เร่งปฏิรูปการศึกษา

          ท่ามกลางกระแสการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่ยังต้องรอคอยกันต่อไป ตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งติดโผที่จะถูกปรับเปลี่ยน โดยอยู่ในสถานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก คือ ตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) ที่เป็นความหวังของประชาชน ที่อยากเห็นการทำงานที่ต่อเนื่องเป็น     รูปธรรม เห็นความก้าวหน้าในการปฏิรูปการศึกษาสมดังที่รัฐบาลนี้ประกาศตั้งแต่วันแรกๆ
ที่อาสาเข้ามาบริหารประเทศ
          ทว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นค่อนข้างจะสวนทางกับที่ประชาชนวาดหวังไว้เพราะนอกจากจะเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีบ่อยแล้ว ความเคลื่อนไหวเรื่องการปฏิรูปการศึกษาก็ยังค่อนข้างเงียบ
          ตลอดเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา การปฏิรูปการศึกษาของชาติในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังทำได้เพียงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเสียเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างยังคงเป็นเรื่องที่ยังจับต้องไม่ได้
          โดยเฉพาะปัญหาเรื้อรังเรื่องของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน การพัฒนาคุณภาพครูทั้งระบบมีให้เห็นเป็นข่าวบ้างก็เป็นเพียงแนวทางที่ยังไม่เห็นฝั่งความสำเร็จ
          การปฏิรูปการศึกษาซึ่งถือเป็นความคาดหวังของประชาชนมากที่สุดยังย่ำอยู่กับที่ เพราะคณะกรรมการหลายชุดยังทำได้แค่ศึกษาปัญหาเก่าๆแนวคิดขับเคลื่อนการศึกษายังอยู่กับ       ข้อเสนอเดิมๆ เสียเป็นส่วนใหญ่
          ขณะเดียวกัน การปฏิรูปที่ลงมือทำไปบ้างแล้วก็กลายเป็นสร้างปมปัญหาทางการศึกษาใหม่ๆ ยิ่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะเรื่องการผลิตครูที่ยังถกเถียงกันเรื่องหลักสูตรและเป็นเรื่องที่ต้องหาทางออกที่ชัดเจนและแก้ปัญหาระยะยาวให้ได้ เพราะภายใน 10 ปีข้างหน้าจะมีครูเกษียณถึง 2.1 แสนคน หากแก้เรื่องนี้ไม่ได้ก็แก้ปัญหาเรื่องคุณภาพครู ซึ่งเป็นหัวใจหลักอีกเรื่องหนึ่งของการขับเคลื่อนการศึกษาได้ยาก
          อีกปัญหาหนึ่งที่มีอาการน่าวิตกนั่นคือ การโอนถ่ายอำนาจการบริหารที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างภูมิภาคกับจังหวัดที่ยังถกเถียงกันไม่จบเช่นกัน และส่อเค้าจะกลายเป็นปัญหาระยะยาวในอนาคตระหว่างศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) กับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาเช่นกัน
          ในรอบหลายปีที่ผ่านมา นโยบายการศึกษาเปลี่ยนไปตามนโยบายของพรรคการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาลแทบทุกยุคทุกสมัยมีนโยบายกว้างๆคล้ายๆกัน คือ มุ่งเน้นเรื่องหลัก 3 ด้าน เรื่องคุณภาพการศึกษา โอกาสทางการศึกษาและผลสัมฤทธิ์ แต่เมื่อได้มาบริหารจริงต่างพบปัญหาเดียวกัน นั่นคือจะแก้ปัญหาที่เป็นหัวใจหลักของการศึกษาได้ต้องใช้นโยบายที่ต่อเนื่องอาจจะนานนับ 10 ปี จึงจะเห็นผล ใครเข้ามากำกับกระทรวงนี้ จึงมักเน้นนโยบายที่เห็นผลงานที่จับต้องได้ในระยะสั้นเท่านั้น
          อย่างไรก็ดี หลายเรื่องที่รัฐบาลนี้ดำเนินการไปแล้ว ถือว่าถูกทาง เช่น อุดรูรั่ว โดยให้ครูกลับมาสอนหนังสือให้มากขึ้น โดยไม่ต้องทำแบบประเมินต่างๆ เพราะผลสำรวจพบว่า ในรอบปี พบว่าเวลาเรียนแต่ละภาคเรียน 200-220 วัน ครูไม่อยู่ในห้องเรียนกว่า 80 วัน เวลาสอนหายไปกว่า 40 % เพราะต้องใช้เวลาไปทำเอกสารประเมินคุณภาพการศึกษา หรือไปทำโครงการที่รัฐบาลชุดต่างๆ คิดขึ้น ซึ่งทำให้สูญเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์
          ทั้งนี้ทางที่ดีรัฐบาลจะต้องขยับด้านการศึกษาอีกหลายด้าน เพื่อล้างค่านิยมเรียนโดยไม่คำนึงถึงการทำงาน จบปริญญาแล้วหางานยากเพราะเห็นชัดอยู่แล้วว่า ในปี 2559 มีผู้เรียนจบปริญญาตรีประมาณ 3 แสนคน ต้องว่างงานถึง 1.79 แสนคน ต้องเร่งปรับหลักสูตรอาชีวะไม่ตอบโจทย์ รองรับระบบเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังเติบโตและตั้งเป้าขับเคลื่อนนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0”
          อย่างไรก็ตามใครจะมาคุมกระทรวงครูอาจจะไม่สำคัญไปกว่า การเดินหน้าปฏิรูปให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น เพราะหากนโยบายการศึกษาพังไม่เป็นท่า ที่สุดแล้วไม่เพียงแต่จะทิ้งปัญหาต่างๆ ไว้กับสังคมไทยอีกนาน


ที่มา : http://110.170.184.194/bmanews/viewDetail.aspx?ID=136346