“ปนัดดา” แนะทุกคนเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท
ช่วยกันขยายผลและส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจ
แนวทางการดำรงชีวิตที่พอเพียง
ให้ครูผู้ปกครองเป็นไอดอลที่ดีและยั่งยืนแก่เด็ก
เมื่อวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม 2559 ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว @Panadda Diskul ใน 2 ประเด็นที่สำคัญต่อวงการศึกษา เกี่ยวกับความพอเพียงในชีวิตของคนไทยและการเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท คือ 1) เสนอแนะ: ให้ข้าราชการ นักเรียน ผู้ปกครอง เดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท และช่วยกันขยายผลแนวพระราชดำริ โดยครูและผู้ปกครองถือเป็นต้นแบบไอดอลที่ดีและยั่งยืน 2) ส่งเสริม: ให้ความรู้ความเข้าใจอย่างกระจ่างชัดถึงแนวทางการดำรงชีวิตที่พอเพียง ซึ่งทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในประชาคมโลก ล้วนเป็นบทเรียนสำคัญแก่กัน

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานพิพิธภัณฑ์และหอสมุดสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โพสต์เฟซบุ๊คใน 2 ประเด็นดังกล่าว ดังนี้
● เสนอแนะ: ให้ข้าราชการ นักเรียน ผู้ปกครอง เดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท และช่วยกันขยายผลตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่จะนำมาให้เกิดการเชื่อมโยงกันในการปฏิบัติ และการมีไอดอลถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
‘ความพอเพียงในชีวิตของคนไทย
การเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท’
ปาฐกถาพิเศษ ณ วังวรดิศ
‘การยึดความประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายในทุกด้าน ลดละความฟุ่มเฟือยในการดำรงชีพอย่างจริงจัง ดังพระราชดำรัสคำสอนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ว่า ความเป็นอยู่ที่ต้องไม่ฟุ้งเฟ้อ ต้องประหยัดไปในทางที่ถูกต้อง กับอีกยึดถือการประกอบสัมมาชีพด้วยความถูกต้อง สุจริต ความเจริญของคนทั้งหลาย ย่อมเกิดมาจากการประพฤติชอบ และการหาเลี้ยงชีพชอบเป็นหลักสำคัญ การที่บุคคลต้องขวนขวายหาความรู้และสร้างตนเองให้มั่นคงนี้เพื่อตนเองและสังคม เพื่อที่ตัวเองมีความเป็นอยู่ที่ก้าวหน้า ยึดมั่นความซื่อตรง ความกตัญญู และความรับผิดชอบทั้งแก่ชีวิตตน ครอบครัว และประเทศชาติ
หากทุกๆ คน ซึ่งได้แก่ ข้าราชการ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ครูอาจารย์ ผู้ปกครอง จะได้ช่วยกันขยายผลตามแนวพระราชดำริข้างต้น เพื่อให้ลูกหลานนักเรียน นิสิต นักศึกษา ได้ร่วมใจกันยึดมั่นการดำรงชีวิตของเยาวชน ตราบจนสำเร็จการศึกษา มีความรอบรู้ เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ความรู้ความเข้าใจที่จะนำมาให้เกิดการเชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนเมื่อตนต้องปฏิบัติหน้าที่จริง และมุ่งมั่นปฏิบัติในวิชาชีพที่ตนมีความถนัด ตามแนวพระราชดำริ สังคมไทยจะมีเข็มทิศชีวิตที่มุ่งเดินหน้าประเทศอย่างสร้างสรรค์ สังคมธรรมรัฐจะเป็นตัวขับเคลื่อนวิถีการดำรงชีวิตของผู้คนไปสู่ทิศทางที่เป็นความหวังของคนในชาติ ผู้ใหญ่สามารถนอนตาหลับได้สนิท ไม่มีความเป็นห่วงกังวลว่า ประเทศชาติจะเดินหน้ากันไปอย่างไร
แบบอย่างหรือ ‘ไอดอล’ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ไม่มีไม่ได้ สิ่งนี้นั้น ผู้ปกครองและครูอาจารย์ย่อมถือเป็นต้นแบบที่ดีและยั่งยืนแก่ลูกหลานและศิษย์ เมื่อลูกหลานเป็นผู้มีความรับผิดชอบทั้งแก่ตนเองและส่วนรวม ชาติบ้านเมืองย่อมเกิดการพัฒนาได้ในทุก ๆ เรื่อง หรือหลาย ๆ เรื่อง สามารถติดตามประเมินผลได้อย่างเป็นระบบแบบแผน โดยมุ่งเน้นการมีความรอบรู้ทางหลักวิชาการของแต่ละคนในแต่ละความถนัด และยึดมั่นหลักคุณธรรมค้ำจุนสังคมในการดำเนินชีวิต ที่ถือเป็นแบบฉบับของคนไทยมาช้านาน
ปรัชญาความพอเพียงจึงถือเป็นคำตอบแก่เราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการพึ่งพาตนเอง ความพอประมาณ การเดินสายกลาง ความไม่ประมาทโดยมีภูมิคุ้มกันหรือมีเกราะป้องกันตัว การมีเหตุผล เป็นคนดี และมีความรู้รักสามัคคี สรุปได้ว่า อนาคตในวันนี้จึงขึ้นอยู่กับความเพียรพยายาม ความซื่อตรง และความมีจรรยาบรรณวิชาชีพของทุกผู้ทุกฝ่าย ที่ผู้ใหญ่ต้องเป็นแบบอย่างแก่ลูกหลานเยาวชน ที่ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรกทางการศึกษาต่อการพัฒนาประเทศ’
*ส่วนหนึ่งจากการปาฐกถาพิเศษของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ประธานพิพิธภัณฑ์และหอสมุดสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ณ วังวรดิศ แก่ ข้าราชการ ครูอาจารย์ นักเรียนนิสิต นักศึกษา และนักเรียนนายร้อย รร.จปร.ในโอกาสเข้าทัศนศึกษาพิพิธภัณฑ์วังวรดิศ ถนนหลานหลวง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
(เอกสารเผยแพร่ทางวิชาการหอสมุดสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ PDRL : 30-12-16)
● ส่งเสริม: ให้ความรู้ความเข้าใจอย่างกระจ่างชัดถึงแนวทางการดำรงชีวิตที่พอเพียง ซึ่งทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในประชาคมโลกล้วนเป็นบทเรียนสำคัญแก่กัน
‘ดูข่าวอยู่ มหาอำนาจขัดแย้งถึงกับให้นักการทูตจำนวน 35 คน เดินทางออกจากประเทศทันที จากกรณีความขัดแย้งในเรื่องข้อมูลสารสนเทศ (Cyberworlds) ที่เป็นความลับ ทำให้อดไม่ได้ที่ต้องมองไปยังเหตุการณ์ของสังคมในหลาย ๆ ประเทศ ที่ไม่สมควรมีความขัดแย้งหรือเป็นปัญหาในการดำรงรักษาประเทศเฉกเช่นประเทศใหญ่ มหาประเทศคือมหาอำนาจ ความขัดแย้งอาจถูกมองเป็นเรื่องธรรมชาติของความเป็นประเทศใหญ่
ในทางกลับกัน สังคมประเทศที่มีขนาดเล็ก ไม่ใช่มหาประเทศ ความขัดแย้งในเรื่องใด ๆ อันไม่สมควรมีเกิดขึ้น ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ๆ ที่จะกลับกลายเป็นความแบ่งแยกและแตกแยก ปัญหาเกิดขึ้นท่ามกลางสิ่งที่เรียกว่าอาจจะไม่รู้และเข้าใจต่อสถานการณ์หนึ่งๆ ในห้วงเวลาหนึ่ง ๆ ความขัดแย้งภายในที่กลายเป็นความเกี่ยวพันกับเรื่องภายนอกของผู้คนเป็นจำนวนมาก
การส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจอย่างกระจ่างชัดถึงแนวทางการดำรงชีวิตที่พอเพียง จึงเป็นคำตอบที่มากมาย หลายสังคมต่างยึดมั่น เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งหรือกลายเป็นศัตรูระหว่างผู้คนกันเองในสังคมหรือประเทศ ครูอาจารย์ของลูกหลานไทยสั่งสอนเรามาว่า ทำตัวให้เล็กไว้ ตนยิ่งมีคุณความดีแก่ตนเกิดขึ้นในสายตาของผู้อื่น ในทางกลับกัน หากประพฤติปฏิบัติตนเป็นอย่างอื่น ก็ย่อมส่งผลในทางที่ไม่เป็นคุณจากการกระทำนั้นเช่นในระหว่างที่ติดตามข่าวอยู่นี้ ผู้นำของอีกมหาประเทศตัดสินใจที่จะไม่ตอบโต้โดยการขับไล่นักการทูตของอีกมหาประเทศ ปล่อยให้ประเทศนั้นกระทำไปแต่โดยลำพัง แต่จะรอจนกว่าประเทศนั้นมีการปรับเปลี่ยนผู้นำของประเทศในเร็ววันนี้เพื่อหวังให้มีการทำความเข้าใจ วิจารณญาณ ความรับผิดชอบ การตัดสินใจ ถือเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายเฝ้าติดตามดู
แม้เหตุการณ์จะอยู่ห่างไกลจากประเทศของเรามาก แต่ทุกเรื่องหรือหลายเรื่องในประชาคมโลก ล้วนเป็นบทเรียนสำคัญแก่กัน หลีกเลี่ยงไม่พ้นต่อกันในที่สุด‘
/ม.ล. ปนัดดา ดิศกุล
บทความพิเศษหอสมุดสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
30 ธ.ค. 59
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน/กราฟิก
31/12/2559