หอประชุมคุรุสภา –
รมว.ศธ.กล่าวในพิธีเปิด เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการศึกษาและบทบาทของครู ดังนี้
– ครูเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาคุณภาพเด็ก การพัฒนาคุณภาพการศึกษาเด็กไทยตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน กลไกสำคัญอยู่ที่ “ครู” เพราะทุกคนมีวันนี้ได้ก็เพราะครู ไม่มีทางที่เราจะมีความรู้ มีงานทำ หรือมีอนาคตได้ หากปราศจากครูที่คอยอบรมสั่งสอนตั้งแต่เด็ก ในปัจจุบันพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็จะต้องทำงาน จึงมีเวลาอบรมสั่งสอนบุตรหลานน้อยกว่าเดิมมาก การให้ความรู้ ทั้งด้านวิชาการ คุณธรรม จริยธรรม ความมีระเบียบวินัยรวมถึงจิตสาธารณะ ล้วนแล้วแต่อยู่ในภาระของครูทั้งสิ้น
– บทบาทของครู ในปัจจุบันบทบาทของครูมีความหมายและมีความสำคัญมากกว่าในอดีต เพราะปัจจุบันแม้ว่าบ้านของเราจะมีรั้ว มีประตู มีแม้กระทั่งสัญญาณกันขโมยและ Video วงจรปิด แต่ก็ไม่สามารถปิดกั้นสิ่งต่างๆ ที่จะเข้าไปสู่เด็กถึงในห้องนอนได้ ครูก็เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญรองจากพ่อแม่ผู้ปกครองที่จะมีส่วนสำคัญช่วยป้องกันสิ่งต่างๆ ที่ไม่พึงประสงค์เข้าถึงตัวเด็ก
– งบประมาณด้านการศึกษา รัฐบาลได้ลงทุนงบประมาณด้านการศึกษาจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนงบประมาณทั้งประเทศ พบว่าเราลงทุนด้านการศึกษาถึงร้อยละ ๒๐ ของงบประมาณประเทศ ซึ่งมากกว่าหลายประเทศทั่วโลก แต่ผลประเมินการศึกษาของเด็กไทย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นเด็กของเรา ยังตามหลังอีกหลายประเทศ สำหรับค่าเฉลี่ยของเด็กที่อยู่ในกรุงเทพมหานครอาจจะสูงได้ แต่ค่าเฉลี่ยของเด็กที่อยู่ในโรงเรียนในชนบทห่างไกลในต่างจังหวัดยังต่ำมาก จึงต้องเร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้มีคุณภาพใกล้เคียงกับโรงเรียนในเมืองหรือในกรุงเทพฯ
– วิธีการเรียนการสอนในห้องเรียน ศธ.ต้องการปรับวิธีการเรียนการสอนเด็กรุ่นใหม่ จากการท่องจำแบบเดิม ซึ่งเป็นวิธีเรียนในอดีตที่ใครท่องได้มาก จำได้มาก ก็สอบได้ที่ดีๆ แต่ปัจจุบันเด็กไม่ควรท่องจำ เพราะจำไปก็ไม่มีประโยชน์ เนื่องจากปัจจุบันมีข้อมูลจำนวนมาก เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ข้อมูลที่ใหม่ในวันนี้ พรุ่งนี้อาจจะเก่าไปแล้วก็ได้ ซึ่งปัจจุบันเร่สามารถใช้สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ต ค้นหาข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างๆ มากมาย ในการค้นหาข้อมูลมหาศาลได้ เด็กยุคใหม่ไม่จำเป็นต้องจำได้ทั้งหมด ขอให้มีความรู้โดยรวม หรืเข้าใจหลักการใหญ่ๆ กว้างๆ และมองเห็นปัญหา รวมทั้งมีความใฝ่หาความรู้ รู้ว่าจะต้องหาข้อมูลอย่างไร หาจากที่ใด คิดเป็น วิเคราะห์และแยกแยะได้ว่าความรู้นั้นถูกหรือผิด เชื่อถือได้หรือไม่ แหล่งที่มาใดที่น่าเชื่อถือ แม้จะเป็นข้อมูลที่มาจากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือที่สุด แต่ก็สามารถผิดพลาดได้ จึงต้องมีการตรวจสอบข้อมูลและความรู้ที่ได้รับจากสื่อต่างๆ ด้วย
รมว.ศธ.ได้เล่าประสบการณ์ในวัยเรียนของตนเองด้วยว่า รู้จักการคิดวิเคราะห์ในขณะที่เริ่มคิดว่าสิ่งที่ครูพูดนั้นถูกหรือผิด โดยเล่าว่าเคยตอบคำถามวิชาหนึ่ง ซึ่งครูบอกว่าตอบผิด แต่ไม่เชื่อว่าผิด จึงได้ตรวจสอบและหาแหล่งอ้างอิงโดยการนำคำถามเดียวกันไปถามครูอีกคนหนึ่ง ครูคนนั้นก็ตอบคำตอบเดียวกับที่ตนตอบ นอกจากนี้ยังมีประสบการณ์ในขณะที่ศึกษาต่างประเทศว่า การเรียนในต่างประเทศจะให้นักเรียนไปอ่านหนังสือมาก่อน จากนั้นอาจารย์ผู้สอนจะเปิดโอกาสให้นักเรียนแต่ละคนได้ถกแถลง แสดงความคิดเห็น และวิเคราะห์ในห้องเรียน ซึ่งมีเพื่อนร่วมห้องคนหนึ่งไม่สามารถแสดงความคิดเห็นในห้องเรียนได้ เพราะไม่ได้อ่านมาก่อน อาจารย์ประจำวิชาจึงได้ตำหนิว่า การมาเรียนในห้องเรียนไม่ใช่มาตักตวงความรู้จากผู้อื่นเพียงอย่างเดียว แต่หน้าที่ของผู้เรียนคือจะต้องให้อะไรกับห้องเรียนด้วย ซึ่งสิ่งที่ได้จากการเรียนแบบนี้ ก็คือครูจะได้รับแนวคิดและมุมมองใหม่ๆ จากนักเรียน และครูก็ได้พัฒนาตนเองจากการสอนในแต่ละวันด้วย
รมว.ศธ.ได้กล่าวแสดงความชื่นชมครูที่ได้รับรางวัล ซึ่งเป็นผู้ที่อุทิศตนในการอบรมสั่งสอนเด็กๆ จึงขออวยพรให้ประสบความสำเร็จในอาชีพ และพัฒนาเด็กนักเรียนให้เป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติ เป็นคนที่มีคุณธรรม จริยธรรม และมีจิตสาธารณะเพื่อส่วนรวมต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ที่ได้รับรางวัลทุกท่านจะรักษาคุณความดีไว้และจะกระทำความดีต่อเนื่องต่อไป
การจัดงานพิธีมอบรางวัล “๑ แสนครูดี” มีวัตถุประสงค์เพื่อยกย่อง เชิดชูเกียรติ ครูและผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่มีการประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีในการครองตน ครองคน และครองงาน และเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ซึ่งสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาได้กำหนดให้มีการมอบรางวัลเข็มเชิดชูเกียรติให้แก่ครูและผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณ ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๕ จำนวน ๕,๒๑๔ คน เป็นเวลา ๒ วัน ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๔ มกราคม ๒๕๕๖
นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน