มติ ครม.ที่เกี่ยวข้องกับ ศธ. “ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในการดำเนินงานของทุกส่วนราชการ”
(30 มีนาคม 2564) มติคณะรัฐมนตรี รับทราบตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอสรุปผลการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมีข้อสั่งการสำคัญใน 12 ประเด็น เพื่อคณะรัฐมนตรีจะได้กำกับและติดตามการดำเนินงานของหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่าได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป สรุปได้ ดังนี้
ข้อสั่งการ/การมอบหมายงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทุกส่วนราชการ รวมทั้ง ศธ. รวม 8 ประเด็น คือ
1. ให้พิจารณาข้อเสนอแนวทางการขับเคลื่อน กระตุ้น และฟื้นฟู เศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการใช้ชีวิตวิถีใหม่ของประชาชนภายใต้บริบทการบริหารจัดการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีแนวโน้มดีขึ้น มีจำนวนผู้ติดเชื้อภายในประเทศลดลงและเริ่มฉีดวัคซีนให้กับประชาชนแล้ว ทั้งนี้ ให้พิจารณาปรับเปลี่ยนรูปแบบการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชนให้สอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ |
2. ให้จัดทำวิดีทัศน์นำเสนอผลงานของหน่วยงาน ที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลให้มีรูปแบบการนำเสนอที่น่าสนใจ ทันสมัย เพื่อเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อประชาชนอย่างต่อเนื่อง |
3. ให้นำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ปฏิบัติงาน การอำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชน โดยอาจพิจารณาสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล |
4. ให้เร่งแก้ไขปัญหาเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชน ตามที่ได้รับการประสานจากศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ด้วยความรวดเร็ว |
5. ให้พิจารณาจัดส่งข้อมูลให้กับ สปน. ตามที่ได้รับการร้องขอตามแนวทางที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 โดยเคร่งครัด |
6. ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมจิตอาสา โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมจิตอาสาในพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ |
7. ให้เร่งรัดดำเนินการสรรหา สอบคัดเลือก และบรรจุแต่งตั้งบุคคล เข้ารับราชการหรือปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อทดแทนอัตราว่างจากการเกษียณและอัตราตั้งใหม่ที่ได้รับการจัดสรรไว้แล้วแต่ยังไม่ได้รับการบรรจุแต่งตั้ง เพื่อเพิ่มโอกาสในการมีงานทำของประชาชนและบรรเทาผลกระทบของการว่างงานจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 |
8, ให้กวดขันและเข้มงวดในการปฏิบัติงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ ให้เป็นไปด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อลดโอกาสในการทุจริตประพฤติมิชอบ |