มติ ครม.ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ
สรุปมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ 2 เรื่อง คือ 1) อนุมัติโครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินแล้ว ในภาคการศึกษาที่ 1/2564 กรอบวงเงิน 21,905.9200 ล้านบาท 2) เห็นชอบโครงการทุนอุดหนุนนักเรียนเรียนดีมีความสามารถ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ โครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ได้มีมติที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของข้อเสนอแผนงานหรือโครงการเพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ดังนี้
- อนุมัติโครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ตามมาตรการที่ 1 โดยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา จำนวน 2,000 บาทต่อคน ในภาคการศึกษาที่ 1/2564 กรอบวงเงิน 21,905.9200 ล้านบาท โดยใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 2 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ทั้งนี้ เห็นควรมอบหมายให้ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณากำหนดกลไกการตรวจสอบยืนยันตัวตนของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดการให้ความช่วยเหลือที่ซ้ำซ้อนของนักเรียน/นักศึกษาในสถานศึกษาทั้งหมดในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทั้งสถานศึกษาของรัฐและสถานศึกษาเอกชน และนอกสังกัดกระทรวงศึกษาธิการควบคู่กับการกำหนดหลักเกณฑ์และระบบการจัดเก็บเอกสารและหลักฐานต่าง ๆ ที่ใช้ในการเบิกจ่ายอย่างชัดเจน เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้
- เห็นควรมอบหมายให้หน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษา เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ ดำเนินการจัดทำความต้องการใช้จ่ายเป็นรายสัปดาห์ เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะสามารถจัดหาเงินกู้เพื่อใช้จ่ายโครงการตามแผนการใช้จ่ายเงินที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการเงินของภาครัฐ พร้อมทั้งปฏิบัติตามข้อ 15 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 พ.ศ. 2564 (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) โดยเคร่งครัดตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ เห็นควรให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ทำหน้าที่เบิกจ่ายแทนกันให้สถานศึกษาในสังกัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล
- มอบหมายให้สถานศึกษาของรัฐ เบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการจัดการเรียนการสอนและการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ตามระเบียบของทางราชการ และในกรณีที่สถานศึกษามีความจำเป็นต้องขอรับความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายดังกล่าวเพิ่มเติมจากภาครัฐให้เสนอขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายดังกล่าวจากแหล่งเงินอื่น ๆ อาทิ เงินกองทุนต่าง ๆ เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็นตามขั้นตอนของระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ กรณีสถานศึกษาที่อยู่ภายใต้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรพิจารณาใช้แหล่งเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นลำดับแรก
นอกจากนี้ ได้อนุมัติโครงการมาตรการการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนิสิต นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน ของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรอบวงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 2 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ทั้งนี้เห็นควรมอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เร่งประสานกับกรมบัญชีกลาง เกี่ยวกับการกำหนดแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเงินแทนกันของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และสถาบันอุดมศึกษาในกำกับและหน่วยงานในกำกับอื่นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้การเบิกจ่ายเงินตามโครงการฯ เป็นไปโดยถูกต้องตามระเบียบของทางราชการและสามารถตรวจสอบได้
ทั้งนี้ เห็นควรให้สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พิจารณากำหนดกลไกการตรวจสอบยืนยันตัวตนของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนของนิสิต นักคึกษาระดับอุดมศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชนในภาคเรียนที่ 1 ที่ได้รับความช่วยเหลือ ควบคู่กับการกำหนดหลักเกณฑ์และระบบการจัดเก็บเอกสารและหลักฐานต่าง ๆ ที่ใช้ในการเบิกจ่ายอย่างชัดเจน เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างโปร่งใส และ ตรวจสอบได้
โดยมอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ ดำเนินการจัดทำความต้องการใช้จ่ายเป็นรายสัปดาห์ เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สามารถจัดหาเงินกู้เพื่อใช้จ่ายโครงการตามแผนการใช้จ่ายเงินที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการเงินของภาครัฐ พร้อมทั้งปฏิบัติตามข้อ 15 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 โดยเคร่งครัดตามขั้นตอนต่อไป
เห็นชอบโครงการทุนอุดหนุนนักเรียนเรียนดีมีความสามารถในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงิน 181,500,000 บาท
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการทุนอุดหนุนนักเรียนเรียนดีมีความสามารถในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2572 ภายในกรอบวงเงิน 181,500,000 บาท
โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ใช้จ่ายจากงบประมาณที่ได้เสนอตั้งรองรับไว้แล้วเป็นลำดับแรก หากไม่เพียงพอให้พิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสม สำหรับค่าใช้จ่ายในปีต่อ ๆ ไป ให้ สอศ.จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณพร้อมรายละเอียดค่าใช้จ่ายให้ชัดเจน เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็น เหมาะสม และสอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของเรื่อง
- ศธ.โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้เห็นถึงความสำคัญของนโยบายรัฐบาลด้านการศึกษาเพื่อความมั่นคงให้เยาวชนมีอาชีพ มีงานทำ และนโยบายของ ศธ. ในการเพิ่มจำนวนนักเรียนสายอาชีพให้มากขึ้น แต่เนื่องด้วยนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีฐานะยากจนไม่สามารถศึกษาต่อในระดับที่สูงได้ทำให้ขาดโอกาสทางการศึกษา ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สอศ. จึงได้จัดสรรทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 มัธยมศึกษาปีที่ 6 และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ในพื้นที่ดังกล่าว ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 จนถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนสายอาชีพและช่วยเหลือเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้ได้รับทุนโครงการฯ ในระดับ ปวช. ประมาณ 3,000 คน และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ประมาณ 900 คน ทั้งนี้ ศธ. แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมว่าไม่ได้ดำเนินการรับสมัครนักเรียนในโครงการฯ ในปีการศึกษา พ.ศ. 2562 – 2564 เนื่องจากอยู่ระหว่างขั้นตอนนำกรอบวงเงินงบประมาณโครงการฯ เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา (ที่ผ่านมาเป็นการใช้งบประมาณภายใต้แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ งบเงินอุดหนุน เงินอุดหนุนทั่วไป รายการเงินอุดหนุนโครงการนักเรียนเรียนดีมีความสามารถในจังหวัดชายแดนภาคใต้ศึกษาต่อสายอาชีพ ของ สอศ. ในการดำเนินโครงการฯ)
- เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ [รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน] ในการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการฯ ของ สอศ. และให้ สอศ. เสนอโครงการฯ ต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยสาระสำคัญของโครงการฯ สรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ | รายละเอียดโครงการฯ |
วัตถุประสงค์ | (1) เพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับนักเรียนเรียนดีมีความสามารถในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 มัธยมศึกษาปีที่ 6 และระดับ ปวช. ได้เข้าศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส. ในสถานศึกษาสังกัด สอศ. ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (2) เพื่อเพิ่มสัดส่วนปริมาณผู้เรียนอาชีวศึกษาในสถานศึกษาสังกัด สอศ. (3) เพื่อสนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษา เมื่อจบการศึกษาระดับ ปวช. และระดับ ปวส. แล้วมีงานทำ |
ระยะเวลาดำเนินการ | ปีการศึกษา พ.ศ. 2563 – 2571 รวม 8 ปีการศึกษา (อยู่ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2572) |
หน่วยงานที่รับผิดชอบ | สอศ. และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ศูนย์พัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้) |
งบประมาณ และเป้าหมาย ในการจัดสรรทุน | 181.50 ล้านบาท เพื่อจัดสรรทุนการศึกษา จำนวน 2,400 ทุน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2572 ดังนี้ (1) ระดับ ปวช. จำนวน 1,800 ทุน ทุนละ 30,000 บาท/คน/ปี ระยะเวลาการศึกษา 3 ปี รวม 139.50 ล้นบาท (2) ระดับ ปวส. จำนวน 600 ทุน ทุนละ 40,000 บาท/คน/ปี ระยะเวลาการศึกษา 2 ปี รวม 42 ล้านบาท |
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ได้รับทุน เช่น | (1) ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดสงขลา 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอสะเดา ไม่น้อยกว่า 2 ปี นับถึงวันแรกของการรับสมัคร (2) สำหรับทุน ปวช. ต้องสำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเทียบเท่าในสถานศึกษาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสำหรับทุน ปวส. ต้องสำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือระดับ ปวช. หรือเทียบเท่าในสถานศึกษาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (3) มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง ไม่มีโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาและการฝึกปฏิบัติ (4) เป็นผู้ผ่านการสอบคัดเลือกและมีรายชื่อในประกาศผลการสอบคัดเลือก (5) หากเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือเป็นบุตร หรือผู้ที่อยู่ในอุปการะของผู้ที่ได้รับผลกระทบจะพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ |
รายละเอียดเพิ่มเติม
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/44386