ข่าว ศธ. 360 องศา

ผลการประชุมคณะกรรมการ PISA แห่งชาติ ครั้งที่ 4/1/2564

ผลการประชุมคณะกรรมการ PISA แห่งชาติ ครั้งที่ 4/1/2564

 width=

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ PISA แห่งชาติ จัดการประชุมคณะกรรมการ PISA แห่งชาติ ครั้งที่ 4/1/2564 เมื่อวันจันทร์ที่ 20 กันยายน 2564 เวลา 13.30-16.00 น. ด้วยระบบการประชุมทางไกล Zoom Meeing โดยมีคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมประชุมในฐานะที่ปรึกษา และนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ประธานคณะกรรมการ PISA แห่งชาติ เป็นประธานการประชุม โดยการประชุมดังกล่าวเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสร้างเครือข่ายการดำเนินงานแบบบูรณาการ เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของชาติ อันนำไปสู่การยกระดับผลการประเมิน PISA ของประเทศไทย

การประชุมครั้งนี้มีวาระสำคัญ คือ การรายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับการดำเนินงานโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) สำหรับรอบการประเมิน PISA 2022 ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของประเทศไทยในปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดขยายเป็นวงกว้างไปทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจัดสอบรอบทดลองใช้เครื่องมือของ PISA 2022 ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถดำเนินการจัดสอบในเดือนสิงหาคม 2564 ได้ แต่ยังคงดำเนินงานตามกระบวนการในส่วนกิจกรรมที่ไม่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยของคุณครูและนักเรียน นั่นคือ การเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้บริหารโรงเรียนผ่านทางแบบสอบถามออนไลน์ ซึ่งทาง OECD ได้รับทราบข้อสรุปและแผนการดำเนินงานดังกล่าวของประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม การจัดสอบ PISA 2022 รอบการวิจัยหลัก จะดำเนินการในเดือนสิงหาคม 2565 ต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีวาระสำคัญอื่น ๆ เกี่ยวกับการรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประเมิน PISA ได้แก่ การขับเคลื่อนนโยบาย “เด็กไทยวิถีใหม่ อ่านออกเขียนได้ทุกคน” เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันระดับนานาชาติ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) การดำเนินงานโครงการเพิ่มศักยภาพครูให้มีสมรรถนะครูยุคใหม่สำหรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดย สสวท. และการดำเนินงานโครงการประเมินสมรรถนะผู้เรียนตามมาตรฐานสากลเพื่อการพัฒนาสถานศึกษา (PISA for Schools) โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ทั้งนี้ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ได้ให้ข้อสังเกตแก่ที่ประชุมว่า การเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือภาษาไทยของนักเรียน อยากให้เน้นที่การนำความรู้ที่ได้จากการเรียนวิชาดังกล่าวไปเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของนักเรียนให้มากกว่าเดิม เนื่องจากช่วงสถานการณ์ COVID-19 ทำให้นักเรียนได้อยู่บ้านมากขึ้น จึงอยากให้คุณครูที่สอนในวิชาดังกล่าวเน้นสอนให้นักเรียนคิดหาวิธีในการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ เพื่อลดภาระของพ่อแม่ ซึ่งจะทำให้เกิดบรรยากาศและความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว

 data-attachment-id=
 data-attachment-id=

ข่าว : สสวท.

ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง

Top