“ศิลปะ” จากหลักสูตรสู่สถานศึกษา

“ศิลปะ” จากหลักสูตรสู่สถานศึกษา


      ในโครงสร้างของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 สาระการเรียนรู้ศิลปะเป็นสาระที่ถูกกำหนดให้เป็นสาระการเรียนรู้พื้นฐานที่ผู้เรียนทุกคนต้องเรียนตั้งแต่ ช่วงชั้นที่ 1 – ช่วงชั้นที่ 4 เพื่อเสริมสร้างความเป็นมนุษย์และมีศักยภาพพื้นฐานในการคิดและการทำงาน


 จุดประสงค์ของการเรียนการสอนศิลปะ


      ศิลปะมีจุดประสงค์เฉพาะให้ผู้เรียนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สามารถแสดงออกตามความถนัดและความสามารถอย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน ให้เด็กได้มีโอกาสสร้างสรรค์ทั้งโดยตนเองและร่วมกับผู้อื่นปลูกฝังให้เด็กมีจิตสำนึกในคุณค่าและประโยชน์ของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งนำศิลปะมาประยุกต์ให้เกิดคุณค่าและสร้างเสริมรสนิยมที่ถูกต้อง


 แนวคิดของการเรียนการสอนศิลปะ


     ศิลปะ เป็นของคนทั่วไป ไม่เลือกเพศ วัย ชั้นวรรณะคนทุกคนมีสิทธิสร้างสรรค์ศิลปะขึ้นได้ในทำนองเดียวกันศิลปะก็เป็นสมบัติของเด็กทุกคนไม่ว่าเด็กโง่ ฉลาด หรือทุพพลภาพ ย่อมมีความสามารถที่จะแสดงออกทางการสร้างสรรค์ หากเราเปิดโอกาสให้เขาแสดงความคิดความชื่นชมอย่างอิสระ ศิลปะส่งเสริมให้เด็กทุกคนเจริญงอกงามตามกำลังความสามารถของแต่ละคน ศิลปะจึงไม่ใช่เป็นของผู้ที่มีพรสวรรค์ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยเท่านั้น นักการศึกษาและนักจิตวิทยารุ่นใหม่ เชื่อว่าเด็กทุกคนสามารถเรียนศิลปะได้ สุภาษิตที่ว่า “สะอาดกายเจริญวัย สะอาดใจเจริญสุข” คำกล่าวของท่านพุทธทาสภิกขุว่า “ดนตรีและศิลปะบริสุทธิ์มีคุณสนับสนุนความมีจิตว่าง” เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีซีไรท์ ศิลปินแห่งชาติได้แนวคิดทางธรรมจากท่านพุทธทาสภิกขุแล้วนำมาสร้างเป็นแนวคิดทางศิลปะของตนว่า “การทำงานคือการปฏิบัติธรรม การทำงานศิลปะคือการทำสมาธิ” และสังคม ทองมี ครูสอนศิลปะโรงเรียนศรีสงครามวิทยา ผอ.ศูนย์ศิลป์สิรินธร อ.วังสะพุง จ.เลย กล่าวว่า “มนุษย์ประกอบขึ้นได้ต้องมีทั้งร่างกายและจิตใจและศิลปะชัดเจนมากในเรื่องของการพัฒนาจิตใจ ศิลปะกับชีวิตของมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นคำกล่าวที่แสดงให้เห็นว่าศิลปะสามารถขัดเกลาจิตใจ ขัดเกลากิเลศในคนให้สะอาดขึ้นได้ การจะสร้างสรรค์งานศิลปะแขนกใดก็ตามต้องอาศัยความมีสมาธิ ผู้ใฝ่ในความสวยงามของศิลปะใฝ่ในความไพเราะของเสียงดนตรี ใฝ่ในลีลาการเคลื่อนไหวที่งดงาม ย่อมเป็นผู้ใฝ่สมาธิและรักสงบ


      ครูสอนต้องคำนึงเสมอว่า จุดมุ่งหมายของการสอนศิลปะคืออะไร สอนศิลปะเพื่อผลิตศิลปินหรือสอนศิลปะเพื่อพัฒนาบุคลิกภาพของเด็ก และควรตระหนักอย่างยิ่งว่า ศิลปะ ไม่ใช่รายวิชาที่เป็นพิเศษ เฉพาะสำหรับการฝึกทักษะ หากมีความสำคัญเช่นเดียวกันกับรายวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษาฯ คุณค่าของการเรียนศิลปะไม่ได้อยู่ที่ผลงานที่ดีเด่น สวยๆ งามๆ เพียงอย่างเดียวประโยชน์ที่แท้จริง ย่อมอยู่ที่การจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในตัวเด็ก


 หลักสูตรต้องการอะไร


     ศิลปะตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2544 ได้กำหนดแนวทางในการสอนที่พึงให้เกิดแก่ผู้เรียน ดังนี้


ประการแรก ให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์โดยไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปิน เพราะความคิดสร้างสรรค์มีความจำเป็นต่อคนทุกคนทุกอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ วิศวกรหรือแม่ค้าแม่ขาย ความสำเร็จทั้งปวงย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้างสรรค์ มีความคิดวิเคราะห์ เป็นวิถีทางพิเศษของการเรียน การคิดและการับรู้


ประการที่สอง ให้สนใจและแสดงออกตามความถนัด และความสามารถของตน เมื่อเด็กทำกิจกรรมด้วยความตั้งใจจนสำเร็จตามความสามารถของตน จะก่อให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง


ประการที่สาม ให้เห็นคุณค่าและประโยชน์ของศิลปะ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมการธำรงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ เป็นสิ่งจำเป็นต้องส่งเสริมและปลูกผังแต่เยาว์วัย


ประการที่สี่ ให้มีความสนุกสนานเพลิดเพลินและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ซึ่งจะมีผลดีต่อเด็กในด้านการพัฒนาทางอารมณ์ สังคม และประสบกับความสำเร็จในการทำงานจนเป็นกิจนิสัย


ประการสุดท้าย ให้รู้จักนำศิลปะมาประยุกต์ใช้ให้เกิดคุณค่าและรสนิยมที่ดี การประยุกต์ใช้ในทางศิลปะนั้น คือการออกแบบ ใช้ความคิดในการแก้ปัญหาได้คิดประดิษฐ์สิ่งแปลกใหม่


ปรับการเรียน เปลี่ยนการสอนศิลปะ


     การเรียนการสอนศิลปะตามแนวความคิดเดิมเมื่อกกว่า 20 ปีมาแล้ว ได้ถูกปรับเปลี่ยน โดยมีความแตกต่างกันแทบทุกด้าน เกิดบรรยากาศของการเรียนรู้ศิลปะตามแนวความคิดใหม่ ระหว่างผู้เรียนและผู้สอน เป็นการปฏิรูปการเรียนการสอนศิลปะแต่เดิมทั้งด้านความหมาย วัตถุประสงค์ วิธีการ และคุณค่าของศิลปะของเด็ก ซึ่งพอจะกล่าวให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ ดังนี้


ด้านความหมาย


      มีความเชื่อว่า ศิลปะเป็นส่วนสำคัญของการศึกษาช่วยให้เด็กได้มีประสบการณ์และมีพัฒนาการทุกด้าน ทั้งกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญาไม่ใช่เพียงเพื่อการฝึกทักษะฝีมือ


ศิลปะที่แท้ คือ การให้เด็กได้แสดงออกอย่างเสรีจากประสบการณ์ของตนเองเพื่อให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ตามความสามารถของแต่ละบุคคล ไม่ใช่เป็นเพียงเพ่งเล็งในด้านความถูกต้องความสวยงาม


ศิลปะเป็นประสบการณ์รวมของเด็กทุกคนไม่ว่าจะโง่หรือฉลาด แข็งแรงหรือพิการเป็นการกระตุ้นศักยภาพในตัวเด็กให้ปรากฏทางการแสดงออก ศิลปะไม่ใช่เป็นของเด็กเพียงกลุ่มเดียวที่เรียกว่า พรสวรรค์


ด้านหลักสูตร


     ศิลปะ เป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น และสามารถบูรณาการได้กับกลุ่มสาระอื่น ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่มีผลสัมฤทธิ์สูง ไม่ใช่แยกเป็นรายวิชาโดดๆ มีขอบข่ายกิจกรรมกว้างขวาง มีเทคนิควิธีการหลากหลายที่จะให้เด็กได้แสดงออกและสร้างสรรค์ตามความสามารถและความสนใจ


ด้านความมุ่งหมาย


     เพื่อส่งเสริมความเจริญงอกงามและพัฒนาการของเด็กในทุกด้าน ไม่ใช่เพียงเพื่อฝึกทักษะกับอวัยวะบางส่วน เช่น มือ ปาก ตา

     เพื่อให้เด็กได้มีประสบการณ์จากการทำงานทางศิลปะ เน้นที่เรียนด้วยการกระทำกับวิธีการแสดงออก เป็นกระบวนการของการปฏิบัติจริงไม่ใช่เพียงเพื่อตรวจสอบที่ผลงานอันถูกต้องและสวยงาม


ด้านวิธีสอน


     ถือว่าศิลปะเป็นสิ่งที่ช่วยผ่อนคลายอารมณ์ เป็นการแสดงออกของความสนใจ ทักษะเป็นสิ่งสำคัญรองลงมา พยายามทำให้ศิลปะเป็นประสบการณ์ที่มีความหมายสำหรับเด็กและส่งเสริมให้เด็กทุกคนได้ทำงานทางศิลปะ ทั้งด้วยตนเองและงานกลุ่มไม่ใช่มีแต่สร้างงานตามลำพัง และเป็นงานศิลปะที่ทำตามคำสั่งของครู สอนให้เด็กแสดงออก และสร้างสรรค์ด้วยตนเองให้มีความคิดริเริ่ม มีจินตนาการ มีการออกแบบ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของงานทางศิลปะ ไม่ใช่เด็กลอกแบบตามความต้องการของครูสอนโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล เด็กแต่ละคนควรได้ปฏิบัติงานต่างกันตามที่เขาต้องการ ไม่ควรให้เด็กทำงานอย่างเดียวกันด้วยเทคนิควิธีการเหมือนๆ กันหมดทุกคน  ให้เด็กทุกคนมีโอกาสแสดงออกสร้างสรรค์และชื่นชมงานศิลปะทัดเทียมกันตามระดับความสามารถของแต่ละบุคคล ไม่มุ่งสอนเฉพาะเด็กบางคนที่มีความสามารถเป็นพิเศษทางศิลปะเท่านั้น


ด้านครูผู้สอน

     ครูผู้สอนศิลปะไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้มีความสามารถเป็นพิเศษ แต่จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในความมุ่งหมายและวิธีการที่ถูกต้องของการสอนศิลปะ ครูไม่ใช่ผู้ออกคำสั่ง แต่เป็นผู้เร้าให้เด็กเกิดความสนใจเกิดความต้องการที่จะทำ ครูคอยสังเกต แนะนำ ช่วยเหลือให้เด็กได้แสดงออกและสร้างสรรค์ตามศักยภาพของแต่ละบุคคล ครูผู้สอนต้องตระหนักถึงความสำคัญของพัฒนาการและความเจริญงอกงาม ซึ่งมีต่อการแสดงออกทางศิลปะของเด็ก


ด้านการประเมินผล


      การเรียนการสอนศิลปะจะไม่สมบูรณ์ถ้าหากขาดการประเมินผลความสามารถเชิงศิลปะของเด็ก ครูจะทราบถึงความสนใจ พัฒนาการและการรู้คุณค่าทางศิลปะของเด็ก อีกแง่มุมมองหนึ่งหากไม่มีการประเมินผลเสียเลยเด็กจะรู้สึกว่างานของเขาไม่มีความสำคัญ และไม่มีค่าเท่าเทียมกับรายวิชาอื่นๆ เพียงแต่ครูต้องมีความรู้ความเข้าใจแนวการประเมินผลทางกลุ่มสาระศิลปะ ซึ่งแตกต่างจากลุ่มสาระอื่นๆ พอสมควร


6.1 ข้อควรคำนึงในการประเมินผลทางศิลปะ


     การประเมินผลทางศิลปะของเด็กแต่ก่อนมักเป็นการติ และพิจารณาข้อบกพร่องเท่านั้น ครูควรมุ่งสร้างความมั่นใจให้เกิดกับตัวเด็กเพื่อรักษาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของเด็กไว้ ใช้ความเข้าใจเกี่ยวกับวุฒิภาวะของเด็ก ช่วยให้เด็กมีจิตใจเป็นอิสระมากขึ้น


     การประเมินผลการทางศิลปะ ต้องให้ความสำคัญในความแตกต่างกันด้านประสบการณ์การรับรู้ ความสามารถของเด็กแต่ละคน วิธีที่เหมาะสมถูกต้อง คือ การเปรียบเทียบผลงานกับตัวเด็กเอง เช่น



  • เขาทำงานเสร็จเรียบร้อยหรือไม่

  • เขาทำงานมีความสุขไหม

  • เขาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่นหรือไม่

  • เขามีความรับผิดชอบไหม

  • เขาแสดงออกอย่างเป็นตัวของตัวเองหรือไม่ ฯลฯ

     เหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งที่นำเข้าพิจารณาประกอบกับวิธีการประเมินผลอื่นๆ วิธีที่ควรคำนึงในการประเมินผลทางศิลปะ ได้แก่กระบวนการทำงาน และประสบการณ์ที่เด็กได้รับระหว่างทำงานมีความสำคัญมากกว่าผลงานในบั้นปลาย การประเมินผลงานของเด็กต้องถือตามมาตรฐานและระดับของเด็กไม่ใช่ตามหลักเกณฑ์ของผู้ใหญ่ ผลงานบางอย่างที่ผู้ใหญ่มองว่าไม่ดีนัก อาจมีความหมายสำหรับเด็กก็ได้


     ความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องถึงการสร้างสรรค์ศิลปะด้วย ศิลปะมีจุดมุ่งหมายปลายทางที่สำคัญยิ่ง เพื่อส่งเสริมพัฒนาการในด้านต่างๆ ของเด็ก ไม่ได้หวังจะสร้างศิลปินชั้นเยี่ยม


6.2 วิธีประเมินผล


     ควรมีการประเมินผลเป็นระยะๆ ไปหรือทุกครั้งที่ทำงานศิลปะในวิธีประเมินอาจใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลายวิธีรวมกันก็ได้ มีวิธีการดังต่อไปนี้


วิธีสังเกต สังเกตดูว่าเด็กทำงานได้คล่องแคล่วว่องไว มีความกระตือรือร้น ใช้อุปกรณ์เครื่องไม่เครื่องมือถูกต้อง


การตรวจผลงาน ประเมินจากผลงานที่ปฏิบัติจริง


ประเมินความสามารถ ของแนวคิดในการออกแบบสร้างสรรค์ผลงาน


     การทำงานร่วมกัน รู้จักร่วมทำงานและฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เช่น การเขียนภาพผนัง การจัดนิทรรศการ การตกแต่งบริเวณโรงเรียน การเตรียมวงดนตรี การวางแผนการแสดง ฯลฯ

ข้อเสนอแนะบางประการ


     เนื่องจากยังมีครูผู้สอนศิลปะจำนวนมากที่ไม่ได้มีความรู้โดยตรงเกี่ยวกับการเรียนการสอนศิลปะแต่จำเป็นต้องสอนเพราะขาดแคลอนครู โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็กตามชนบทที่ห่างไกล สิ่งที่ควรพิจารณาคือ


1. การช่วยเหลือครู ควรจัดให้มีการอบรมครูเกี่ยวกับศิลปะให้มาก พอเพียงกับความต้องการอบรมควรมีทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ให้ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องคุณค่าของวัสดุในท้องถิ่น และการนำทรัพยากรในท้องถิ่นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด


2. มีการนิเทศ มีศึกษานิเทศก์ หรือผู้นิเทศการศึกษาไปช่วยเหลือชี้แจง และแก้ปัญหาที่ครูมีอยู่ให้มากที่สุด อาจจะทำการสาธิตให้ดู ส่งเสริมและช่วยเหลือให้ครูมีความมั่นใจ


3. เอกสารคู่มือ หาทางสนับสนุนการผลิตเอกสารคู่มือครูหรือคำแนะนำในการเรียนการสอนสำหรับครูให้เพียงพอ


      ข้อเสนอแนะเหล่านี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นยังมีวิธีอื่นๆ อีก ที่ผู้เกี่ยวข้องอาจคิดช่วยเหลือดำเนินการได้หลากหลาย หากร่วมมือร่วมใจกันทุกฝ่าย การเรียนการสอนศิลปะเพื่อผลสัมฤทธิ์ของเด็กคงจะบรรลุถึงจุดหมายที่วางไว้แน่นอน


โดย ธำรงศักดิ์ ธำรงเลิศฤทธิ์






ที่มาข้อมูล : วารสารวิชาการ ปีที่ 10 ฉบับที่ 4 ตุลาคม – ธันวาคม 2550