กระทรวงศึกษาธิการ จัดการประชุมวิชาการและประกาศ “เดินหน้าพลิกโฉมสร้างนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียน ก้าวข้ามสภาวะวิกฤต COVID-19 แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps” ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันอังคารที่ 21 กันยายน 2564 โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนผู้บริหารองค์กรหลัก ครู และบุคลากร เข้าร่วมงาน ณ หอประชุมคุรุสภา
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. กล่าวรายงานตอนหนึ่งว่า กระทรวงศึกษาธิการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ ให้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ ปรับกระบวนการเรียนการสอนในหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-based curriculum) พัฒนาสมรรถนะในยุคใหม่ (Competency-based Learning) ด้วยการพัฒนาครูให้สามารถจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการพัฒนาการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps เน้นวิธีเรียนรู้ ที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง ผ่านขั้นตอนการรวบรวมข้อมูล การจัดข้อมูลให้เกิดความหมายผ่านการคิดวิเคราะห์ ออกแบบสร้างสรรค์ สร้างทางเลือก ตัดสินใจเลือกเป้าหมายแนวทางที่นำไปสู่ความสำเร็จ วางแผนลงมือทำ ตรวจสอบแก้ปัญหา พัฒนาไปสู่ระดับนวัตกรรม ซึ่งการเรียนรู้ในลักษณะนี้สามารถนำมาปรับใช้ได้ทั้งในห้องเรียน นอกห้องเรียน และทางออนไลน์ เพื่อเข้ากับบริบทของผู้เรียนอย่างเหมาะสม ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ต่อยอดในระดับมัธยมศึกษา เชื่อมโยงกับชุมชนท้องถิ่น และการประกอบอาชีพในอนาคต
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือการสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน เพื่อไปสร้างความรู้ระดับหลักการ สร้างนวัตกรรม และเสริมสร้างสมรรถนะแก่นักเรียน เกิดสมรรถนะสำคัญที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 โดยพัฒนาครูแบบ Coaching ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่บรรลุผลสำเร็จอย่างน่าชื่นชม เกิดเป็นโรงเรียนต้นแบบภาคเหนือ จำนวน 10 จังหวัด รวม 30 โรงเรียน แบ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก 10 โรงเรียน โรงเรียนขนาดกลาง 10 โรงเรียน และโรงเรียนขนาดใหญ่ 10 โรงเรียน พบว่า ประสบผลสำเร็จและเกิดผลงานจากการปฏิบัติ เป็นนวัตกรรมทั้งของครูและนักเรียนจำนวนมากกว่า 1,500 นวัตกรรม และมีความคาดหวังว่าจะเกิดนวัตกรรมในปีการศึกษาต่อไปจำนวนกว่า 5,000 นวัตกรรม
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประกาศนโยบายกระทรวงศึกษาธิการครั้งนี้ เป็นการพลิกโฉมเพื่อเปลี่ยนการเรียนการสอนจาก Passive Learning ไปสู่ Active Learning ที่ครูผู้สอนก็สอนด้วยความสนุก ส่วนเด็กได้ความรู้จริง รู้ลึก และรู้นาน เพราะทำเองกับมือ ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญที่ต้องสร้างตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา จนถึงอุดมศึกษา เป็นนิวนอร์มอลด้านการศึกษา ที่กระทรวงศึกษาธิการ และคณะปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ถือเป็นบิ๊กล็อคสำคัญที่จะต้องเร่งผลักดันให้ได้ รวมทั้งกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ยังเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำและให้ความสำคัญ พร้อมให้ขยายการเรียนรู้ในกว้างขวางมากขึ้น โดยสามารถนำมาปรับใช้กับวิชาต่าง ๆ เพื่อปรับการเรียนการสอนอิงมาตรฐาน ไปสู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนเป็นสำคัญ
ในส่วนผลงานนวัตกรรมของครูและนักเรียน จำนวนกว่า 1,500 นวัตกรรม มีความหลากหลาย และสะท้อนให้เห็นว่า นักเรียนสามารถบูรณาการความรู้ ความถนัด ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะ รวมถึงภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของท้องถิ่น มาคิดค้นสร้างนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม จึงเป็นที่น่าชื่นชมว่า นักเรียนของเราจะเป็นทุนมนุษย์ ที่ทำให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกต่อไป
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า หัวใจสำคัญและความท้าทายของ สพฐ. ที่มีมาตลอด คือ การเปลี่ยนแปลงการสอนของครูในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้นักเรียนมีคุณภาพตามที่สังคมคาดหวัง โดย สพฐ. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ใช้รูปแบบการพัฒนา ร่วมกับเครือข่ายผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ในการพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง เน้นการลงมือทำจริงและการโค้ชแก่โรงเรียนต้นแบบ เพื่อเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้เป็น Active Learning ให้นักเรียนมีการพัฒนากระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ร่วมกับพหุปัญญาของตนเองและเพื่อน มาร่วมกันคิดและทำความคิดให้เป็นรูปธรรมเกิดประโยชน์ มีมูลค่าเพิ่ม และสร้างคุณค่าของตนในสังคม
จะเห็นได้ว่าการสร้างผลงานของนักเรียนในวันนี้ มีรูปแบบที่หลากหลายมากกว่า 1,500 นวัตกรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการใช้สมรรถนะสำคัญด้านต่าง ๆ เช่น การคิด การแก้ปัญหา การสร้างสรรค์ การบริหารจัดการ การใช้เทคโนโลยี ฯลฯ หากนักเรียนยิ่งใช้สมรรถนะ ก็ยิ่งเกิดการพัฒนา ยิ่งเชื่อมโยง เรียกได้ว่ามีศักยภาพ พร้อมทั้งมีจิตใจมีคุณธรรมเพื่อความเจริญของสังคมมากขึ้น
นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว,สถาพร ถาวรสุข,ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
ประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
21/9/2564