสพบกับสมาคม ปส.กช.ในวันนี้ เนื่องจากทุกท่านมีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาและการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ ที่ผ่านมาโรงเรียนเอกชนสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐในการจัดการศึกษาได้เป็นอย่างดี
รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญและแสดงความห่วงใยต่อการจัดการศึกษาเอกชนเป็นอย่างมาก จึงได้ฝากชื่นชมมายังผู้บริหาร ครูโรงเรียนเอกชน และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องที่ช่วยกันขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษาเอกชนตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการเป็นอย่างดีเสมอมา เพื่อทำให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ มีทักษะชีวิตที่จำเป็น รวมถึงคุณลักษณะที่เหมาะสมกับโลกในศตวรรษที่ 21 ตามบริบทของสังคมไทย
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง ได้ผลักดันนโยบายสำคัญหลายประการ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาเอกชนมีนโยบายที่ดำเนินการสำเร็จเป็นรูปธรรมไปแล้ว เช่น
- การเพิ่มเพดานการเบิกเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ของผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนเอกชน จากไม่เกินคนละ 100,000 บาท/คน/ปี เป็น 150,000 บาท/คน/ปี เพื่อแก้ไขปัญหาสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลไม่เพียงพอ โดยได้เริ่มเบิกจ่ายได้จริงตามเพดานค่ารักษาพยาบาลใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา อีกทั้งได้รับทราบและเข้าใจถึงผลกระทบที่ทุกคนได้รับจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จึงได้มอบหมายให้กองทุนสงเคราะห์ กำหนดมาตรการในการช่วยเหลือผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชน ซึ่งคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563 ให้ความช่วยเหลือสมาชิกฯ เรื่องสินเชื่อ อาทิงดคิดดอกเบี้ยและค่าปรับ ระยะเวลา 6 เดือน (ระหว่าง 1 พฤษภาคม 2563 – 30 ตุลาคม 2563) เป็นเงินกว่า 30 ล้านบาท รวมทั้งลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จาก 4.50% เหลือ 4.00% ตลอดจนขยายการให้สินเชื่อสมาชิกกู้ จากเดิมอายุการทำงาน 10 ปีขึ้นไป ปรับเปลี่ยนเป็นตั้งแต่อายุการทำงาน 5 ปีขึ้นไป (มีผลตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2563 – ปัจจุบัน) โดยกองทุนฯ ได้อนุมัติสินเชื่อให้กับสมาชิก จำนวน 3,782 ราย รวมเป็นวงเงินกว่า 642 ล้านบาท
- ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยมอบหมายให้ สช. ศึกษา รวบรวม พัฒนา และขยายผลรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ซึ่งจะช่วยให้ครูและผู้เรียนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น โดย สช. ได้จัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้ด้วยระบบดิจิทัล สช.” เพื่อให้บริการรูปแบบ เนื้อหาการจัดการเรียนการสอน การรวบรวมสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยจัดหมวดหมู่แยกตามระดับชั้น รายวิชาไว้ในคลังสื่อออนไลน์ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
- ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายทางการศึกษาเอกชน เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสาร “สช. On Mobile” ซึ่งประกอบด้วย ระบบการประชาสัมพันธ์ การแจ้งเตือน การร้องเรียน การแจ้งปัญหา การสำรวจความคิดเห็น การเผยแพร่ข้อมูลความรู้และการตรวจสอบสิทธิ์และสวัสดิการกองทุนสงเคราะห์
- ยกระดับคุณภาพการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ
– ผลักดันการปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนรายบุคคลสำหรับนักเรียนพิการในโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษาและอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนรายบุคคลสำหรับนักเรียนพิการ ในโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษาและอาชีวศึกษา ระดับ ปวช. เพื่อสร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณะ และช่วยลดภาระผู้ปกครองและสถานศึกษาที่ดูแลนักเรียนพิการ
– ปรับเพิ่มเงินอุดหนุนในส่วนของเงินสมทบเงินเดือนครู โดยปรับหลักเกณฑ์การคำนวณสัดส่วนครูต่อนักเรียนพิการ ในระดับก่อนประถม-ประถมศึกษา จากเดิม นักเรียน 25 คน ต่อครู 1 คน เป็นนักเรียน 10 คน ต่อครู 1 คน ทำให้ได้รับเงินอุดหนุนรายบุคคลในส่วนของเงินสมทบเงินเดือนครู ในระดับก่อนประถมศึกษา-ประถมศึกษา เพิ่มขึ้น 18,060 บาท/คน/ปี ในระดับมัธยมศึกษา/ปวช. จากเดิม นักเรียน 20 คน ต่อครู 1 คน เป็นนักเรียน 10 คน ต่อครู 1 คน ทำให้ได้รับเงินอุดหนุนรายบุคคลในส่วนของเงินสมทบเงินเดือนครูเพิ่มขึ้น 12,040 บาท/คน/ปี
<p.
- เพิ่มเงินอุดหนุนสมทบเงินเดือนพี่เลี้ยง จำนวน 7,200 บาท/คน/ปี ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี จะได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นกว่า 118 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2566 เป็นต้นไป และขอจัดสรรอัตรากำลังข้าราชการครู พนักงานราชการ มาปฏิบัติงานในโรงเรียนเอกชนเฉพาะความพิการ 10 แห่ง รวม 32 อัตรา
- ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อให้การช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษในโรงเรียนเอกชน ตามโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จำนวน 3,000 บาท/คน/ปี โดยเบื้องต้นมีนักเรียนโรงเรียนเอกชนการกุศลและการศึกษาสงเคราะห์ที่ผ่านเกณฑ์ความยากจนพิเศษจากระบบการคัดกรองของ กสศ. จำนวน 2,495 คน ซึ่งจะได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ในปีการศึกษา 2564 และในโอกาสต่อไปจะให้ความช่วยเหลือนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ความยากจนพิเศษซึ่งศึกษาอยู่ในโรงเรียนสามัญศึกษาทั่วไป อีกจำนวน 1,592 คน
- ส่งเสริมกิจการลูกเสือในโรงเรียนเอกชน โดยสนับสนุนงบประมาณสำหรับการจัดอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือ การจัดอบรมลูกเสือมัคคุเทศก์ของโรงเรียนเอกชน และโครงการลูกเสือจิตอาสาพระราชทาน โดยดำเนินการร่วมกับสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ (สลช.)
- ให้การช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนที่ประสบอุทกภัย โดยมอบหมาย สช.ลงพื้นที่เพื่อมอบเงินช่วยเหลือในเบื้องต้น โรงเรียนละ 10,000 บาท และสำรวจความเสียหายเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล และประสานงานกับโรงเรียนในพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมและเฝ้าระวังเหตุการณ์
“ขอบคุณและให้กำลังใจกับคณะผู้บริหาร ครู และนักเรียนโรงเรียนเอกชนทุกคน ที่ได้ให้ความร่วมมือในการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการด้วยดีตลอดมา ขอให้การประชุมในวันนี้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตั้งไว้ทุกประการ หวังเป็นอย่างยิ่งว่านโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาเอกชนที่ได้ร่วมผลักดันมาโดยตลอดจะส่งผลให้โรงเรียนเอกชนมีความเข้มแข็ง เป็นกำลังสำคัญร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการในการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนไทยต่อไป”
นายกสมาคม ปส.กช. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากนโยบายการจัดการศึกษาของ รมช.ศธ. ด้านการปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้, การพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูและสถานศึกษา, การปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยดิจิทัล, การจัดสรรและการกระจายทรัพยากรทางการศึกษาให้ทั่วถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย, การเพิ่มโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส, การจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยโดยยึดหลักการเรียนรู้ตลอดชีวิต, การส่งเสริมสนับสนุนสถานศึกษาให้มีความเป็นอิสระและคล่องตัว โดยให้ความสำคัญกับการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ผ่านกลไกการรับฟังความคิดเห็นมาประกอบการดำเนินงานเพื่อประโยชน์ต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาในภาพรวมนั้น โรงเรียนเอกชนตระหนักถึงความสำคัญของนโยบายการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ และพร้อมจะร่วมขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือการมีผู้เรียนเป็นเป้าหมายแห่งการพัฒนา
สำหรับการประชุมในวันนี้เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีความรู้และเข้าใจในนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ น้อมนำไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป