๙๙๙,๙๙๙ คน ปฏิญาณตนเพื่อพ่อ อาชีวะสมานฉันท์
จังหวัดปทุมธานี – พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรม “๙๙๙,๙๙๙ คน ปฏิญาณตนเพื่อพ่อ อาชีวะสมานฉันท์” เมื่อวันพุธที่ 9 พฤศจิกายน 2559 ที่วิทยาลัยเทคนิคปทุมธานี อำเภอเมืองปทุมธานี โดยมีนายโยธิน มูลกำบิล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี, นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ตลอดจนผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษา เข้าร่วม
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กิจกรรมที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดขึ้นในครั้งนี้ เพื่อนำนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและเอกชนในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล ร่วมปฏิญาณตนทำความดีและสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมจัดจิตอาสาอาชีวะลงพื้นที่ให้บริการชุมชน
โอกาสนี้ รมว.ศึกษาธิการ เป็นผู้กล่าวรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และถวายความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมีใจความดังนี้ “ด้วยสำนึกพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร ปวงข้าพระพุทธเจ้า คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากรกระทรวงศึกษาธิการ ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ ปวงข้าพระพุทธเจ้าต่างรู้สึกทุกข์โศก และอาดูรเสียใจเป็นล้นพ้น ต่อการเสด็จสวรรคตในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นับเป็นวันที่ความโศกเศร้าเข้าปกคลุมในจิตใจของปวงข้าพระพุทธเจ้าและประชาชนชาวไทยทุกคน นับตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ประเทศไทยมีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าและมั่นคงเป็นปึกแผ่น ทรงมีน้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่ยังประโยชน์ให้กับประเทศชาติมากมายเหลือคณานับ โดยเฉพาะพระราชกรณียกิจด้านการศึกษาที่ทรงมีพระราชดำริริเริ่มโครงการการพัฒนาอย่างมากมาย อาทิ โครงการมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม โครงการจัดตั้งและสนับสนุนกองทุนการศึกษา โครงการจัดตั้งโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร และโครงการโรงเรียนพระดาบส เป็นต้น ประกอบกับพระอัจฉริยภาพในเชิงวิศวกรรมแขนงต่าง ๆ โดยเฉพาะวิศวกรรมสำรวจและแผนที่ วิศวกรรมไฟฟ้าและสื่อสาร และวิศวกรรมการเกษตร ทรงนำความสนพระราชหฤทัยมาปรับใช้ในการพัฒนาประเทศ จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวไทยและประชาคมโลก ผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมาย เช่น การสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำเพื่อบริหารจัดการแหล่งน้ำ การปลูกหญ้าแฝกเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรดินและสิ่งแวดล้อม โครงการแก้มลิง โครงการโครงข่ายถนนวงแหวนรัชดาภิเษกและวงแหวนอุตสาหกรรม ตลอดจนโครงการกังหันน้ำชัยพัฒนาและโครงการอื่น ๆ อีกกว่า 3,000 โครงการ ที่ส่งผลให้เกิดประโยชน์และบรรเทาความเดือดร้อนของปวงชนชาวไทย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่สุดมิได้ ที่จักอยู่ในจิตใจของปวงข้าพระพุทธเจ้า ปวงข้าพระพุทธเจ้าจักสืบสานพระราชปณิธาน และน้อมนำแนวทางการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงพระราชทานไว้ มาปฏิบัติด้วยความมุ่งมั่นและสุจริตใจ เพื่อประโยชน์สุขแก่ประเทศชาติ สืบไป” |
จากนั้น รมว.ศึกษาธิการ นำผู้บริหาร คณะครูอาจารย์ และนักเรียนนักศึกษา ยืนสงบนิ่งเพื่อแสดงความอาลัย เป็นเวลา 89 วินาที พร้อมน้อมนำพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2530 เพื่อเป็นแนวทางในการทำงาน มีใจความตอนหนึ่งว่า “การจะทำงานสิ่งใดไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ขอให้พิจารณาจุดมุ่งหมายและประโยชน์ของงานนั้นให้เห็นชัด จนเกิดความมั่นใจและพอใจที่จะกระทำ เมื่อมั่นใจแล้วจึงกำหนดขั้นตอนทำงานให้เหมาะสมแก่การปฏิบัติ และลงมือปฏิบัติให้ได้ครบถ้วนตามขั้นตอนนั้น ๆ โดยสม่ำเสมอจนกว่าจะสำเร็จ ขณะที่ปฏิบัติก็เอาใจใส่ จดจ่อ ไม่วางมือให้ล่าช้าเสียหาย ทั้งพยายามใช้ความคิดพิจารณาปรับปรุงการปฏิบัติให้เหมาะสมและก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้บรรลุผลที่สมบูรณ์ ท่านทั้งหลายทำได้ดังนี้ ก็จะได้ชื่อว่า “เป็นนักปฏิบัติการที่ดี” ที่กระทำงานทุกอย่างด้วยหลักวิชา ด้วยความสามารถ ด้วยความพากเพียรเอาใจใส่ และด้วยวิธีการอันแยบคาย ซึ่งจะช่วยให้ประสบความสำเร็จความเจริญทุกสิ่งได้ตามประสงค์”
พระบรมราโชวาทดังกล่าวตรงกับหลักอิทธิบาท 4 ของพระพุทธศาสนา ที่ชาวอาชีวศึกษาสามารถยึดถือและนำไปปฏิบัติได้ กล่าวคือ
ฉันทะ คือ ความพอใจ โดยเราจะต้องเห็นคุณค่าของงานที่ทำ ไม่ว่าจะเป็นงานเล็กหรืองานใหญ่ ให้สมกับการเป็นปัญญาชนคู่กับวิญญูชน
วิริยะ คือ ความพากเพียร ซึ่งสิ่งที่ชาวอาชีวศึกษาต้องเจอทั้งในการเรียนและการทำงานเสมอคือ 3D ได้แก่ Dirty (ความสกปรก), Dangerous (ความอันตราย), Difficult (ความยาก) ดังนั้นจึงต้องมีความเพียรพยายามที่จะแสดงศักยภาพและความสามารถของตนเองเป็นอย่างมาก ไม่ควรที่จะท้อแท้หรือยอมแพ้เสียก่อน
จิตตะ คือ ความเอาใจใส่ ไม่ทอดทิ้งสิ่งที่ทำ นั่นก็คือการที่เราจะต้องตั้งใจมุ่งมั่นในการทำงานทุกงาน ไม่วอกแวก หรือละเลยต่อหน้าที่
วิมังสา คือ การพิจารณาหาเหตุผล มีการวางแผนก่อนการปฏิบัติงาน ในระหว่างปฏิบัติก็คิดหาวิธีแก้ไขปรับปรุงการทำงานให้ดียิ่งขึ้น
พิธีเปิดกิจกรรม “๙๙๙,๙๙๙ คน ปฏิญาณตนเพื่อพ่อ อาชีวะสมานฉันท์”
รมว.ศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงการทำงานในช่วงที่เป็นรัฐมนตรีด้วยว่า ได้มีโอกาสสัมผัสและรับรู้ถึงขีดความสามารถด้านอาชีวศึกษาของไทย ซึ่งสร้างความอัศจรรย์ใจ (Amazing) เป็นอย่างมากเกี่ยวกับทักษะความสามารถ ผลงาน ตลอดจนนวัตกรรมที่อาชีวะสร้างสรรค์ขึ้น ส่งผลให้ได้รับรางวัลอย่างมากมายทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งฝีมืออาชีวศึกษาไทยก็เป็นที่ชื่นชมของนานาชาติเป็นอย่างมาก แต่ต้องการให้มีการพัฒนาและยกระดับให้เป็นมืออาชีพมากขึ้นในด้านต่าง ๆ อาทิ ทักษะภาษาอังกฤษ มีความสำคัญและใช้สำหรับสื่อสารในการทำงาน, ทักษะด้านสังคม หรือ Soft Skills ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าทักษะฝีมือ, การใช้พลังฝีมือและพลังอารมณ์ในเชิงสร้างสรรค์ ที่จะก่อให้เกิดคุณค่าอย่างมหาศาล “ขอให้ทุกคนได้ภูมิใจกับการเรียนอาชีวศึกษาหรือเรียนสายอาชีพ เพราะประเทศไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0 ต้องพึ่งพาอาชีวะ เพราะอาชีวะเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้า เรียกได้ว่าทุกฝ่ายทั้งรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญ ต้องง้อให้ทุกคนมาเรียน ง้อให้มาทำงานฝีมือ นวัตกรรม และผลงานใหม่ ๆ โดยได้ดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุนการเรียนอาชีวะหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มสัดส่วนของผู้เรียนอาชีวะ ดังเช่นประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลายที่มีผู้เรียนอาชีวะมากกว่าสายสามัญ, อาชีวศึกษาทวิภาคี เพื่อส่งเสริมการเรียนวิชาการควบคู่การปฏิบัติจริงในสถานประกอบการ, โครงการสานพลังประชารัฐ ที่จะต้องปรับภาพลักษณ์อาชีวะให้ดีขึ้น สร้างสถานศึกษาต้นแบบที่ดี ตลอดจนจัดทำฐานข้อมูลการผลิตและความต้องการกำลังคน และสร้างมาตรฐานวิชาชีพอาชีวศึกษา”
เชื่อว่าในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ทุกท่านมีความตั้งใจ เต็มใจ มุ่งมั่น และศรัทธาที่จะมาร่วมงานกัน เพื่อแสดงพลังและเพื่อประกาศว่าจะดำเนินรอยตามพระราชกรณียกิจของพระองค์ซึ่งทรงงานมาตลอด 70 ปี นั่นก็คือ กิจกรรมจิตอาสาต่าง ๆ ที่ผู้บริหาร ครูอาจารย์ นักเรียนนักศึกษา ได้ออกพื้นที่ไปช่วยเหลือประชาชนในช่วงที่เกิดเหตุการณ์และภัยพิบัติต่าง ๆ ต้องขอแสดงความขอบคุณไว้ ณ โอกาสนี้ และขอให้ทุกคนตั้งใจทำความดี อย่าหยุดเพียงแค่วันนี้เท่านั้น ขอให้ใช้พลังและความสามารถในเชิงสร้างสรรค์เพื่อส่วนรวมอย่างมืออาชีพต่อไป
เยี่ยมชมกิจกรรมบริการชุมชนในรูปแบบศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix It Center)
ที่ชุมชนบ้านกระแชง อำเภอเมืองปทุมธานีภายหลังพิธีเปิดกิจกรรม รมว.ศึกษาธิการ และคณะผู้บริหาร ได้เดินทางไปเยี่ยมชมกิจกรรมบริการชุมชนในรูปแบบศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix It Center) ที่ชุมชนบ้านกระแชง อำเภอเมืองปทุมธานี ซึ่งมีกิจกรรมบริการหลากหลายชนิด เช่น ซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า ซ่อมบำรุงรักษารถจักรยายนต์ ซ่อมมุ้งลวดบานหน้าต่าง ทาสีอาคารเรียน บริการย้อมผ้าดำ สอนและแจกริบบิ้นสีดำ เป็นต้น
นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
นวรัตน์ รามสูต: ถ่ายภาพ
10/11/2559