รมว.ศธ.เปิดโครงการอารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง”
เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2564 ณ โรงเรียนราชประชาสมาสัย ฝ่ายมัธยม รัชดาภิเษก ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดสมุทรปราการ : กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดโครงการอารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธี, คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษธิการ, นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ 245 แห่ง เข้าร่วมพิธีผ่านระบบ Video Conference
รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า นางาสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในนามของข้าราชการ และบุคลากรทางการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ที่พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานโครงการ อารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงด้วย “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” อันจะเป็นคุณประโยชน์ต่อระบบการศึกษาของเด็กไทย และของประเทศชาติสืบไป
ปวงข้าพระพุทธเจ้า ต่างประจักษ์ในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงห่วงใยพสกนิกรทุกหมู่เหล่า น้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา โดยเฉพาะทรงห่วงใยการศึกษาของเด็กไทยที่กำลังจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ
โครงการ อารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงด้วย “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” เป็นการน้อมนำแนวทางพระราชทาน หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ มาประยุกต์แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง และทำนา ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อเป็นการสร้างต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็ก และสามารถดำเนินการได้ในทุกเงื่อนไขของพื้นที่ โดยมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพื้นฐานแนวความคิด ฝึกวินัย ลงมือปฏิบัติ แก้ปัญหาจริงในท้องถิ่น สู่การเรียนรู้ในสถานศึกษาให้เกิดผลในมิติต่าง ๆ ทางด้านการพึ่งพา มีความกตัญญู การพัฒนาจิตใจ การพัฒนาทางปัญญา รวมทั้งสามารถเป็นที่พึ่งของชุมชนได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งจะเป็นกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ของปวงข้าพระพุทธเจ้าทุกคน และพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้นี้ จักตราตรึงอยู่ในจิตใจของปวงข้าพระพุทธเจ้าตลอดไป ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ให้เป็นการประยุกต์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง และทำนา เพื่อเป็นการสร้างต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็ก และสามารถดำเนินการได้ในทุกเงื่อนไขของพื้นที่ โดยมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพื้นฐานแนวความคิด ฝึกวินัย ลงมือปฏิบัติ แก้ปัญหาจริงในท้องถิ่นสู่การเรียนรู้ในสถานศึกษา ให้เกิดผลในมิติต่าง ๆ ทางด้านการพึ่งพาตนเอง มีความกตัญญู พัฒนาจิตใจ ปัญญา รวมทั้งสามารถเป็นที่พึ่งของชุมชนได้ อย่างมั่นคงและยั่งยืน
สพฐ. ตระหนักถึงความสำคัญและได้น้อมนำโครงการมาปฏิบัติ โดยดำเนินการคัดเลือกสถานศึกษานำร่อง ระยะที่ 1 และระยะที่ 1 (เพิ่มเติม) จำนวน 102 โรงเรียน และได้ประสานความร่วมมือกับ ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ศูนย์การเรียนกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง (โรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย) และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ระยะที่ 1 เตรียมการพื้นฐานโครงการ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้กับสถานศึกษานำร่อง ระยะที่ 1 และระยะที่ 1 (เพิ่มเติม) เมื่อวันที่ 13 – 22 กันยายน และวันที่ 29 กันยายน 2564 ส่งผลให้สถานศึกษามีความรู้ ความเข้าใจ และแนวทางที่ชัดเจน สำหรับนำมาพัฒนาจัดระบบการเรียนการสอน ตามหลักการ 5 เปลี่ยน 5 ประเมิน โดยสามารถปรับให้เข้ากับภูมิสังคมและบริบทของแต่ละท้องถิ่น อันจะนำพานักเรียนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ตลอดจนเป็นที่พึ่งของชุมชนต่อไป
ทั้งนี้ สพฐ. และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จะทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ร่วมกันดำเนินงานโครงการ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างเยาวชนให้เป็นคนดี มีความกตัญญู เป็นกำลังในการพัฒนาชาติสืบไป
“อารยเกษตร จะเป็นต้นแบบตัวอย่างของความสำเร็จ ทางด้านรูปธรรมและนามธรรม โดยน้อมนำองค์ความรู้ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ตลอดจนคุณธรรม จากการได้ลงมือ ลงใจศึกษา และมาปฏิบัติด้วยตนเอง จนเกิดผลตามแนวทางพระราชทานอารยเกษตร ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
อานนท์ วิชานนท์ / สรุป
กิตติกร แซ่หมู่ / ภาพ