ศธ. ลงนามความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษาในสถานศึกษา

                    วันที่ ๑๘  สิงหาคม  ๒๕๕๗ กระทรวงศึกษาธิการ โดยนางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษาในสถานศึกษา ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง โดยสมเด็จพระวันรัต แม่กองธรรมสนามหลวง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดย นายกมล  รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดย นายชัยพฤกษ์  เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา โดยรองศาสตราจารย์นายแพทย์กำจร  ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงวัฒนธรรม โดยศาสตราจารย์อภินันท์  โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยนายนพรัตน์  เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อร่วมมือกันในการจัดให้มีการจัดการเรียน การสอน ธรรมศึกษาในสถานศึกษา

                 ปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า ความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ๔ ประการคือ ๑. เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และเข้าใจหลักพุทธธรรมที่ถูกต้อง สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน อันมีผลต่อความเจริญมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ๒. เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้คู่คุณธรรมและเสริมสร้างศีลธรรม เป็นพลเมืองดีและมีคุณภาพ ๓. เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้เรียนห่างไกลอบายมุข สิ่งเสพติด สิ่งผิดกฎหมาย และนำไปสู่ความสงบเรียบร้อยของสังคม ๔. เพื่อให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบในการจัดการเรียนการสอนและการสอบธรรมศึกษา โดยให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษา

                กระทรวงศึกษาจึงได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางในการสร้างพฤติกรรมที่เหมาะสมด้วยคุณธรรม ๔ ประการ ได้แก่ สัจจะคือความซื่อสัตย์ ทมะคือความข่มใจ ขันติคือความอดทน จาคะคือความเสียสละ และค่านิยม ๑๒ ประการ มีความรักชาติ ศาสน์ พระมหากษัตรย์ ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน กตัญญูรู้คุณบิดา มารดา ครูอาจารย์ ใฝ่เรียน ใฝ่รู้ รักษาวัฒนธรรมประเพณีและสิ่งแวดล้อม มีศีลธรรม มีความเป็นประชาธิปไตย มีวินัย เคารพกฎหมาย มีสติ ดำรงตนโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีความเข้มแข็งทั้งกายและใจ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมและของชาติมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว

                การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษาในสถานศึกษาในครั้งนี้จะช่วยให้การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู อาจารย์ มีความตระหนัก เกิดจิตสำนึกที่จะสร้างเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ให้เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ยึดมั่นในศีลธรรมที่ดีงามตามวิถีพุทธ วิถีไทย นำพาประเทศไทยไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองต่อไป

อุษา/ข่าว

กิตติกร/ภาพ

กลุ่มสารนิเทศ สอ.สป.