ระบบการสอน เป็นการนำเอาวิธีระบบ หรือการจัดระบบมาใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งประกอบด้วย ข้อมูลที่ป้อน (Input) กระบวนการ (Process) และมีผลผลิต (Output) เช่น ระบบการสอน จะมีองค์ประกอบย่อยๆ อาทิ เช่น ระบบครูผู้สอน ระบบนักเรียน ระบบสื่อการสอน ระบบการเลือกและใช้สื่อการสอน หรือแหล่งการเรียนรู้ ซึ่งหน่วยย่อย ๆเหล่านี้ สามารถทำงานในหน้าที่ของตนอย่างมีอิสระ แต่หากจะต้องมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงภายในหน่วยย่อยๆ ต่างๆ ก็จะส่งผลกระทบถึงหน่วยย่อยอื่นๆ ด้วย
ระบบการสอนที่มีการออกแบบโดยใช้วิธีระบบ (Systematic approach) มีการทดลองใช้อย่างกว้างขวาง มีการกำหนดขั้นตอนการสอน เช่น มีการกำหนดวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้โดยอาศัยช่องทางต่างๆ หรือ การใช้แหล่งความรู้ โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง อีกทั้งสามารถสนองต่อความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน เช่น วัย เพศ และอัตราการเรียนรู้ ความสามารถทางด้านสติปัญญา ความสนใจ ความถนัด ประสบการณ์เดิม ตลอดจนพื้นฐานทางวัฒนธรรม ซึ่งครูผู้สอนและนักเทคโนโลยีการศึกษาจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการออกแบบพัฒนาระบบการสอน พิจารณาและมีการวางแผนร่วมกันอย่างรอบคอบ โดยบูรณาการ องค์ประกอบต่างๆ ในระบบการสอนให้เหมาะสมกับพัฒนาการ การเรียนรู้ มีการประเมินผลย้อนกลับ เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข ให้ได้มาซึ่งระบบการสอนที่มีประสิทธิภาพดี ในทำนองเดียวกันก็เป็นหลักประกันในด้าน ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการเรียนรู้และนักการศึกษาได้ออกแบบ ระบบการเรียนการสอน ไว้ดังนี้
- กำหนดวัตถุประสงค์
- พิจารณาพื้นฐานผู้เรียน
- วางแผนกิจกรรมการเรียนการสอน
- ประเมินผล
ระบบการสอนของ เบราน์และคณะ (Brown and others, 1986) ถ้าพิจารณาระบบการสอนของเบราน์และคณะ จะเห็นว่าการออกแบบระบบการสอนนี้มุ่งเน้นผู้เรียน โดยให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียน และมีการวิเคราะห์ผู้เรียนเพื่อที่จะสามารถจัดการเรียนการสอนซึ่งตอบสนองความแตกต่างของผู้เรียน ตลอดจนความสนใจของผู้เรียน เบราน์และคณะ ได้ออกแบบการวางแผนการสอนอย่างเป็นระบบนี้ เพื่อให้สามารถที่จะสรุปทบทวนได้อย่างง่าย และรวดเร็ว และเป็นแนวทางในการสอนและสามารถตรวจสอบได้ ประกอบด้วย องค์ประกอบที่สำคัญ 5 ประการ คือ ผู้เรียน เป้าหมาย สภาพการณ์ แหล่งการเรียน และผลลัพธ์ ดังมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
เป้าหมาย (goals)
ในการเรียนการสอนหรือการฝึกอบรมก็ตามจำเป็นต้องมีจุดประสงค์ จุดมุ่งหมาย ซึ่งก็จะมีจุดประสงค์ทั่วไป เช่น สอนทักษะพื้นฐานให้ผู้เรียน และจุดประสงค์เฉพาะเจาะจง เช่น ให้ผู้เรียนเรียนรู้การสะกดคำ การอ่าน และการเขียน ซึ่งจุดประสงค์ต่างๆ เหล่านี้ จะต้องนำไปเขียนเป็นจุดประสงค์การเรียนรู้ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ด้านดังนี้
พุทธิพิสัย (Cognitive Domain) เกี่ยวข้องกับ ด้านความรู้ ความจำ ความเข้าใจ การวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินผล
ด้านจิตพิสัย (Affective Domain) เกี่ยวข้องกับ เจตคติ และความรู้สึกนึกคิด เช่น ความรู้สึกซาบซึ้งต่อดนตรี หรืองานศิลปะ เป็นต้น
ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) เป็นเรื่องเกี่ยวกับทักษะต่างๆ เช่น ทักษะการเล่นฟุตบอล ทักษะการพิมพ์ หรือทักษะการประดิษฐ์ตัวอักษร เป็นต้น
สภาพการณ์ (Conditions)
สภาพการณ์ หมายถึง ประสบการณ์การเรียนรู้ที่จัดให้ผู้เรียนสามรถบรรลุจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ ซึ่งยึดหลักการที่ว่า การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่เกิดจากกระทำด้วยตนเองทั้งทางร่างกายและจิตใจ ดังนั้นหลักการสำคัญในการออกแบบการวางแผนการสอน คือ การคัดเลือกรูปแบบของประสบการณ์ และกิจกรรมที่เอื้อให้ผู้เรียนสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ในการนี้ อาจจัดรูปแบบต่างๆ ให้เหมาะสม และสอดคล้องกับรูปแบบการเรียนของผู้เรียน เช่น อาจจัดให้ผู้เรียนศึกษาเป็น กลุ่มเล็ก กลุ่มใหญ่ หรือรายบุคคล
แหล่งการเรียน (Resources)
แหล่งการเรียนเป็นส่วนประกอบหลักที่สำคัญของการจัดการสอน ซึ่งรวมไปถึงสิ่งแวดล้อมทางกายภาพต่างๆ ที่จะเอื้อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ วัสดุ อุปกรณ์รวมถึงบุคลากร ครูผู้สอน ห้องสมุด ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ ผู้ช่วยสอนและอื่นๆ ซึ่งมีผลโดยตรงหรือทางอ้อมที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ดี
ผลลัพธ์ (Outcomes)
ผลลัพธ์ที่ได้นี้จะแสดงถึงสิ่งต่างๆ เช่น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนจะมีการรวบรวมข้อมูลต่างๆ แล้วนำมาเป็นข้อปรับปรุงการเรียนการสอน
สรุปได้ว่าระบบการสอนของเบราน์และคณะ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นแนวทางที่มีประโยชน์ สำหรับการเรียนการสอน ซึ่งจะนำเอาแหล่งการเรียน สื่อการสอน เครื่องมือ ตลอดจนกระบวนการในการสอนและการเรียนรู้ ซึ่งเน้นความสัมพันธ์ของสื่อการสอนกับสิ่งต่างๆ ดังนี้
- จุดประสงค์และเนื้อหา
- รูปแบบของประสบการณ์การเรียนรู้
- การแบ่งกลุ่มการเรียนการสอน เป็นกลุ่มใหญ่ กลุ่มเล็ก และรายบุคคล
- บทบาทของบุคลากร
- วัสดุและอุปกรณ์
- สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
- การประเมินผลและการปรับปรุงการเรียนการสอน
ถ้าพิจารณาจะเห็นว่าระบบการสอนนี้จะเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งผู้เรียนจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนด้วยตนเอง ซึ่งก่อให้เกิดการเรียนรู้ ที่ดี และการนำแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ มาใช้ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ผู้เรียน ได้เรียนตามความสามารถ และอัตราการเรียนรู้ของตนเอง
ที่มาข้อมูล : http://vdo.kku.ac.th