“ตรีนุช” ร่วมตั้งเข็มทิศการศึกษาอาเซม 2030

“ตรีนุช” ร่วมตั้งเข็มทิศการศึกษาอาเซม 2030

ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมรัฐมนตรีศึกษาเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) ครั้งที่ 8 ผ่านระบบออนไลน์ 50 ประเทศร่วมตั้งเข็มทิศการศึกษาอาเซม ค.ศ.2030 เน้นเป้าหมาย 4 หัวข้อใหญ่ ในขณะที่ รมว.ศธ. “ตรีนุช เทียนทอง” ลั่นไทยพร้อมดำเนินการตามยุทธศาสตร์

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2564 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีศึกษาเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 8 (ASEM Education Ministers’ Meeting : ASEMME 8) ในรูปแบบทางไกล ผ่านโปรแกรม Microsoft Team

โดยมีรัฐมนตรีศึกษาจากประเทศสมาชิกอาเซม ทั้งเอเชียและยุโรป ผู้แทนสหภาพยุโรป (European Union) อาเซียน (ASEAN Secretariat) และภาคีเครือข่ายด้านการศึกษาของอาเชม 50 ประเทศ กว่า  120 คน เข้าร่วมการประชุม ภายใต้หัวข้อ “ASEM Education 2030 : Towards more resilient, prosperous and sustainable futures” หรือ “ การศึกษาอาเซม พ.ศ.2573 : สู่อนาคตที่ยืดหยุ่น มั่งคั่ง และยั่งยืนมากขึ้น”

การประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซม จัดขึ้นทุก 2 ปี เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินความร่วมมือในสาขาการศึกษา และกำหนดแนวทางการดำเนินความร่วมมือระหว่างกัน โดยได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.2008 หรือ พ.ศ.2551 และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 8 ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ และเป็นการประชุมต่อเนื่องจากการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซม ครั้งที่ 2 (ASEM Education Senior Officials’ Meeting: SOM2) ซึ่งจัดไปเมื่อวันที่ 13 – 14 ธ.ค. 2564

ในส่วนของการประชุม ASEMME 8 นี้ เป็นเวทีให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่รับผิดชอบงานด้านการศึกษาของประเทศสมาชิก ได้รับทราบผลการดำเนินความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพระหว่างกัน พร้อมทั้งร่วมกันกำหนดแนวทางและกิจกรรมที่จะดำเนินการร่วมกันไปจนถึงปี ค.ศ. 2030

ที่ประชุม ASEMME 8 ได้รับรองยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการด้านการศึกษาของอาเซม 2030 ซึ่งเป็นการกำหนดทิศทางที่สำคัญมากของความร่วมมือด้านการศึกษาภายใต้กรอบอาเซมในอนาคต โดยยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาของอาเซม เน้นเป้าหมาย 4 หัวข้อใหญ่ คือ

  • การประกันคุณภาพและการรับรองคุณวุฒิทางการศึกษา
  • การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในการศึกษา
  • การเคลื่อนที่เพื่อแลกเปลี่ยนอย่างสมดุลระหว่างเอเชียและยุโรป
  • การเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมถึงการศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา

อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการรับมือกับความท้าทายของโลกปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับรองข้อสรุป หรือ Chair’s Conclusions ซึ่งเน้นย้ำความร่วมมือของประเทศสมาชิกอาเซมและเครือข่ายด้านการศึกษาของอาเซมในการดำเนินตามยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา การส่งเสริมข้อริเริ่มกิจกรรมและโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ การดำเนินการของเครือข่ายด้านการศึกษาของอาเซม

ซึ่งประเทศไทย โดยกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีความพร้อมและความเชื่อมั่นที่จะดำเนินการตามยุทธศาสตร์ และให้การสนับสนุนความร่วมมือด้านการศึกษาของอาเซมอย่างเต็มที่

 data-attachment-id=
 data-attachment-id=
 data-attachment-id=
 data-attachment-id=