เมื่อวันพุธที่ 27 ตุลาคม 2564 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมแถลงผลงานการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาส ภายใต้แนวคิด “การศึกษาพิเศษไทย หัวใจนำทาง” ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศธ. นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการ รมว.ศธ. นายพะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศธ. และผู้จัดการกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา และผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมงาน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาพิเศษ และมีนโยบายการเพิ่มโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา และผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ โดยการศึกษาไทยจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้ขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาพิเศษ ภายใต้แนวคิด “การศึกษาไทย หัวใจนำทาง” ใน 4 ภารกิจหลักเร่งด่วน (Quick Win) ดังนี้
ประการแรก “ปักหมุดค้นหาเด็กพิการตกหล่น” เพื่อนำเด็กพิการในพื้นที่ต่าง ๆ เข้าสู่ระบบคัดกรองและจัดทำฐานข้อมูล (Big Data) ส่งต่อระบบการศึกษา การให้บริการทางการศึกษา ที่สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษของแต่ละบุคคล ซึ่งข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่ามีเด็กพิการในวัยเรียนที่อายุไม่เกิน 18 ปี และยังไม่เข้าสู่ระบบการศึกษากว่า 7,000 คน โดยศูนย์การศึกษาพิเศษทุกจังหวัด จะทำการค้นหาเด็กพิการกลุ่มนี้เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาต่อไป ในประการที่ 2 ได้จัดทำคู่มือสื่อบัญชี ก-ข-ค สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นทางการศึกษา ที่ศูนย์การศึกษาพิเศษและโรงเรียนเรียนรวมในจังหวัดที่ศูนย์การศึกษาพิเศษรับผิดชอบ
ประการสำคัญเพื่อสนองพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ให้ไว้ในการช่วยเหลือเด็กที่เจ็บป่วยในโรงพยาบาล จึงสนับสนุนการดำเนินงานศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล 85 ศูนย์การเรียนในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้บริการทางการศึกษาแก่บุคคลที่มีความบกพร่องทางสุขภาพวัยเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดเป็นคนพิการทางการศึกษา ประเภทบุคคลที่มีความบกพร่องทางสุขภาพ โดยให้การช่วยเหลือเด็กที่เจ็บป่วยระหว่างพักรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือที่บ้านเป็นเวลานาน ไม่สามารถไปเรียนในสถานศึกษาได้ตามปกติ ให้ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องลาออกจากสถานศึกษากลางคัน และประการสุดท้าย เพื่อการสร้างและส่งต่อแรงบันดาลใจ ให้สาธารณะได้รับรู้ว่า เด็กพิการและเด็กด้อยโอกาสที่มีอยู่มากมายในโรงเรียนการศึกษาพิเศษ ถูกบ่มเพาะด้วยความรักและแรงบันดาลใจจากครู ทำให้ก้าวข้ามคำว่า พิการหรือด้อยโอกาส จนประสบความสำเร็จ
“การศึกษาพิเศษ ถือเป็นส่วนที่สำคัญของประเทศ เพื่อพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัย เพื่อให้เป็นคนดี คนเก่ง และคนมีคุณภาพ มีความพร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา มีพัฒนาการที่ดีรอบด้าน และมีสุขภาวะที่ดี มีจิตสาธารณะ รับผิดชอบต่อสังคมและผู้อื่น ซึ่งการจะขับเคลื่อนการศึกษาพิเศษ ให้บรรลุถึงเป้าหมายเดียวกัน คือ การมีผู้เรียนเป็นเป้าหมายแห่งการพัฒนา (Student Centricity) ที่จะต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมใจ และผนึกกำลังจากทุกภาคส่วน
ขอแสดงความขอบคุณรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการทั้งสองท่าน โดย คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ที่ติดตามและให้การช่วยเหลือเด็กพิเศษอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพสูงสุด การจัดการเรียนการสอนแบบ Coding สร้างทักษะการเรียน การใช้ชีวิต และการประกอบอาชีพ และ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ ที่ยกระดับคุณภาพการศึกษานอกระบบสำหรับคนพิการให้กว้างขวาง ทั่วถึง มีคุณภาพ ตอบสนองความจำเป็นพิเศษของผู้เรียน ด้านการให้การช่วยเหลือและพัฒนาหลักสูตร ที่มีความท้าทายและมีคุณค่าด้านวิชาการ การส่งเสริมบุคคลออทิสติก และบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ให้นำความรู้ไปใช้พัฒนาตนเอง และมีพื้นฐานอาชีพตามความสนใจและความถนัด
นอกจากนี้ ยังมีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ได้นำแนวนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง และเกิดผลสัมฤทธิ์ในการสร้างโอกาสเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาสอย่างเท่าเทียม สร้างโรงเรียนให้เป็นบ้าน สร้างครูให้เป็นพ่อแม่ ให้ความรักให้ความอบอุ่นที่เป็นรากฐานที่ดีงาม ในการพัฒนาจิตใจ ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาประยุกต์ใช้ในบริบทสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และผลกระทบจากการปรับตัวแบบ Disruption เพื่อเดินหน้าต่อไปได้ภายใต้ความปลอดภัยทางด้านสาธารณสุข รวมทั้งภาคีเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็น มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศ ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมอนามัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ที่ได้มาร่วมกันพัฒนาการศึกษาพิเศษ ให้ตอบโจทย์วิถีชีวิตยุคใหม่ที่ต้องใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อน และมีเป้าหมายที่สำคัญในการสร้างอนาคตให้เด็กไทยทุกคน ซึ่งต้องขอแสดงความขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไว้ ณ โอกาสนี้” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
ทั้งนี้ รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วย รมช.ศึกษาธิการ ผู้บริหารฝ่ายการเมือง และผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ เยี่ยมชมนิทรรศการของโรงเรียนในโครงการเพื่อพัฒนาการศึกษาพิเศษ ให้ตอบโจทย์วิถีชีวิตยุคใหม่ “ให้โอกาส เสริมปัญญา พัฒนาคุณภาพชีวิต พิชิตอนาคต”
นวรัตน์ รามสูต : สรุป/เรียบเรียง
สถาพร ถาวรสุข ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ. : รายงาน
27/10/2564