ส่งเสริมการสอนภาษาจีน

https://www.moe.go.th/websm/2013/dec/439.html


โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ (ภาษาจีน) จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยมี ดร.อ่องจิต เมธยะประภาส รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า พระธรรมภาวนาวิกรม ประธานมูลนิธิร่มฉัตร พร้อมด้วยคณะกรรมการส่งเสริมการเรียนการสอนต่างประเทศ (ภาษาจีน) ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ ตัวแทนศูนย์เครือข่ายพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีน ครูผู้สอน ผู้มีประสบการณ์ในการจัดการเรียนการสอนภาษาจีน และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมกว่า 60 คน เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2556 ที่ห้องพัชราวดี 1 ชั้น 11



รมว.ศธ.กล่าวว่า การประชุมหารือเกี่ยวกับเรื่องการเรียนการสอนภาษาจีน ได้มีการหารืออย่างต่อเนื่องมา จนทำให้เกิดเป็นข้อสรุปแผนพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ ซึ่งจะนำไปสู่การประกาศแผนและแนวปฏิบัติในการสอนภาษาจีนต่อไป


ทั้งนี้ ภาษาจีนมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นภาษาที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งมีผู้ที่มีเชื้อสายจีนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งมีผู้สนใจที่จะต้องใช้ภาษาจีนในการติดต่อคบค้าสมาคมกับชาวจีน นักธุรกิจจีน และนักธุรกิจในประเทศต่างๆ ที่ใช้ภาษาจีน


จากการที่รัฐบาลได้ประกาศส่งเสริมให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนภาษาจีนเมื่อ 8-9 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีผู้ที่สนใจเรียนภาษาจีนเป็นจำนวนมากถึง 7 แสนกว่าคน ทำให้ภาษาจีนเป็นภาษาที่มีผู้เรียนเป็นอันดับที่ 2 รองจากภาษาอังกฤษ


เมื่อมีผู้ให้ความสนใจเรียนภาษาจีนเป็นจำนวนมาก เรื่องที่ควรให้ความสนใจคือ ผลของการเรียนการสอน และการจัดการเรียนการสอนให้คุณภาพ ในทางนโยบายหรือแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์จึงจะต้องมาคิดว่า เราต้องการอะไรในการสอนภาษาจีน ต้องการให้มีผู้เรียนมีความรู้ทางภาษาจีนในระดับไหน อย่างไร เราคงไม่ต้องการแค่การสร้างสถิติว่ามีผู้เรียนภาษาจีนมาก แต่ต้องการให้มีการเรียนการสอนเพื่อที่จะผลิตผู้เรียนที่มีความรู้ภาษาจีนให้เพิ่มมากขึ้นได้อย่างไร ภาษาจีนมีการสอนอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก กระบวนการสอนภาษาจีนหรือภาษาต่างประเทศอื่นๆ มีลักษณะคล้ายกัน คือในการสอนภาษา ควรจะสอนให้มีทั้งทักษะด้านการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน ซึ่งการสอนที่ดีมักจะเรียงลำดับดังนี้ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาจีนในการสื่อสาร และการหาความรู้ในขั้นที่สูงขึ้นได้


ในการสอนพูด จำเป็นจะต้องมีวิชาสนทนา และจะต้องมีจำนวนนักเรียนที่เหมาะสม หากจะมีการเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้มีวิชาสนทนา จะต้องจัดการให้วิชาภาษาจีนเป็นวิชาเลือก ซึ่งปัจจุบันในสถานศึกษาหลายแห่ง มีการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนในลักษณะบังคับหรือกึ่งบังคับ คือ สอนทั้งห้องหรือทั้งชั้น ผู้ที่ไม่สมัครใจเรียนก็ต้องเรียน เมื่อไม่สมัครใจเรียนและเรียนในห้องเรียนที่มีนักเรียนจำนวนมากโดยที่มีครูไม่เพียงพอ ผู้ที่เรียนได้ผลจึงมีจำนวนน้อยมาก การจัดห้องเรียนจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลง


อย่างไรก็ตาม การเรียนภาษาจีนเพียงสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง เป็นการเรียนที่สูญเปล่า เพราะจากการหารือที่ผ่านมา ทำให้เชื่อได้ว่าเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในการเรียนการสอนภาษาจีนของประเทศไทย จะมีผลดีอยู่มาก หลายท่านอาจจะตกใจหากจำนวนผู้เรียนภาษาจีนลดลง แต่จำนวนผู้ที่เรียนแล้ว รู้ภาษาจีนจริงจัง และสามารถใช้ประโยชน์ได้จะเพิ่มมากขึ้น การลดจำนวนผู้เรียนคือ ผู้ที่ไม่สมัครใจเรียนไม่ต้องเรียน ผู้ที่ไม่สมัครใจเรียนและต้องการเรียนวิชาอื่น สถานศึกษาจะต้องจัดให้เรียนวิชาอื่นได้ เราก็จะมีการเรียนการสอนภาษาจีนที่ได้ผลสัมฤทธิ์มากขึ้นอย่างชัดเจน


การเสวนาครั้งนี้ คาดว่าจะมีการนำเสนอเรื่องต่างๆ ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตร การปรับปรุงตำราแบบเรียนที่จะช่วยให้สอนได้ผลดี และการพัฒนาครูเพื่อให้สอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหวังว่าการเสวนาในวันนี้จะนำไปสู่ข้อสรุปที่ชัดเจน และสามารถนำไปปฏิบัติได้








แผนพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีน


มาตรการที่ 1 การจัดการเรียนการสอนภาษาจีน


– กำหนดเป้าหมายการจัดการเรียนการสอนภาษาจีน โดยให้เริ่มเปิดสอนได้ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 กรณีโรงเรียนที่มีความพร้อม สามารถเปิดในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ได้ โดยเป้าหมายระดับประถมศึกษา คือ มุ่งให้นักเรียนสนใจผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เน้นการสื่อสารทักษะการฟังและพูด และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เน้นการสื่อสารทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน และนำความรู้ไปศึกษาต่อหรือประกอบอาชีพ
– ปรับจำนวนคาบเรียนและจำนวนนักเรียน โดยระดับชั้น ป.4-6 จัดให้เรียนเป็นวิชาเพิ่มเติม ไม่ต่ำกว่า 2 คาบ/สัปดาห์ โดยกำหนดผู้เรียนไม่เกิน 20 คน/ห้อง ส่วนระดับชั้น ม.1-3 จัดให้เรียนเป็นวิชาเพิ่มเติม ไม่ต่ำกว่า 4 คาบ/สัปดาห์ โดยกำหนดจำนวนผู้เรียนไม่เกิน 25 คน/ห้อง และระดับชั้น ม.4-6 กรณีจัดให้เรียนเป็นแผนภาษาจีนไม่ต่ำกว่า 6 คาบ/สัปดาห์ ส่วนวิชาเพิ่มเติม ไม่ต่ำกว่า 4 คาบ/สัปดาห์ โดยกำหนดจำนวนผู้เรียนไม่เกิน 30 คน/ห้อง


– จัดกิจกรรมค่ายภาษาแบบเข้มข้นสำหรับนักเรียน ระยะ 3-4 สัปดาห์ โดยโรงเรียนศูนย์เครือข่ายฯ


มาตรการที่ 2 การพัฒนาหลักสูตรภาษาจีน


– พัฒนาหลักสูตรให้มีความต่อเนื่องโดยความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น มหาวิทยาลัย สถาบันขงจื่อ HANBAN
– จัดทำคู่มือการใช้หลักสูตรและแนวทางการทำแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้

– จัดทำหลักสูตรเฉพาะสำหรับส่งเสริมกลุ่มนักเรียนที่มีศักยภาพด้านภาษาจีนให้ได้รับโอกาสในการพัฒนาทักษะภาษาจีนมากยิ่งขึ้น
(Chinese Program)


มาตรการที่ 3 การพัฒนาสื่อการเรียนการสอนภาษาจีน


– ปรับปรุงสื่อการเรียนการสอนที่มีใช้อยู่ในโรงเรียนปัจจุบันให้สอดคล้องกับแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่ปรับใหม่ พร้อมจัดทำคู่มือครู
– รวบรวมรายชื่อสื่อที่มีคุณภาพเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์

– พัฒนาและจัดทำสื่อการสอนหลักและสื่อการสอนสนับสนุนที่มีคุณภาพ เนื้อหาสาระสอดคล้องกับหลักสูตร เป้าหมาย แนวทางการจัดการเรียนการสอน และบริบทของผู้เรียน ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน การศึกษาต่อ การประกอบอาชีพ และการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง


มาตรการที่ 4 การวัดและประเมินผล


ประเมินความสามารถการใช้ภาษาจีนของผู้เรียน โดยใช้เครื่องมือประเมินที่ได้รับมาตรฐานระดับสากล เช่น HSK, YCT
ประเมินความสามารถการใช้ภาษาจีนของผู้เรียน โดยใช้ข้อสอบกลางที่พัฒนาโดย สพฐ. ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
พัฒนาคลังข้อสอบวัดและประเมินผลการเรียนรู้ภาษาจีน โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น HANBAN สำนักทดสอบทางการศึกษา


มาตรการที่ 5 การพัฒนาครูสอนภาษาจีน


สำรวจข้อมูลพื้นฐานและจัดทำฐานข้อมูลของครูผู้สอนฯ เพื่อวางแผนเกี่ยวกับอัตรากำลังและการพัฒนาครู
กำหนดมาตรฐานความรู้ความสามารถทางภาษาของครูสอนภาษาจีนโดยเทียบเคียงกับมาตรฐานเจ้าของภาษา
สอบวัดระดับความรู้ความสามารถ และทักษะด้านภาษาจีนของครูสอนภาษาจีน เพื่อเป็นฐานการพัฒนาขั้นต่อไป
อบรม/สัมมนา เพื่อพัฒนา ความรู้/ทักษะภาษาจีน วิธีสอนแบบต่างๆ และการวัดและประเมินผล เพื่อการพัฒนาการเรียนการสอนแบบสื่อสาร และการใช้สื่อ ICT ในการสอนที่เน้นการสื่อสาร
ติดตามประเมินผลครูผู้สอนที่เข้ารับการอบรม
สนับสนุนให้ครูสอนภาษาจีนที่มีคุณภาพไปอบรมเพื่อเสริมประสบการณ์ ณ ประเทศจีน
จัดประชุม/สัมมนา/เสวนา/สาธิตการสอนที่ได้ผลดี (Best Practice) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนสำหรับครูผู้สอน
จัดกิจกรรมค่ายภาษาแบบเข้มข้นสำหรับครู ระยะ 3-4 สัปดาห์ โดยโรงเรียนศูนย์เครือข่ายฯ


มาตรการที่ 6 การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีน


ตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน ควบคุมคุณภาทั้งระดับ สพฐ. และเขตพื้นที่การศึกษา
สำรวจความต้องการเรียนภาษาจีนของผู้เรียน
สำรวจความต้องการการใช้ภาษาจีนในการประกอบอาชีพของหน่วยงาน/สถานประกอบการ
จัดการเรียนการสอนภาษาจีนตามความพร้อมและบริบทของสถานศึกษา โดยกำหนดให้ผู้เรียนเลือกเรียนตามความต้องการและความสนใจ โดยมิได้เป็นการบังคับ และจัดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศอื่นหรือวิชาเลือกอื่นๆ รองรับ กรณีผู้เรียนไม่เลือกเรียนภาษาจีน
จัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนภาษาจีนให้เป็นปัจจุบัน เพื่อการกำกับดูและให้ข้อมูลในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
จัดทำแผนการกำกับ ติดตาม/คู่มือให้ชัดเจน


กุณฑิกา พัชรชานนท์
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน

26/12/2556
เผยแพร่ 28/12/2556