จังหวัดปัตตานี – พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการห้องเรียนดนตรี ของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดปัตตานี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 15 ซึ่งเป็น 1 ใน 3 โรงเรียนของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เปิดหลักสูตรห้องเรียนดนตรี ระดับชั้น ม.1 และ ม.4 เป็นปีแรกของโครงการ

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า จากการที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดแถลงข่าวเปิดโครงการ “ห้องเรียนดนตรี” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา ณ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อต้องการให้โครงการห้องเรียนดนตรี มีส่วนช่วยเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษา และมุ่งหวังที่จะใช้การศึกษาเป็นสื่อในการสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกเหนือจากโครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นการนำ “กีฬา” เข้าสู่ระบบการศึกษา การจุดประกายความฝันของเด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ชอบเล่นกีฬานั้น
สพฐ.ได้จัดทำหลักสูตรและคัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการเป็นปีแรก ซึ่งเริ่มต้นรับสมัครคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนแล้วตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดปัดตานี โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา และโรงเรียนสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส
จากการตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าห้องเรียนดนตรีของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดปัตตานี พบว่าได้เปิดรับสมัครนักเรียนเข้าเรียนในหลักสูตร มัธยมศึกษาตอนต้น (แผนการเรียนวิทย์-ดนตรี) และ มัธยมศึกษาตอนปลาย (แผนการเรียนศิลป์-ดนตรี) โดยเน้นปรัชญาในการศึกษา คือ “ดนตรีศึกษา พัฒนาคุณภาพชีวิต” ใช้เกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียน 4 ด้าน คือ 1) ผ่านเกณฑ์การทดสอบความถนัดและความสามารถด้านดนตรีและตรวจสอบบุคลิกภาพ 2) ผ่านเกณฑ์การสอบวัดความรู้พื้นฐานตามระดับชั้นและความถนัดทางการเรียน 3) ผ่านเกณฑ์การสัมภาษณ์และตรวจสุขภาพร่างกาย 4) ผู้ที่มีผลงานด้านดนตรีในระดับโรงเรียนเดิมมาก่อน จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ

ในส่วนของจำนวนนักเรียนทั้ง 3 แห่ง คือ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.ปัตตานี ได้สอบคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนห้องเรียนดนตรี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 37 คน (แยกเป็นนักเรียนชาย 25 คน หญิง 12 คน) และมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 13 คน (แยกเป็นนักเรียนชาย 12 คน หญิง 1 คน) ส่วนที่โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จ.ยะลา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 รับได้ 41 คน มัธยมศึกษาปีที่ 4 รับได้ 20 คน และโรงเรียนสุไหงโกลก จ.นราธิวาส ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 รับได้ 19 คน มัธยมศึกษาปีที่ 4 รับได้ 15 คน รวม 3 โรงเรียนจำนวนทั้งสิ้น 145 คน
ส่วนปีการศึกษา 2561 ตั้งเป้าให้โรงเรียนทั้ง 3 แห่ง รับสมัครนักเรียนเข้าเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 ห้องเรียนละ 30 คน รวม 60 คน โดย สพฐ.จะจัดสรรงบประมาณสนับสนุนในการก่อสร้างปรับปรุงอาคารห้องฝึกซ้อม ครุภัณฑ์ อุปกรณ์/สื่อการเรียนการสอน อุปกรณ์เสริมในวงดนตรี โดยเน้นเครื่องดนตรีมาร์ชชิ่งแบรนด์ 36 ชิ้น ชุดแต่งกายวงโยธวาทิต รถบัสปรับอากาศขนาดใหญ่ รวมทั้งครูผู้ฝึกสอนดนตรี ให้พอเพียงกับจำนวนนักเรียนที่จะเปิดรับตามแผนการเรียนปีละ 60 คน หรือจะเพิ่มเป็น 180 คนในปีการศึกษา 2562 เท่ากับว่าภายใน 3 ปีจะเปิดห้องเรียนดนตรีได้ครบทุกระดับชั้นทั้ง 3 โรงเรียน
พล.อ.สุรเชษฐ์ ขอให้โรงเรียนวางแผนการสร้างเครือข่ายร่วมพัฒนากับมหาวิทยาลัยทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่เปิดสอนสาขาดนตรี เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อสร้างความเป็นเลิศด้านดนตรีสากล และร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (วิทยาลัยนาฏศิลป์พัทลุง และวิทยาลัยนาฏศิลป์นครศรีธรรมราช) ในการส่งเสริมด้านดนตรีไทยและศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ โดยให้บรรจุไว้ในแผนปฏิบัติการของโครงการห้องเรียนดนตรี
ทั้งนี้ เพื่อให้โรงเรียนสามารถจัดการศึกษาได้ตามวิสัยทัศน์ คือ “จัดการศึกษาส่งเสริมความเป็นเลิศด้านดนตรีให้ได้คุณภาพมาตรฐานสากล ควบคู่ความพร้อมทางวิชาการ เพื่อมุ่งสู่ระดับอุดมศึกษา เน้นคุณธรรมจริยธรรมบนพื้นฐานความเป็นไทย ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

|
ด.ช.พุทธิพงษ์ เจริญสุข นักเรียนห้องเรียนดนตรี ชั้น ม.1 กล่าวกับทีมข่าว “สำนักงานรัฐมนตรี” ว่า ดีใจที่ผ่านการคัดเลือกได้เข้าเรียนในโรงเรียนแห่งนี้ ตั้งแต่เปิดเทอมมาก็สนุกกับการเรียนมาก เพราะได้เรียนในสิ่งที่ชอบ ส่วนเครื่องดนตรีที่เคยเล่นมาก่อนเข้าเรียนในโรงเรียนแห่งนี้ เคยตีกลองของโรงเรียนเดิมมาก่อน แต่ตอนนี้อยากเล่นเครื่องเป่ามากกว่า โดยเฉพาะทรอมโบน เพราะเวลาเป่าเพลง มันจะสนุกและไพเราะมากกว่า และวางเป้าหมายว่าเรียนจบแล้ว อยากจะเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในสาขาทางด้านดนตรี และหาเงินได้ด้วยการเล่นดนตรี
นายสุทธศักดิ์ สุวรรณะ นักเรียนห้องเรียนดนตรี ชั้น ม.4 กล่าวว่า บ้านอยู่หลังศาลเจ้าแม่ในตัวเมืองปัตตานี จึงดีใจมากที่โรงเรียนนี้เปิดสอนห้องเรียนดนตรี เพราะตัวเองเริ่มสนใจเล่นดนตรีครั้งแรกเมื่อตอนเรียน ม.1 เทอม 2 ในประเภทเครื่องเป่า แต่ตอนนี้ชอบเล่นกลองชุดมากกว่า จากช่วงเปิดเทอมที่ผ่านมา ก็ได้รับความรู้ ได้เรียนรู้ และได้รับการพัฒนาด้านเครื่องดนตรีต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งคงจะได้เรียนรู้และเก่งดนตรีมากยิ่งขึ้น
|
|
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ศธ.แถลงข่าวเปิดห้องเรียนดนตรีเริ่มปีการศึกษา 2560 ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 145 คน
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน/ถ่ายภาพ/กราฟิก
28/6/2560