เข้มทวงหนี้เด็กนักเรียน ประหยัดงบปล่อยกู้เพิ่ม

เข้มทวงหนี้เด็กนักเรียน ประหยัดงบปล่อยกู้เพิ่ม

          เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง
          ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเร่งทวงหนี้นักเรียน ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นเรื่องที่ดูโหดร้ายสำหรับนักเรียนที่เรียนจบไปแล้วไม่มีเงินชำระหนี้ ยิ่งต้องมีการฟ้องร้องทวงหนี้ถึงขั้นฟ้องศาล ยิ่งดู กยศ.เป็นผู้ร้ายและจำเลยของสังคมมากขึ้น
          อย่างไรก็ตาม กยศ.ก็มีหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่สามารถละเว้นปฏิบัติหน้าที่ได้ ที่สำคัญการเร่งทวงเงินคืนจากนักเรียนที่ไม่ยอมชำระคืนเพิ่มมากขึ้นเท่าไร ก็เป็นการสร้างโอกาสให้กับเด็กนักเรียนใหม่ที่ต้องการเงินกู้จาก กยศ.เพื่อไปศึกษาต่อมากเท่านั้น
          นอกจากนี้ การเร่งทวงคืนเงิน กยศ.ยังช่วยลดภาระงบประมาณประเทศมากขึ้นเท่านั้น จากเดิมก่อนหน้านี้ กยศ.ต้องขอเงินอุดหนุนจากเงินงบประมาณปีละ 2-3 หมื่นล้านบาท เพราะทวงหนี้คืนได้น้อย ทำให้มีเงินไม่พอกับการปล่อยกู้ให้กับเด็กนักเรียน
          ที่ผ่านมา กยศ.ได้พยายามทำการประชาสัมพันธ์ให้เด็กนักเรียนชำระหนี้เพื่อให้โอกาสรุ่นน้องได้มีโอกาสกู้ต่อ ซึ่งเปรียบเสมือนไม้นวมในการเร่งทวงหนี้ รวมถึงการพยายามปรับปรุงระบบการชำระหนี้ให้มีความทันสมัย ล่าสุดจับมือกับธนาคารกรุงไทยให้ลูกหนี้ชำระหนี้ผ่านคิวอาร์โค้ดได้ จากที่ต้องชำระผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร หรือตู้เอทีเอ็มของธนาคารเป็นหลัก
          ในส่วนของไม้แข็งในทางหนี้ นอกจากการฟ้องร้องแล้ว กยศ.ยังแก้ไขกฎหมายให้กรมสรรพากรหักหนี้ลูกหนี้ กยศ.ที่อยู่ในระบบภาษีให้กับ กยศ. ซึ่งจะเริ่มประเดิมใช้กับลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการก่อน และจะใช้กับลูกหนี้ กยศ.ที่ทำงานภาคเอกชนในปลายปี ซึ่งทำให้ลูกหนี้ กยศ.ที่อยู่ในระบบภาษี
          เบี้ยวหนี้ได้ยาก เพราะนายจ้างมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องหักหนี้ดังกล่าวให้กรมสรรพากรเพื่อส่งต่อให้ กยศ.
          นอกจากนี้ หนี้ของ กยศ.ยังมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ หรืออันดับ 3 คือนายจ้างจะหักภาษีของลูกจ้างเป็นอันดับแรกให้กรมสรรพากร หักเงินประกันสังคม หรือเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เป็นอันดับสอง และหักเงินหนี้ของ กยศ.เป็นอันดับสาม ทำให้ลูกหนี้ที่อยู่ในระบบภาษีจะเลี่ยงชำระหนี้ของ กยศ.ที่ค้างอยู่แล้วไม่ยอมจ่ายอีกต่อไปเป็นไปได้ยากมาก
          ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุน กยศ. ออกมาระบุว่า ในวันที่ 5 ก.ค. 2561 มีผู้กู้ยืมเงิน กยศ.จะครบกำหนดชำระหนี้ 3.5 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ 4 แสนล้านบาท ซึ่งการชำระหนี้ของ กยศ.จะกำหนดให้ชำระปีละครั้งเท่านั้น ซึ่งหากมาชำระก็ไม่มีปัญหา และเป็นผลดีกับเด็กๆ รุ่นใหม่ที่ต้องการเงินกู้ โดยที่ไม่ต้องเป็นภาระงบประมาณของประเทศ เนื่องจากการชำระเงินกู้เพิ่มมากขึ้นเพียงพอกับการปล่อยกู้ใหม่ ทำให้รัฐบาลสามารถนำเงินไปพัฒนาประเทศในด้านอื่นได้
          อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ กยศ.เตรียมฟ้องร้องดำเนินคดีลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระ 1.2 แสนราย มูลหนี้ 1.2 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยรายละ 1 แสนบาท ซึ่ง กยศ.จำเป็นต้องดำเนินการ เพราะไม่เช่นนั้นจะเป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ผิดกฎหมายสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาตรา 157
          ทั้งนี้ การฟ้องเด็กดังกล่าวจึงไม่อยากมองว่า กยศ.ทำการโหดร้ายและไม่อยากให้ลูกหนี้ที่ถูกฟ้องตกใจ โดยขอให้ไปที่ศาลพร้อมกับผู้รับประกันไปศาลเพื่อเจรจาประนอมหนี้ โดย กยศ.จะยืดเวลาชำระหนี้ที่ค้างอยู่ให้นานสูงสุดถึง 9 ปี หรือเท่ากับผ่อนชำระปีละประมาณ 1 หมื่นบาทเท่านั้น
          หากดูการดำเนินงานภาพรวมของ กยศ.ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ปล่อยกู้ให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาแล้ว 5.4 ล้านราย คิดเป็นวงเงิน 5.7 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้มีการชำระและปิดบัญชีไปแล้ว 8 แสนราย มีสถานะตายหรือ
          พิการ 5 หมื่นราย ทำให้ยังเหลือผู้กู้ในระบบทั้งสิ้น 4 ล้านบาท ในส่วนนี้เป็นลูกหนี้สถานะปกติประมาณ 1 ล้านราย และมีสถานะผิดนัดชำระกว่า 2 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ 6.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องยอมรับว่ามีลูกหนี้ที่เบี้ยวหนี้จำนวนมาก ทำให้ กยศ.ต้องยอมเป็นตัวร้ายทั้งที่ไม่อยากเป็นในการไล่ ทวงหนี้เด็กนักเรียน
          สำหรับในปี 2561 กยศ.ตั้ง เป้าหมายปล่อยกู้ให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา 7 แสนราย เป็นเงิน 3 หมื่นล้านบาท หากมีการชำระหนี้ให้กับ กยศ.มากๆ ก็จะทำให้กองทุนนำไปปล่อยกู้เพิ่มได้ต่อ ซึ่งการทวงหนี้ก็เป็นมาตรการหนึ่งที่เลี่ยงไม่ได้ เพื่อสร้างโอกาสให้กับเด็กที่ต้องการกู้ใหม่
          นอกจากนี้ ในเดือน ก.ค. 2561 กยศ.จะเริ่มดำเนินแนวทางการหักเงินเดือนข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างชั่วคราวที่เป็นลูกหนี้ กยศ. นำร่องกับข้าราชการกรมบัญชีกลางก่อน หลังจากนั้นจะดำเนินการหักเงินเดือนกับข้าราชการกระทรวงการคลัง และส่วนราชการทั้งหมด โดยปัจจุบันมีข้าราชการที่เป็นลูกหนี้ กยศ.ทั้งสิ้น 1.7 แสนราย มูลหนี้ 1.6 หมื่นล้านบาท โดยมีสถานะชำระปกติ 9 หมื่นกว่าราย และผิดนัดชำระอีก 7 หมื่นกว่าราย
          หลังจากนั้นปลายปีนี้ กยศ.จะเริ่มจับมือกับบริษัทขนาดใหญ่อันดับต้นของเมืองไทย เช่น กลุ่มบริษัท ซีพี เพื่อให้หักเงินลูกจ้างที่เป็นหนี้ กยศ. ถือเป็น ไม้แข็งที่เลี่ยงไม่ได้ ซึ่ง กยศ.ต้องทำการประชาสัมพันธ์อย่างหนักในการดำเนินการ เพื่อไม่ให้เป็นการรังแกเด็กที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว แต่ต้องให้ลูกหนี้เข้าใจและเต็มใจชำระหนี้เพื่อให้โอกาสรุ่นน้องและลดภาระเงินภาษีของประเทศ

          ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์