รมช.ศธ.“กนกวรรณ” ลงพื้นที่ปัตตานี-ยะลา เปิดกิจกรรม “Science in Traditional Toys” พร้อมรับฟังแนวทางพัฒนาคุณภาพการศึกษาเอกชนชายแดนใต้
(9 ตุลาคม 2564) นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดกิจกรรมนิทรรศการวิทยาศาสตร์ “การเล่น เรียน รู้ ของเล่นภูมิปัญญาไทย Science in Traditional Toys” พร้อมด้วยนายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศธ., นายพะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศธ., นายสุรศักดิ์ อินศรีไกร เลขาธิการ กศน. โดยว่าที่ร้อยตรีตระกูล โทธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี, นายชัยณรงค์ ป้องบ้านเรือ ศึกษาธิการภาค 7, นายชนินทร วรรณวิจิตร รองผู้อำนวยการ อพวช., นายวาทิต มีสนุ่น ผอ.ศปบ.จชต., นายจตุรภัทร เวชสิทธิ์ ผอ.ศว.ปัตตานี ร่วมงาน ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาปัตตานี
รมช.ศธ. กล่าวว่า ในฐานะที่กำกับดูแลศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ศว.) ทำให้รับรู้และตระหนักดีว่า การจัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เป็นการจัดการศึกษาที่เสริมสร้างคนให้รู้จักคิด วิเคราะห์ ส่งผลให้ได้รู้จักการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการคิดที่ถูกต้อง ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนพื้นที่ สิ่งสำคัญในการลงพื้นที่ตรวจราชการครั้งนี้ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่คณะครู บุคลากร รวมทั้งพบปะภาคีเครือข่ายของ ศว.ปัตตานี ซึ่งทราบว่ามีความเข้มแข็งอยู่แล้ว แต่ก็จะได้รับฟังปัญหาจากทุกภาคส่วน เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขเชิงนโยบายต่อไป
ถือเป็นครั้งแรกที่เลขาธิการ กศน. ท่านใหม่ ได้มาลงพื้นที่ และได้ร่วมรับฟังปัญหากับบุคลากรชั้นผู้น้อย ซึ่งจะไม่ค่อยมีโอกาสแสดงความคิดเห็น และไม่กล้าเสนอเรื่องบางเรื่องให้แก่ผู้บังคับบัญชาได้รับทราบ จากการได้คุยกับคนชั้นผู้น้อย เราจะได้เห็นปัญหาและแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดมากที่สุด นอกจากนี้ เพื่อให้บุคลากรในองค์กรของเรา ที่มีความศรัทธา มีความขยัน และมีหัวใจในการทำงาน ได้รับโอกาสในการทำงาน ซึ่งจะส่งผลให้องค์กรมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ต้องการให้พี่น้องประชาชนช่วยกันรณรงค์ไปฉีดวัคซีน เพื่อให้สถานศึกษา และเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
ในการนี้ รมช.ศธ. และคณะ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการการเล่น เรียน รู้ ของเล่นภูมิปัญญาไทย โดยภายในงาน มีของเล่นภูมิปัญญาไทยมากมาย อาทิ หนูกะลา หนอนดิน รถหลอดด้าย พร้อมทั้งสาธิตวิธีการเล่น “ลูกข่างหมุน” ซึ่งเป็นการหมุนรอบแกนด้วยแรงที่เท่ากันทุกทิศทาง ทำให้ลูกข่างหมุนอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะมีแรงอื่นมากระทำ เป็นไปตามกฎของนิวตั้นข้อหนึ่งที่ว่า “วัตถุจะสามารถรักษาสภาพการเคลื่อนที่ให้คงที่จนกว่าจะมีแรงอื่นมากระทำให้หยุดลง” รวมทั้งเยี่ยมชมนิทรรศการ “เทคโนโลยีดิจิทัลสู่โลก อนาคต” มีการจัดบูธต่าง ๆ อาทิ เทคโนโลยีสื่อสารและอวกาศ, อะไร อะไรก็…โดรน, เทคโนโลยีด้านสุขภาวะ Gadgets ล้ำสมัย พร้อมทั้งปลูกต้นชะบา บริเวณหน้าอาคาร ศว.ปัตตานี
รมช.ศธ.ให้เกียรติมอบโล่เกียรติคุณ รางวัลที่ 3 ระดับประเทศ สาขาบุคลากรสังกัดสถานศึกษาขึ้นตรง ประเภทรองผู้อํานวยการ สถานศึกษาขึ้นตรงดีเด่น ประจําปี 2563 แก่นางสาวณัฐทินี ศรประสิทธิ์ รองผู้อํานวยการศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนปัตตานี และมอบโล่รางวัลชนะเลิศ ระดับเพชรยอดเยี่ยม กิจกรรมผลิตและเผยแพร่คลิปวิดีโอ Ecoprinting เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาตามโครงการกิจกรรม การศึกษาทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม กิจกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการดํารงชีวิตตามรอยเบื้องพระยุคลบาท แก่นายอมรชัย ศรีสุวรรณ จัดโดย ศว.ยะลา
ช่วงบ่าย รมช.ศธ. พร้อมด้วยนายพีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยนายกามาล อับดุลวาฮับ ผู้อำนวยการโรงเรียน ให้การต้อนรับ ณ โรงเรียนมูลนิธิอาซิซสถาน อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี
โรงเรียนมูลนิธิอาซิซสถาน เดิมชื่อ ปอเนาะอาซิซ โดยชาวบ้านที่ประสงค์จะอาศัยอยู่ในชุมชนปอเนาะ สร้างบาลาเซาะห์ (สถานที่ละหมาดขนาดเล็ก) เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้คัมภีร์อัลกุลอานและหลักการศาสนาอิสลามร่วมกันสร้างขึ้น จนเมื่อปี 2557 ได้ขยายชั้นเรียนเปิดการเรียนการสอนระดับ ม.1-ม.6 และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) มีครูและบุคลากรทางการศึกษา 210 คน นักเรียนระดับมัธยม 2,502 คน ระดับ ปวช. 184 คน ได้รับเงินอุดหนุนจาก สช. กว่า 3,400,000 บาทเศษต่อเดือน โดยเน้นไปที่การสอนศาสนาควบคู่กับวิชาสามัญเป็นหลัก
จากนั้น รมช.ศธ. และคณะ เดินทางไปรับฟังปัญหา และแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเอกชนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จากผู้อำนวยการสานักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด/อำเภอในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ให้การต้อนรับ ณ สำนักงานศึกษาธิการภาค 7 จังหวัดยะลา โดย รมช.ศธ.ได้ให้แนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเอกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องเน้นพัฒนา 3 ด้าน อย่างเร่งด่วน คือ
1. โรงเรียนในระบบ (โรงเรียนสามัญ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่สามัญ)
- ระดับประถมศึกษา ต้องยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในรายวิชาภาษาไทยและคณิตศาสตร์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือการเรียนรู้โดยพัฒนาทักษะการจัดการเรียนการสอนของครู การออกแบบการจัดการเรียนรู้ การผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนการสอน การนิเทศติดตามประเมินผลในระดับชั้นเรียน โดยจะมุ่งเน้นในระดับ ป.1-3 เป็นลำดับแรก รวมทั้งวิเคราะห์ค้นหาความถนัด ความสนใจของนักเรียนตามแนวคิดทฤษฎีพหุปัญญา กล่าวคือธรรมชาติของเด็กมีความสามารถที่แตกต่างกันจึงต้องให้โรงเรียนจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับความถนัดและความสนใจของนักเรียนด้วย โดยจะมุ่งเน้นในระดับ ป.4-6
- ระดับมัธยมศึกษา ต้องคัดกรองนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 เพื่อประเมินความสามารถการอ่านออกเขียนได้ และความสามารถด้านคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์ หากพบว่า นักเรียนอ่านเขียนไม่คล่อง หรืออ่อนคณิต-วิทย์ โรงเรียนต้องจัดให้มีการจัดการเรียนการสอนเพื่อปรับพื้นฐาน อีกทั้งวิเคราะห์ค้นหาความถนัด ความสนใจของนักเรียนแต่ละคนตามแนวคิดทฤษฎีพหุปัญญา เพื่อให้โรงเรียนสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอน กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนให้สอดคล้องกับความถนัดความสนใจของนักเรียน รวมทั้งปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรอิสลามศึกษา พ.ศ. 2546 ที่ให้จัดการเรียนการสอนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเป็นหลักสูตรที่อิงมาตรฐาน แต่ยังขาดรายละเอียดต่าง ๆอาทิ การกำหนดเวลาเรียนตามโครงสร้าง ตัวชี้วัด สมรรถนะของผู้เรียน ตลอดจนสาระการเรียนรู้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม
2. ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา)
ต้องสร้างและส่งเสริมให้สถานศึกษาในระบบที่มีการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรอิสลามศึกษา เข้าใจและเห็นศักยภาพการบริหารศูนย์ฯ ด้านการบริหาร วิชาการและการวัดผลประเมินผลมีความถูกต้อง ชัดเจนสามารถนำไปต่อยอดการเรียนในระดับที่สูงขึ้นไปได้ ตลอดจนพัฒนาระบบเอกสารการจบหลักสูตรศูนย์ฯ ให้มีลักษณะเหมือนเอกสาร การจบหลักสูตรของโรงเรียนในระบบที่เปิดสอนตามหลักสูตรอิสลามศึกษา (Transcript) ปอ.1, หลักฐานแสดงวุฒิการศึกษา (ใบประกาศนียบัตร), ปอ.2 และแบบรายงานผู้สำเร็จการศึกษา ปอ.3
3. สถาบันศึกษาปอเนาะ
ต้องพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรม จริยธรรมอันดีงามตามหลักศาสนาควบคู่กับการมีความรู้ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและพัฒนาทักษะอาชีพ เพื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมีกิจกรรมที่สำคัญดสนับสนุน ส่งเสริมการจัดการศึกษา ด้านศาสนาตามระดับการศึกษาของหลักสูตรแกนกลางสถาบันศึกษาปอเนาะ พ.ศ.2561
ทั้งนี้ ในส่วนของปัญหาผลการสอบ O-NET ของโรงเรียนเอกชนทั้งระดับ ม.3 และ ม.6 ของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศในทุกวิชานั้น รมช.ศธ.ได้มอบหมายให้เลขาธิการ กช. รวมทั้ง ผอ.สำนักงานการศึกษาเอกชน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตาม 3 จุดเน้นดังกล่าวข้างต้นอย่างเร่งด่วน เชื่อว่าแนวโน้มคะแนนการสอบ O-NET ในทุกระดับต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน