เยือนโมร็อกโก

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วยนายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายขจร จิตสุขุมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา, ผศ.เถกิง วงศ์ศิริโชติ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้แทนศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) น.ส.นงศิลินี โมสิกะ ผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางไปเยือนราชอาณาจักรโมร็อกโก ระหว่างวันที่ 11-14 กรกฎาคม 2561 เพื่อความร่วมมือด้านการศึกษาและการวิจัย โดยมีนายศุภร พลมณี เอกอัครราชทูต ณ กรุงราบัต ร่วมพิธีลงนามและภารกิจการเยือนในครั้งนี้

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวถึงภารกิจที่สำคัญในการเยือนโมร็อกโกครั้งนี้ว่า ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาและการวิจัย ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการของไทย กับกระทรวงศึกษาธิการแห่งชาติ การฝึกอบรมวิชาชีพ การอุดมศึกษา และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของประเทศโมร็อกโก เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2561 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี โดย MOU ฉบับนี้เกิดขึ้นจากผลของการเยือนโมร็อกโกของ รมช.ศธ. เมื่อเดือนสิงหาคม 2560 และได้มีการตกลงความร่วมมือระหว่างกันจนกระทั่งขยายความร่วมมือให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

รมช.ศธ.ของไทย ได้กล่าวขอบคุณ รมช.ศึกษาธิการแห่งชาติฯ โมร็อกโก (นายโมฮัมเหม็ด เฆอราส) ที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น และขอบคุณรัฐบาลโมร็อกโกที่สนับสนุนทุนแก่นักศึกษาไทยมาอย่างต่อเนื่อง ปีละ 15 ทุน ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา ทุนดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของนักศึกษาไทย โดยเฉพาะนักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่ได้ไปศึกษาในประเทศมุสลิมสายกลางที่มีความเจริญก้าวหน้าในวิทยาการด้านต่าง ๆ

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาได้มีการเจรจาหารือเรื่องทุนด้านการท่องเที่ยวและด้านการเกษตร เพื่อให้บุคลากรของโมร็อกโกมาศึกษาระดับปริญญาโทในประเทศไทยด้วย ซึ่งขณะนี้ ศธ.ของไทยได้ดำเนินการเรื่องนี้แล้วอย่างเข้มแข็งและรวดเร็ว ทำให้สามารถจัดสรรให้แก่โมร็อกโกเพื่อศึกษาในระดับปริญญาโทได้จำนวน 5 ทุน  ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต 2 ทุน ในหลักสูตรการโรงแรมการท่องเที่ยว, มหาวิทยาลัยขอนแก่น 1 ทุน สาขาการเกษตร, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 1 ทุน สาขาการจัดการระบบการเกษตร และมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตเพชรบุรี 1 ทุน สาขาปศุสัตว์

สำหรับรายละเอียด MOU ฉบับนี้ มีข้อความสำคัญที่ส่งผลต่อการปฏิบัติงานร่วมกันทั้งสองฝ่าย คือ การจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อติดตามและทบทวนการทำงานร่วมกัน โดยการจัดประชุม 2 ปีต่อครั้ง ซึ่งประเทศไทยยินดีเป็นเจ้าภาพในครั้งแรกภายในเดือนสิงหาคม 2561 โดยมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นายการุณ สกุลประดิษฐ์) เป็นประธาน ซึ่งคณะรัฐมนตรีของไทยได้อนุมัติให้มีการลงนาม MOU ฉบับนี้ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ฝากความปรารถนาดีมารัฐบาลโมร็อกโก รวมทั้งขอให้พิจารณาขยายความร่วมมือในด้านการท่องเที่ยวระหว่างกันด้วย

นอกจากนี้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลโมร็อกโกที่ได้ประสานงานให้คณะผู้แทนไทยไปดูงานที่สถาบันโมฮัมเหม็ดที่ 6 เพื่อดูงานการฝึกอบรมอิหม่าม เนื่องจากตนได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการดูแลความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีผู้นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ และเห็นว่าการสอนอิสลามในโมร็อกโกมีความเป็นเลิศทางด้านวิชาการ จึงจะนำประโยชน์จากการดูงานครั้งนี้นำไปพัฒนาความร่วมมือด้านการเรียนการสอนในลักษณะนี้ ซึ่งจะมีการหารือผ่านคณะทำงานร่วมต่อไป

 

หลังจากนั้น คณะผู้แทนไทยได้ไปศึกษาดูงานที่สถาบันโมฮัมเหม็ดที่ 6 เป็นสถานที่ฝึกอบรมอิหม่ามที่มีชื่อเสียง ซึ่งมีการเรียนการสอนที่ครบวงจรในหลากหลายสาขาวิชา เพื่อสร้างอิหม่ามที่มีความรักชาติบ้านเกิด ของตัวเอง โดยมีการเรียนการสอนเป็นภาษาอารบิก มีนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนเป็นจำนวนมาก ในการนี้ รมช.ศธ.ได้สอบถามถึงความเป็นไปได้ในการส่งนักเรียนไทยเข้าฝึกอบรมในสถาบันแห่งนี้ ซึ่งทางสถาบันไม่ขัดข้อง แต่ต้องมีการทดสอบวัดระดับก่อน และขอให้มีการดำเนินการผ่านทางการทูตต่อไป


Written by นงศิลินี โมสิกะ
Photo Credit นงศิลินี โมสิกะ/สต.สป.
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร