เผยข้อมูลพบผู้ป่วยโรคใหม่ “ไฟโบรมัยอัลเจีย” ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทยมากขึ้น ล่าสุดจาก “โครงการการสำรวจแนวโน้มและความตระหนักรู้เกี่ยวกับ โรคไฟโบรมัยอัลเจีย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เพื่อนำเสนอโรคไฟโบรมัยอัลเจียให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เนื่องจากโรคดังกล่าวเป็นโรคใหม่และเพิ่งมีการศึกษาและสำรวจไม่นานมานี้ ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับโรคนี้กันเลย
“ไฟโบรมัยอัลเจีย” (Fibromyalgia) เป็นสภาวะของกลุ่มอาการที่เกิดการเจ็บป่วยกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และเนื้อเยื่ออ่อนทั่วสรรพางค์กาย การเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยโรคนี้ เกิดจากความไวในการรับรู้ความรู้สึกเจ็บปวดมากกว่าคนปกติ คือ การกระตุ้นการเจ็บปวดเพียงเล็กน้อยก็เจ็บปวดมาก บางครั้งการกระตุ้นซึ่งในคนปกติไม่เจ็บปวดเลย แต่ในผู้ป่วยก็มีอาการเจ็บปวดให้ปรากฏได้ ผู้ป่วยโดยทั่วไปจะบอกว่า ปวดทั่วไปทั้งตัว มีความรู้สึกว่ากล้ามเนื้อถูกดึงหรือตึงเหมือนใช้งานมามาก บางครั้งมีกล้ามเนื้อกระตุก บางคนบอกว่าเหมือนกับเป็นไข้หวัดใหญ่ เหมือนกับว่ากล้ามเนื้อทุกมัดปวดหมด และกล้ามเนื้อเรียกร้องขอความช่วยเหลือให้พ้นจากความเจ็บปวด
“ไฟโบรมัยอัลเจีย” พบได้บ่อยมากประมาณร้อยละสี่ของประชากรทั่วไป พบได้รองลงมาจากโรคข้อเสื่อมในคลินิกโรคข้อ และรูมาติสซั่ม พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 8 เท่า พบได้ทุกวัย แต่พบมากในวัยกลางคน อาจพบโรคไฟโบรมัยอัลเจีย ร่วมและไม่ร่วมกับโรคอื่นๆ โรคนี้มีปัจจัยร่วมหลายอย่างในการทำให้เกิดอาการ ปัจจัยหลัก 3 ปัจจัย คือ จิตใจ ร่างกาย และสิ่งแวดล้อม ในอดีตเข้าใจกันว่า ไฟโบรมัยอัลเจียเป็นโรคทางจิตใจ ที่ทำให้มีการแสดงออกมาทางร่างกาย แต่ในปัจจุบันทราบว่า มีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีหลายอย่างในระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ซีโรโตนินนอร์อีพิเนฟิน ซับส์แตนซ์พี เป็นต้น
“ผู้ป่วยด้วยโรคไฟโบรมัยอัลเจียจะทนต่อความเครียดได้น้อยมาก รวมถึงความอดทนต่อความเจ็บปวดก็ต่ำ”
อาการสำคัญของโรคไฟโบรมัยอัลเจีย คือ เจ็บปวดกล้ามเนื้อ เอ็นและเนื้อเยื่ออ่อนต่างๆ และจะมีอาการที่พบร่วมด้วยเสมอคือ การอ่อนเพลียนอนไม่หลับ หรือหลับชนิดที่ตื่นขึ้นมาไม่สดชื่น มีการผันแปรทางอารมณ์โดยเฉพาะซึมเศร้าได้บ่อย นอกจากนั้น ยังมีอาการปวดศีรษะ ไม่ว่าจะเป็นชนิดไมเกรน หรือเท็นชั่น มีอาการแปรปรวนของระบบลำไส้ และกระเพาะปัสสาวะได้บ่อย บางครั้งก็พบว่า ผู้ป่วยมีมึนงง สมาธิไม่ดี ความนึกคิดไม่เฉียบแหลมเหมือนขณะปกติ ผู้ป่วยไฟโบรมัยอัลเจีย จะมีจุดกดเจ็บพบได้ตามกล้ามเนื้อ คอ บ่า หลัง หน้าอก ที่แขน และเข่า แพทย์จะวินิจฉัยโดยการซักประวัติและตรวจร่างกาย ตรวจจุดกดเจ็บต่างๆ ส่วนการตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยทั่วไป จะพบว่าปกติ นอกจากจะมีโรคอื่นร่วมด้วย
การรักษาโรคไฟโบรมัยอัลเจีย ก็ต้องดูแลด้านจิตใจ ร่างกาย และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน ให้ความรู้ความเข้าใจว่า โรคนี้จะไม่มีการเปลี่ยนรูปร่างของข้อ คือไม่ปรากฏให้เห็นเป็นลักษณะพิการ แต่การเจ็บปวด และความสามารถในการทำงานลดลง การร่วมมือกับแพทย์ในการรักษาจะได้ประโยชน์มาก ต้องไม่ท้อถอย และยาที่ใช้ในการรักษาโรคไฟโบรมัยอัลเจีย ที่ใช้กันมากที่สุดอันดับแรกคือ ยาต้านการอักเสบ ที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ รองลงไปคือยาแก้ปวดพารา เซตามอล อันดับสามคือยาคลายเครียดและ ยานอนหลับ หรือใช้ยาทั้ง 3 ชนิดนี้ร่วมกัน ในปัจจุบันมีการใช้ยากลุ่มอื่นๆ อีกหลายกลุ่มมา ช่วยในการรักษาโรคนี้ให้ได้ผลมากขึ้นทั้งยาแก้ปวด กลุ่มอื่น ยากันชัก และฮอร์โมน ส่วนยาแก้ปวด แก้อักเสบที่รักษาโรคข้ออักเสบ เช่น ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ และยาสเตียรอยด์ใช้ไม่ได้ผล
ที่สำคัญที่สุดในการรักษาโรคนี้คือ การติดตามผู้ป่วยอย่างต่อ เนื่องเพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วย แพทย์จะมีมาตรการในการดูแลเรื่องการผันแปรทางอารมณ์ของผู้ป่วย เช่น ซึมเศร้า ดูแลสภาวะการนอนหลับซึ่งผิดปกติ และดูแลกระบวนการรับรู้ความเจ็บปวด หรือการกลั่นกรองการเจ็บป่วยที่ระบบประสาทของผู้ป่วย ซึ่งอาจต้องใช้ยาที่เหมาะสมช่วย แพทย์ต้องให้ความรัก ความเมตตา เห็นอกเห็นใจผู้ป่วย และประคับประคองจิตใจให้มีเจตนาคติที่ดี ให้ผู้ป่วยคิดในสิ่งที่ดี เพราะผู้ป่วยโรคนี้มักพบว่ามีพื้นฐานทางจิตใจที่เปราะบาง จิตช่วยตนเองไม่ค่อยได้ จิตพยุงตนเองไม่ค่อยได้ ไม่ปล่อยวาง ยังยึดในตัวในตนมาก แพทย์ต้องพยายามให้เวลาแก่ผู้ป่วย โรคนี้ไม่หายขาด แต่สามารถทำให้สบายขึ้นและอาการน้อยลงได้ ลักษณะของโรคเองก็มีอาการมากบ้างน้อยบ้างสลับกันไปคือ อาการเจ็บปวด อาการนอนหลับไม่ดี ปัญหาทางอารมณ์ อาการอ่อนเพลีย และอาการร่วมอย่างอื่น เช่น ลำไส้แปรปรวน กระเพาะปัสสาวะแปรปรวน และปวดศีรษะ เป็นต้น
การปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในการนอนก็สำคัญ ห้องนอนต้องเงียบและมืด อากาศสบายเพื่อให้หลับดี วินัยการนอนก็สำคัญ ผู้ป่วยต้องเข้านอนเป็นเวลาสม่ำเสมอคงที่ทุกวัน ถ้านอนหลับได้ดี อาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อและอาการอื่นๆ จะลดลง
ดังนั้นเราจึงสรุปเกี่ยวกับ โรคไฟโบรมัยอัลเจีย ว่าเป็นโรคของการเจ็บปวดที่ร่างกาย มีอาการอารมณ์แปรปรวน มีความผิดปกติในการนอนหลับ และมีอาการอ่อนเพลีย ตลอดจนมีอาการร่วมอย่างอื่น เช่น ปวดศีรษะ ลำไส้แปรปรวน กระเพาะปัสสาวะแปรปรวน มองภายนอกไม่พบว่ามีความผิดปกติของร่างกาย ผู้ป่วยจึงไม่ได้รับความเห็นอกเห็นใจจากสังคม ผู้ป่วยก็เกิดสภาวะน้อยใจ อาการก็ยิ่งมากขึ้น การรักษาต้องรักษาแบบองค์รวม คือ ดูแลจิตใจ ดูแลร่างกาย คือให้ยาปรับสารเคมีในสมอง และดูแลสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม การออกกำลังกายที่เหมาะสม ตลอดจนการให้ความรู้ความเข้าใจต่อผู้ป่วย และญาติจะช่วยได้มาก
แต่อาจกล่าวว่าโรคนี้เป็นสภาวะที่สลับซับซ้อนมากที่สุดสำหรับมนุษย์ในโลกนี้ก็ว่าได้ เพราะยังไม่มียาใดที่จะนำมารักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ และสภาวะไฟโบรมัยอัลเจียจะคงอยู่คู่กับมนุษย์เราไปอีกนาน ดังนั้น เราหรือใครที่ยังไม่เข้าข่ายอาการของโรคนี้ ควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้ห่างไกลจากโรคนี้ได้..
ที่มาข้อมูล : http://www.manager.co.th
http://www.sakulthai.com
ที่มาจากหนังสือพิมพ์ :เดลินิวส์