โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร

เมื่อวันพุธที่ 9 สิงหาคม 2560  ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางไปปฏิบัติราชการที่จังหวัดอุดรธานี เพื่อมอบนโยบายและบรรยายพิเศษ เรื่อง “ศาสตร์พระราชากับการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม” ในการประชุมเชิงปฏิบัติการแนวทางการดำเนินงานของโรงเรียนในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และเยี่ยมเยียนพบปะสนทนากับผู้บริหาร คณาจารย์ และลูกหลานนักเรียน ที่โรงเรียนอุดรพิชัยรักษ์พิทยา

• เมื่อเวลา 14.00 น. ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ได้มอบนโยบายพร้อมบรรยายพิเศษ เรื่อง “ศาสตร์พระราชากับการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม” ในการประชุมเชิงปฏิบัติการแนวทางการดำเนินงานของโรงเรียนในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ฉบับที่ 5 พ.ศ.2560-2569” ณ โรงแรมสยามแกรนด์ อ.เมืองอุดรธานี โดยคณะครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาจากทั่วประเทศ เข้าร่วมกว่า 300 คน

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวมีใจความตอนหนึ่งว่า แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2560-2569) จัดทำขึ้นเพื่อเชื่อมต่องานพัฒนาในช่วงที่ผ่านมา ปรับให้เข้ากับกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทั้งการปรับเปลี่ยนประเทศไปสู่ Thailand 4.0 การเข้าเป็นสมาชิกของประชาคมอาเซียน การก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 และสังคมดิจิทัล โดยมีเป้าหมายพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพเด็กและเยาวชน ตลอดจนสามเณร จำนวนกว่า 150,000 คน ในสถานศึกษาโครงการ 844 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 51 จังหวัด รวม 2,317 หมู่บ้าน

โดยมุ่งหวังที่จะพัฒนาเด็กและเยาวชนในเป้าหมายหลัก 8 ประการ คือ เป้าหมายที่ 1 เสริมสร้างสุขภาพของเด็กตั้งแต่ในครรภ์มารดา เป้าหมายที่ 2 เพิ่มโอกาสทางการศึกษา เป้าหมายที่ 3 เสริมสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชนทางวิชาการและทางจริยธรรม เป้าหมายที่ 4 เสริมสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชนทางการงานอาชีพ เป้าหมายที่ 5 ปลูกฝังจิตสำนึกและพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป้าหมายที่ 6 เสริมสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชนในการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่นและของชาติไทย เป้าหมายที่ 7 ขยายการพัฒนาจากโรงเรียนสู่ชุมชน และเป้าหมายที่ 8 พัฒนาสถานศึกษาเป็นศูนย์บริการความรู้

จึงขอความร่วมมือครูอาจารย์ ช่วยขบคิดหาแนวทางนำกรอบแนวคิดโครงการโรงเรียนคุณธรรม 5 ด้าน ปลูกฝังให้กับเด็กนักเรียน ในสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งเกิดจากพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความพอเพียง ความกตัญญกตเวที ความซื่อสัตย์สุจริต ความรับผิดชอบ และอุดมการณ์คุณธรรมจริยธรรม โดยครูต้องดำรงตนเป็นตัวอย่างทั้งในการทำงานและการดำเนินชีวิต เช่น ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความเจียมเนื้อเจียมตัว ระมัดระวัง ไม่ผลีผลาม หรือเรียกได้ว่าทำทุกอย่างด้วยความมีสติ, ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ พร่ำสอนศิษย์ด้วยความรักความเอาใจใส่ หวังให้ได้ดีมีความรู้ เป็นต้น

เมื่อลูกหลานนักเรียนได้เห็น ก็จะซึมซับอย่างเป็นธรรมชาติ และจะปฏิบัติตามในที่สุด อันจะส่งผลดีต่อทั้งตัวครูผู้เป็นต้นแบบ และนักเรียนที่จะเจริญก้าวหน้าอย่างสง่างาม เป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต


• ก่อนหน้านั้น เมื่อเวลา 13.00 น. ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล เยี่ยมเยียนพบปะสนทนากับผู้บริหาร คณาจารย์ และลูกหลานนักเรียน โรงเรียนอุดรพิชัยรักษ์พิทยา และบรรยายพิเศษ เรื่อง “ศาสตร์พระราชากับพัฒนาการทางการศึกษา” ณ หอประชุมพิชัยรักษ์ โรงเรียนอุดรพิชัยรักษ์พิทยา อ.เมืองอุดรธานี โดยผู้บริหาร คณะครู และนักเรียนชั้น ม.4-6 เข้าร่วมกว่า 800 คน

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า ในเรื่องของศาสตร์พระราชา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ผู้ทรงดำรงทศพิธราชธรรม และทรงเป็นแบบอย่างที่งดงามแก่ปวงชนชาวไทยตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา โดยส่วนตัวยังจดจำพระมหากรุณาธิคุณในช่วง 40-50 ปีหลังได้อย่างแม่นยำ เพราะพระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ เพื่อให้ชาวไทยได้อยู่ดีกินดี มีสัมมาชีพ พร้อมทรงพระราชทานพระบรมราโชวาท พระราชดำริไว้อย่างมากมาย จึงขอให้ทุกคนอย่าได้ละเลยพระบรมราโชวาท พระราชดำรัสต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงเพียรปฏิบัติเป็นแบบอย่างตลอดมา เพื่อทุกคนจะได้ไม่ลืมพระองค์ การปฏิบัติตามเท่ากับยังระลึกถึงพระองค์ได้ แต่หากละเลยเสียแล้ว เมื่อนั้นพระองค์ก็จะเสด็จจากเราไปอยู่ดี

สำหรับศาสตร์พระราชา ที่จะขอยกตัวอย่างให้ลูกหลาน และครูอาจารย์นำไปใช้ คือ ศาสตร์พระราชาที่เป็นหัวใจของนักการศึกษา “รู้ รัก สามัคคี เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เพราะเมื่อทุกอย่างเริ่มจากการรู้ ความรู้จริง ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจและรักที่จะทำ เมื่อเรารักสิ่งใด ก็จะเข้าถึงสิ่งนั้นได้ง่าย เมื่อเราสามัคคี ก็จะส่งผลให้เกิดความร่วมมือ เกิดมรรคเกิดผล และเป็นประโยชน์ทั้งต่อการพัฒนาตัวเอง การประกอบสัมมาชีพ การดำรงชีวิต ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในที่สุด

นอกจากนี้ ขอฝากถึงลูกหลานนักเรียนให้ใช้หลักความมีเหตุมีผลเป็นที่ตั้ง ตลอดจนรับผิดชอบต่อหน้าที่ ต่อการเรียนรู้ ขวยขวานสิ่งใหม่ ๆ เพื่อให้เท่าทันโลก แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัว ใช้เพื่อเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เป็นสากล มากกว่าเพื่อความบันเทิงเท่านั้น พร้อมร่วมขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณธรรมกับครูและโรงเรียนในกรุงเทพฯ และ 76 จังหวัดทั่วประเทศ

นางสาวจิดาภา ทิพย์มณี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 กล่าวถึงการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ของโรงเรียนที่สอดคล้องกับโครงการโรงเรียนคุณธรรมว่า “ในเรื่องของความพอเพียง โรงเรียนมีตู้กรอกน้ำในทุกจุด เพื่อให้นักเรียนซื้อน้ำกินได้ในราคาเพียงขวดละ 5 บาท สามารถกรอกน้ำดื่มได้ตลอดทั้งวัน และมีการนำขวดเก่าไปรีไซเคิลใช้ประโยชน์อย่างอื่นด้วย ส่วนเรื่องความซื่อสัตย์ แม้ว่าจะมีคนลืมของหรือลืมโทรศัพท์ไว้ใต้โต๊ะเรียนเป็นประจำ แต่ก็จะมีการประกาศคืนให้เจ้าของตอนเข้าแถวหน้าเสาธงอยู่เสมอ ทำให้เห็นว่านักเรียนที่นี่จะไม่เอาของคนอื่นไปเป็นของตนเอง อีกทั้งครูยังสอนย้ำตลอดว่า ให้นักเรียนทุกคนส่งงาน ทั้งงานเดี่ยวและงานกลุ่มให้ตรงเวลา เพื่อฝึกความรับผิดชอบ หากไม่ทำก็จะไม่ได้คะแนน และอาจถึงขั้นไม่มีสิทธิ์สอบหากขาดส่งบ่อย ๆ นอกจากนี้ นอกเหนือจากการกตัญญูต่อบิดามารดาแล้ว ก็ต้องกตัญญูต่อครูอาจารย์ด้วย อาทิ ช่วยครูถือของ ช่วยพยุงครูผู้สูงอายุลงบันได เป็นต้น สำหรับอุดมการณ์คุณธรรมจริยธรรม โรงเรียนได้จัดกิจกรรมค่ายธรรมะ ค่ายคุณธรรม รวมทั้งกิจกรรมสวดมนต์ยาวทุกวันพระ และมีพระอาจารย์มาให้ความรู้เกี่ยวกับคุณธรรมด้วย”

นายเจษฎา สุขสบาย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 กล่าวว่า “จากการได้รับฟังการบรรยายในครั้งนี้ ส่วนตัวมีความเห็นว่ากรอบแนวคิดโรงเรียนคุณธรรมที่มีความสำคัญคือ การยึดมั่นอุดมการณ์คุณธรรมจริยธรรม เนื่องจากในชีวิตประจำวันของเราต้องใช้คุณธรรมจริยธรรมในการดำเนินชีวิตอยู่แล้ว ไม่ว่าเราจะทำงานหรือทำอะไรในชีวิตประจำวัน สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงเสมอคือเรื่องคุณธรรมจริยธรรม ถ้าเราขาดคุณธรรมจริยธรรมก็จะทำให้ประเทศชาติไม่พัฒนาและจะเป็นไปในทางที่เสื่อมลง”


นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น: ถ่ายภาพ
10/8/2560